ศธ. กสศ. ผู้แทน 14 หน่วยงาน ลง MOU สานพลัง ‘พาน้องกลับมาเรียน’
แก้เด็กหลุดระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์

ศธ. กสศ. ผู้แทน 14 หน่วยงาน ลง MOU สานพลัง ‘พาน้องกลับมาเรียน’

ศธ. กสศ. และหน่วยงานการศึกษากว่า 14 หน่วยงาน ลง MOU สานพลัง ‘พาน้องกลับมาเรียน’ แก้เด็กหลุดระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์ ขณะที่นายกฯ ย้ำการสร้างโอกาสการศึกษาต้องเน้นทั้งโอกาสและคุณภาพการศึกษา พร้อมสนับสนุนดูแลชีวิตความเป็นอยู่ผู้ปกครอง ​

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

พร้อมด้วย 11 พันธมิตร ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในพิธีเปิดว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่มีกิจกรรมต่อจากกิจกรรมวันครู ซึ่งได้ให้คำขวัญวันครูไปแล้วว่า “พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้สู่อนาคต” ​ ซึ่งต่อเนื่องกับสิ่งที่เราทำในวันนี้ และวันต่อๆ ไปด้วย การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องพัฒนาคนให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยที่เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

กิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมที่สำคัญ และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19  วันนี้รู้สึกยินดีที่ทุกหน่วยงานราชการได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชน  ทั้งเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ​ ​เด็กที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้ารับการศึกษา เพื่อให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดีและมีมาตรฐานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

“พาน้องกลับมาเรียน” เป็นโครงการสำคัญ  มีประโยชน์อย่างยิ่ง และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  เพราะเราทราบดีว่ายังมีเด็กที่ตกหล่น เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมากกว่า 100,000 คน  พวกเราทุกคนต้องช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก  เราต้องหาทางแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ 

“วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ลงทุนสร้างทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ หากจะใช้เงินอย่างเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด เพราะเราไม่ได้มีเงินเพียงพอขนาดนั้น ฉะนั้นต้องหาวิธีการที่เหมาะสม  บูรณาการงบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เพื่อส่งเสริมภารกิจที่มีความสำคัญกับประเทศชาติ วันนี้ทุกคนได้ตกลงใจแล้วลงนามความร่วมมือกัน เป็นหมุดหมายสำคัญที่รัฐบาลจะทำเพื่อคนไทยและประเทศไทยต่อไป” 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านทราบว่า การให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กนั้นเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก  เราจะต้องจริงจังด้วยวิธีการที่เหมาะสม ทำอย่างไรให้เกิดผลสำเร็จที่วัดผลได้ 

การเรียนนั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน  ทั้งการเรียนในระบบและนอกระบบ ซึ่งมาตรฐานการสอนแต่ละโรงเรียนก็ไม่เท่ากัน  ถ้าเรามีทุนให้เด็กกลับมาเรียนในโรงเรียนเดิมที่ไม่มีคุณภาพก็ไม่ได้  ต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการคือสร้างโรงเรียนดี ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้เต็มที่ ถ้าเกิดความสำเร็จ ผลประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นกับคนในชาติ 

สิ่งสำคัญคือการทำให้นักเรียนมีมายด์เซตที่ดีในหลายเรื่อง ต้อง “เรียนรู้” ซึ่งมีหลายประการ เช่น  เรียนรู้จากในห้องเรียน เรียนรู้จากนอกห้อง เรียนรู้จากออนไลน์ เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และนำมาคิด เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชน

“ขอให้เปรียบเทียบกับต่างประเทศว่าเขาพัฒนาอย่างไร บ้านเราทำการเกษตรเป็นหลักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีรายได้เข้าประเทศ  ตอนนี้มีรายได้หลายอย่างเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว กีฬา  การลงทุนขนาดเล็ก ​วิสาหกิจชุมชนเยอะแยะไปหมด นั่นคือโอกาสและช่องทาง  แต่เราจะทำอย่างไรให้มีคนที่มีคุณภาพลงไปอยู่ตรงนั้น  และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือการแก้ปัญหาความยากจนรายครัวเรือน ต้องใช้หลายกระทรวงด้วยกัน คงต้องเริ่มต้นให้ได้ในปี 2565 ​​จะประกอบอาชีพอะไรต้องหาวิธีการช่วยเหลือ ถ้าเราไม่ทำแบบบูรณการก็จะเป็นแบบเดิม  วิธีการคือ 1) คือให้คำปรึกษา 2) ให้การสนับสนุนในทางที่ถูกต้อง และ 3) ​เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม 

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการกับหน่วยงาน 11 หน่วยงาน ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการพาน้องกลับมาเรียน ถือเป็นงานที่ใช้พลังงานอย่างมาก แต่เชื่อมั่นว่าความทุ่มเท  ความพยายามของทุกท่าน จะก่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ขออวยพรและเป็นกำลังใจให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงทุกประการ 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. อาชีวศึกษา กศน. และพันธมิตร 11 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กในปัจจุบันที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงติดตามถึงบ้านเพื่อให้เด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

จากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 โดยแบ่งตามสังกัด ได้แก่ สังกัด สพฐ.จำนวน 78,003 คน สังกัด สป. จำนวน 50,592 คน สังกัด สอศ.จำนวน 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม.จำนวน 54,513 คน รวมแล้วมีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ซึ่งหลังจากดำเนินการเชิงรุกตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้ 127,952 คน และยังมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวน 110,755 ราย

“กระทรวงศึกษาธิการมีการพัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียนเหล่านี้ ด้วยแอปพลิเคชันที่ชื่อ “ตามน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวก รวดเร็ว และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียด เพื่อเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด โดยเบื้องต้นจะให้โรงเรียนต้นสังกัดติดตามนักเรียน จากนั้น ศธ.จะเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสม แต่หากโรงเรียนต้นสังกัดติดตามไม่ได้ ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้มีการทำ MOU ให้ช่วยติดตาม เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทย ได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตกันอีกครั้ง” รมว.ศธ.กล่าว