รัฐบาลหวังสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายร่วมบริจาคให้ กสศ. เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดังนี้
1.1 บุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ
1.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้สำหรับการบริจาคที่กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ให้แก่ กสศ. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่ กสศ. ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
กระทรวงการคลัง เสนอว่า
1. กค. ได้ประมวลผลข้อมูลการรับบริจาคให้แก่ กสศ. ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 682) พ.ศ. 2562 พบว่ามีการบริจาคดังนี้
2. กสศ. ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้เริ่มระดมทุนในปี พ.ศ. 2562
และจากข้อมูลสถิติข้างต้น พบว่าจำนวนผู้บริจาคและจำนวนเงินการรับบริจาคในส่วนของผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยจำนวนผู้บริจาคและจำนวนเงินบริจาคปี 2563 ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2562 เท่ากับ 2,159 ราย (ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา 2,109 ราย และนิติบุคคล 50 ราย) ทั้งนี้ ผู้บริจาคส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา และเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่บริจาคแล้ว ผู้บริจาคที่เป็นนิติบุคคลมีจำนวนเงินบริจาคที่สูงกว่าผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา
3. ในปี พ.ศ. 2562 – 2563 กสศ. ได้นำเงินบริจาคที่ได้รับไปใช้ในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นอนุบาล และนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้น ป.1 – ป.3 ที่มีภาวะทุพโภชนาการ เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้มีการพัฒนาทักษะอาชีพและสมทบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษที่เรียนดีและมีความพิการทางร่างกาย โดยมีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งหมด 44,743 คน
4. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 682) พ.ศ. 2562 ได้สิ้นสุดไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่โดยที่ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่ กสศ. ต่อไป
ดังนั้นเพื่อเป็นการจูงใจให้มีการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. อย่างต่อเนื่อง และ กสศ. จะได้นำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาอันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประชาชน จึงสมควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมให้มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่กองทุนดังกล่าว
5. กสศ. ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 682) พ.ศ. 2562 ต่อไปอีก
6. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้
6.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่ กสศ. มีผลทำให้จัดเก็บภาษีลดลงตลอดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 24 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง
6.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
1) ในด้านการศึกษา การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้นจะส่งเสริมให้เกิดการบริจาคเพื่อการศึกษา โดย กสศ. จะสามารถนำเงินบริจาคไปสนับสนุนโรงเรียนที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนใดจัดสรรงบประมาณหรือเงินทุนให้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2) ในด้านเศรษฐกิจ การได้รับเงินบริจาคจาก กสศ. จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศให้มีคุณภาพ ส่งผลในการสร้างรายได้ให้ประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
3) ในด้านสังคม จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางสังคมในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา และขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน