ผลสำรวจความเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองชาวอเมริกันเกี่ยวกับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของบุตรหลานที่จัดทำโดยแกลลัพโพลล์ (Gallup Poll) พบเกือบครึ่งของพ่อแม่ที่ตอบแบบสอบถามต้องการให้ลูกของตนเองมีทางเลือกทางการศึกษาที่มากกว่าการสมัครเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม รายงานพิเศษโดยสำนักข่าวเอพีพบข้อมูลว่า การเรียนปริญญา 4 ปี มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ได้รับเงินเดือนสูงขึ้น
รายงานครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความกังขาเกี่ยวกับคุณค่าของใบปริญญากับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ใช้เวลาเรียน 4 ปีด้วยจำนวนค่าเทอมที่ค่อนข้างสูงและเกินเอื้อมถึงสำหรับครอบครัวชาวอเมริกันหลายพันคน โดยหลายครอบครัวยอมรับว่า บุตรหลานของตนเองต้องยอมกู้หนี้ยืมสินเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ใบปริญญา ครั้นพอสำเร็จการศึกษากลับพบว่าไม่มีเส้นทางในหน้าที่การงานที่ชัดเจน หนำซ้ำบางคนตกงานเป็นเวลานาน จนต้องจำยอมทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องหรือต่ำกว่าระดับความรู้ที่เรียนมา
ทั้งนี้ บริษัทวิจัยแกลลัพ (Gallup) ภายใต้ความร่วมมือกับคาร์เนกี คอร์ปอเรชั่น (Carnegie Corporation) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของครอบครัวชาวอเมริกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปี 2020 ในชื่อ Family Voices ( “เสียงจากครัวเรือน”) พบว่า 46% ของครอบครัวชาวอเมริกันต้องการให้บุตรหลานของตนเลือกเส้นทางอื่นมากกว่าเข้ามหาวิทยาลัย แม้ว่าครอบครัวจะไม่มีปัญหาติดขัดด้านการเงินใดๆ เลยก็ตาม ขณะที่ 54% ของพ่อแม่ยังคงอยากให้ลูกๆ ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย เพียงแต่อยากให้เว้นระยะห่าง 1 ปีหลังจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเด็กจะได้มีเวลาค้นหาลู่ทางที่ตนเองสนใจอย่างแท้จริง รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กได้ศึกษาทิศทางตลาดเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการหางานทำหลังเรียนจบ
โดยในจำนวน 46% ของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเลือกทางอื่นที่ไม่ใช่เรียนปริญญาตรีระบุว่า อยากให้เด็กเลือกเข้ารับการฝึกอบรมทางทักษะอาชีพเฉพาะทางแทน ซึ่งใช้เวลาเรียนน้อยกว่า โดยการฝึกอบรมนี้หมายรวมถึงการฝึกงานของบริษัทต่างๆ โครงการฝึกอบรมในเชิงเทคนิคต่างๆ และสถาบันที่เน้นในเรื่องของการค้าขายหรือการบริหารจัดการธุรกิจ หรือการเลือกเรียนในระดับอาชีวศึกษา
นอกจากนี้ พ่อแม่ในกลุ่มนี้อยากสนับสนุนให้ลูกๆ ได้ทำหรือค้นหาในสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างจริงจัง เช่น เริ่มต้นทำธุรกิจ ทำงานอาสาสมัคร เข้าร่วมกองทัพเป็นทหาร หรือทำงานที่ได้เงินเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวต่อไป
สำหรับเหตุผลหลักๆ ที่ไม่อยากให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยก็คือ ความกังวลเรื่องการเงิน โดย 65% ของพ่อแม่ที่ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าปัจจัยค่าเล่าเรียนเป็นเหตุผลหลักในการคิดเรื่องการศึกษาต่อของลูกๆ ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากให้มีทางเลือกสำหรับเด็กเรียนจบมัธยมปลายให้มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถมีพื้นที่ยืนในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ แม้จะไม่มีใบปริญญาก็ตาม
กระนั้น จากการรวบรวมงานวิจัยของหลายองค์กร ซึ่งรวมถึงการศึกษาของบริษัทวิจัยแกลลัพ จัดทำโดยสำนักข่าวเอพีพบว่า ผู้ที่จบปริญญา 4 ปีเต็มจากมหาวิทยาลัยจะมีรายได้ตลอดชีพมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่า ส่วนผู้ที่มีประกาศนียบัตรระดับมัธยมปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือจบปริญญา 2 ปีจากมหาวิทยาลัย มีรายได้โดยเฉลี่ยน้อยกว่า
ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด สาขานิวยอร์ก ระบุชัดว่า การลงทุนเพื่อการศึกษาจนสำเร็จในระดับปริญญาตรีมักจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเสมอ และผู้ที่มีใบปริญญารับรองวุฒิจะมีเงินเดือนสูงว่าทุนที่ใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยโดยเฉลี่ย 14%
