ระบบ iSEE เครื่องมือชี้เป้าความช่วยเหลือเด็ก ‘เพิ่มโอกาสการศึกษา ให้น้องได้เรียน’ ปี 65

ระบบ iSEE เครื่องมือชี้เป้าความช่วยเหลือเด็ก ‘เพิ่มโอกาสการศึกษา ให้น้องได้เรียน’ ปี 65

“เราเชื่อเรื่องการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ว่าคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะพัฒนาประเทศของเราในระยะยาว งานพัฒนาสังคมที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เน้นเป็นอันดับหนึ่ง จึงเป็นเรื่อง ‘การศึกษา’

“เพราะถ้าเด็กเยาวชนไทยมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เขาจะมีรากฐานที่ดีในการประกอบอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงในอนาคตตามมา ซึ่งผลลัพธ์ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตตนเอง คนในครอบครัว รวมไปถึงสังคมของเขาด้วย”

เอกอธิ รัตนอารี รองประธาน มูลนิธิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าวถึงปณิธานการทำงานของ มูลนิธิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เนื่องในพิธีมอบทุนการศึกษานักเรียนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และปทุมธานี จำนวน 100 ทุน ภายใต้โครงการ ‘มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ให้น้องได้เรียน’ ปี 2565

เอกอธิ รัตนอารี รองประธาน มูลนิธิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย

ปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ที่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พิจารณาให้ทุนนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสที่น้อง ๆ กลุ่มนี้จะหลุดไปจากระบบการศึกษากลางคัน

‘ปักหมุดจากฐานที่ตั้ง’ ระบุพิกัดกลุ่มเป้าหมายรับทุนด้วยระบบ iSEE

จากงานที่เริ่มในปี 2563 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ตั้งใจสนับสนุนงานลดความเหลื่อมล้ำของ กสศ. ในทุก ๆ ปี ด้วยเห็นแล้วว่ามีเด็กนักเรียนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น เนื่องจากครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ ยิ่งสถานการณ์โควิด – 19 เข้ามาซ้ำเติม ความเสี่ยงของเด็กกลุ่มนี้ยิ่งสูงตามมา ทั้งนี้ทุนที่มอบจะครอบคลุมนักเรียนระดับชั้น ม.1 – ม.3 อันเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะหากเด็กไปไม่สุด ต้องหลุดกลางคัน ทั้งครอบครัวก็จะสูญเสียโอกาสไปพร้อม ๆ กัน

“ปี 63 เราเริ่มมอบทุน 70 ทุน ปี 64 เพิ่มเป็น 100 ทุน และปี 65 นี้ อีก 100 ทุน ข้อดีของความร่วมมือกับ กสศ. คือเราสามารถใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ ‘iSEE’ ช่วยค้นหาคัดกรองเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ จนแน่ใจว่าเจอตัวจริง คือเป็นเด็กที่ผลการเรียนดี มีความตั้งใจจะเรียน ยากลำบาก หรือเดือดร้อนด้วยผลกระทบจากวิกฤตจนเสี่ยงออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งยืนยันได้จากครูผู้ติดตามเด็กใกล้ชิด เพราะเขามีข้อมูลรายคนเลยว่าคนไหนควรได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน แล้วถ้าไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย เด็กไม่ได้ไปต่อแน่นอน”

รองประธานมูลนิธิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า การมอบทุนการศึกษาในโครงการ ‘ให้น้องได้เรียน’ เป็นการเริ่มจากเด็กนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงฐานที่ตั้งของ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งปีนี้แบ่งเป็นพื้นที่จังหวัดชลบุรี 74 ทุน และ พื้นที่จังหวัดปทุมธานีอีก 26 ทุน

“ที่ตั้งต้นจากเด็กในพื้นที่ใกล้เคียงก่อน เพราะชลบุรีเป็นที่ตั้งโรงงานใหญ่ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีข้อมูลจาก กสศ. ระบุว่าเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมีจำนวนเป็นหมื่นคน ทั้งในอำเภอศรีราชา สัตหีบ บ้านบึง หรือบ่อทอง ส่วนที่ปทุมธานีคือฐานของสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม หรือ Education Academy ของมิตซูบิชิ

“เราอยากสนับสนุนเด็กรอบรั้วบ้านของเรา เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและพัฒนาบุคลากร ให้เขาได้ทุน ได้โอกาส และในระยะยาว มูลนิธิจะขยายงานออกไปในระดับประเทศ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไป”

‘ทุน’ คือแรงเสริมให้ฟื้นยืนได้อีกครั้ง

ครูขวัญฤทัย ชัยภิบาล โรงเรียนอนุบาลบางละมุง ผู้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันน้อง ๆ ให้ได้รับทุนการศึกษา กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนมีเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น กับอีกส่วนหนึ่งต้องออกกลางคันเพราะครอบครัวตกงาน ต้องย้ายกลับภูมิลำเนา หรือไปทำงานในพื้นที่อื่น นอกจากนี้ยังมีเด็กที่จบชั้น ป.6 หรือ ม.3 จำนวนหนึ่งต้องหยุดเรียนชั่วคราวไปทำงานช่วยผู้ปกครอง ในฐานะครูผู้ใกล้ชิดเด็ก ๆ คิดว่า หากไม่มีความช่วยเหลือมาถึงเด็กกลุ่มเสี่ยง เชื่อว่าจะมีอีกจำนวนมากที่หลุดตามออกมา เพราะเขาไม่มีทางไปต่อแล้ว

