เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
กสศ.ร่วมลงนาม MOU “สระแก้วโมเดล” ผนึกกำลัง ศธ.สร้างโรงเรียนคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กสศ.ร่วมลงนาม MOU “สระแก้วโมเดล” ผนึกกำลัง ศธ.สร้างโรงเรียนคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

วันที่ 14 มีนาคม 2565 ดรไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้ว ในรูปแบบ SAKAEO Model 

โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนาม ผนึกกำลังกับอีกหลายหน่วยงานระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานจังหวัดสระแก้ว และมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ณ ห้องประชุมชั้น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว จ.สระแก้ว

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นการบูรณาการเป้าหมาย และความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการ และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ และเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาภายใต้บริบทของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับ การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ในลักษณะ Active Learning และสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงการติดตาม และประเมินผลของความสำเร็จ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนในทุกช่วงวัย สามารถเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีทักษะต่างๆ ทั้งด้านทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สำคัญ เป็นผู้ที่มีขีดสมรรถนะ และเป็นบุคลากรคุณภาพที่สามารถนำความรู้ ทักษะต่างๆ มาใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า เติบโต และสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในมิติของสังคม และเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษาฯ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลายแห่งทั่วประเทศไทย ทั้งระดับสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ทั้งนี้ กสศ. พร้อมสนับสนุนการทำงานของกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ร่วมกับพื้นที่ ท้องถิ่น จังหวัดที่ต้องการร่วมขบวน เป็นผู้นำการปฏิรูปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน

สำหรับการดำเนินการในพื้นที่ นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะตัวของสระแก้วคือเรามีพื้นที่ชายแดน ซึ่งเมื่อมองตัวชี้วัดจะเห็นว่ามีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จำนวนมาก ในจุดนี้ต้องอย่าลืมว่าในพื้นที่ชายแดนมีเด็กต่างชาติอยู่ด้วย หากเราแยกเด็กต่างชาติออกไป จะเห็นว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ที่ครูสอนจะอ่านออกเขียนได้เกือบทั้งหมด แต่ในภาพรวมเมื่อนับจำนวนเด็กในโรงเรียนแบบเป็นตัวเลข จะเห็นว่ายังมีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่พอสมควร ซึ่งข้อเท็จจริงคือเป็นเด็กต่างชาติที่เข้ามาเรียน อย่างเช่นในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งการจัดการการศึกษาของสระแก้วมีหลากหลาย มีทั้งโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนของตชด. โรงเรียนเอกชน รวมถึงโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยสระแก้วตั้งเป้าว่าผลการศึกษาจะต้องอยู่ในมาตรฐานใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะวัดด้วย NT หรือวิธีใดก็ตามที่เป็นมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ นี่คือเป้าหมายสำคัญของจังหวัดสระแก้ว