(ขวา) ครูขวัญฤทัย ชัยภิบาล และ (ซ้าย) ครูสุภารัตน์ จันทรประทักษ์
โรงเรียนอนุบาลบางละมุง

ด้าน ครูสุภารัตน์ จันทรประทักษ์ โรงเรียนอนุบาลบางละมุง กล่าวว่า เดิมทีสภาพครอบครัวเด็กไม่พร้อมอยู่แล้ว พอเจอโควิด ผู้ปกครองหลายคนไม่ไหว จะเอาลูกออกกลางคัน ‘ทุน’ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยเด็กและครอบครัวเขาได้เยอะ โดยนอกจากเรื่องเรียน เงินนี้ยังช่วยได้เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน

“เราเองเป็นครูที่คอยเก็บข้อมูลของเด็ก เห็นอยู่ว่าหลายคนเขาตั้งใจเรียน อยากเรียนมาก ๆ แต่ทางบ้านเขาไม่มีเงินแล้ว ไม่รู้จะทำยังไงต่อ เงินทุนนี้จึงเหมือนเข้ามาต่อชีวิตเขา เป็นแรงเสริมให้กับทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง ให้เขาได้ลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง”

สร้าง ‘ต้นแบบ’ ความร่วมมือ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ ตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น’

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ตัวเลขจากปี 2564 ระบุว่า มีเด็กประสบภาวะฉุกเฉินต้องหลุดจากระบบมากถึง 238,707 คน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการ ‘เติมเต็ม’ ของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระและข้อจำกัดของหน่วยงานราชการได้ อีกทั้งทุนการศึกษา ถือเป็นหลักประกันว่าเด็กเยาวชนและคนอีกหลายชีวิตที่อยู่เบื้องหลังเขา จะยังคงมีแรงมีกำลังที่จะไปต่อบนเส้นทางการศึกษา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

งานด้านสังคมที่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ทำในวันนี้ คือต้นแบบของการทำงานระดมความร่วมมือ ที่ภาครัฐ เอกชน และ กสศ. ช่วยกันหาทางเยียวยา และพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤต และไปถึงปลายทางได้ตลอดรอดฝั่ง 

“ทุนนี้เราไม่ได้มอบให้แค่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะมีการติดตามน้อง ๆ ตั้งแต่ชั้น ม.1 จนถึง ม.3 ดูพัฒนาการความเปลี่ยนแปลง หรือปัญหาที่ประสบ เพื่อช่วยกันประคองเด็กไปจนเรียนจบได้

“ผมเชื่อว่า ‘โอกาส’ คือการต่อยอดชีวิตที่มหัศจรรย์ที่สุด โดยเฉพาะกับนักเรียนชั้น ม.ต้น ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่มีสถิติบ่งชี้ว่า ม.1 – ม.3 เป็นช่วงที่เด็กหลุดออกจากระบบมากที่สุด ดังนั้น การที่เรามีครูดูแลใกล้ชิด มีระบบข้อมูลคอยติดตามไม่ให้เด็กหลุดหายระหว่างทาง มีทุนที่พร้อมเติมเต็ม รวมถึงวิธีการดูแลช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ จึงเชื่อมั่นได้ว่า การทำงานครั้งนี้จะเกิดผลลัพธ์ในระยะยาว นอกเหนือไปจากกู้วิกฤตเฉพาะหน้า

“โดยหลังจากนี้ กสศ. มีแนวทางที่จะทำงานร่วมกับ มูลนิธิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ในการสนับสนุนโครงการให้ทุนการศึกษาในระดับสูง ในรูปแบบ ‘ทวิภาคี’ เพื่อผลักดันให้พื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นต้นแบบการระดมความร่วมมือ สร้างพื้นที่การศึกษาเพื่ออนาคต สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ผ่านการประสานการทำงานระหว่าง กสศ. ภาคเอกชน รวมถึงเขตพื้นที่การศึกษา และสถาบันการศึกษาสายอาชีพในจังหวัด”

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า ถ้าสามารถต่อยอดให้เด็กมองเห็นความก้าวหน้า มีอาชีพมั่นคง มีรายได้ดีขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อแม่ เราจะตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น ฉุดครอบครัวของเขาให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“เราต่างทราบดีว่าภารกิจลดความเหลื่อมล้ำ คือการทำงานกับประเด็นปัญหาความยากจนที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แล้ววันนี้ เรายังมีเด็กอีกราว 1.3 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีเด็กอีกมากถึง 17,000 คน ที่เรายังต้องช่วยกันตามกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา ทุนการศึกษาเป็นเพียงการทำงานเบื้องต้น เพื่อให้เขายังอยู่ ไปต่อได้ มีค่ารถ ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าชุดนักเรียน หรือในอีกทางหนึ่งคือเติมเรี่ยวแรง เติมความหวัง เติมกำลังใจ และเสริมทัศนคติให้ผู้ปกครองไม่ตัดสินใจเอาลูกหลานออกจากระบบกลางคัน ให้เขายังคงเชื่อว่าถ้าอดทนฝ่าฟันไปได้ ถึงวันหนึ่งการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของครอบครัวเขาได้ในที่สุด”