สำหรับรายได้โดยเฉลี่ยของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ประมาณ 78,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 2,574,000 บาท) ขณะที่ผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีรายได้เฉลี่ยเพียง 45,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 1,485,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า อัตรารายได้โดยเฉลี่ยข้างต้นไม่ได้การันตีว่า ผลตอบแทนของผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยจะดีกว่าเสมอไป เพราะยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัยที่เข้าเรียน หนี้สะสม และสาขาวิชาชีพที่เลือก ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่จะได้รับอีกทาง
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และเพศของนักเรียน ก็มีอิทธิพลต่อรายได้ผลตอบแทนด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ แม้ว่าระบบการศึกษาของสหรัฐฯ จะมีทางเลือกให้กับผู้มีรายได้น้อยในการเรียนต่ออย่าง Student Loans หรือเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ให้นักเรียนนักศึกษากู้ยืมเงินมาเป็นค่าเล่าเรียน แต่การศึกษาวิจัยพบว่า การกู้ยืมนี้อาจส่งผลต่อมูลค่าของใบปริญญาตรีที่ได้มา
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า หากกู้ยืมเงินมาเรียน รายได้ที่ได้มาภายหลังหลังจากเรียนจบปริญญาก็ต้องหดหายไป เพราะต้องหาเงินมาชำระคืน
ข้อมูลของรัฐบาลส่วนกลางของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 117% จากปี 1985 ถึงปี 2019 แต่ค่าจ้างเงินเดือนในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลับขยับปรับเพิ่มขึ้นเพียง 19% เท่านั้น
ทั้งนี้ การกู้เงินมาเรียนต่อปริญญาตรีเป็นทางเลือกที่ยากจะหลีกเลี่ยงสำหรับคนที่อยากเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะมักจะต้องใช้เงินกู้มาชำระค่าเล่าเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่า หากจะทำให้ปริญญาตรีที่ได้มาคุ้มค่ากับการลงทุน นักศึกษาจะต้องหาเงินเดือนให้เพียงพอที่จะจ่ายคืนแก่ผู้ให้กู้ ซึ่งตัวเลขที่พอเหมาะพอดีอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้หลังหักภาษี
ดังนั้น การมีหนี้สินจำนวนมาก แต่ไม่มีใบปริญญา ถือเป็นผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการสำเร็จการศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ขณะเดียวกันปัจจัยสาขาที่เรียนถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่มีผลต่อรายได้อย่างมากเช่นกัน เพราะบางสาขาวิชาสามารถทำรายได้ได้มากกว่าสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะสาขาที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยในช่วงกลางของอาชีพการงานสูงที่สุด คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
ด้านข้อมูลจากศูนย์การศึกษาและแรงงานของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ระบุว่า คนทำงานที่จบสาขาดังกล่าวมีรายได้เฉลี่ย 76,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 2,508,000 บาท) รองลงมาคือผู้ที่จบการศึกษาด้านธุรกิจที่ 67,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 2,211,000 บาท) และตามด้วยเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ 65,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 2,145,000 บาท)
นอกจากนี้ รายได้หลังเรียนจบปริญญายังจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับทำเลที่อยู่อาศัย โดยสถาบันโทมัธ บี. ฟอร์ดแฮม (Thomas B. Fordham) ได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับรายได้ของคนที่จบปริญญาตรี ซึ่งพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นอกเมือง หรือพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง
โดยผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีตามเมืองต่างๆ จะมีรายได้โดยเฉลี่ย 95,229 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 3,142,557 บาท) เนื่องจากในเมืองใหญ่ๆ มีงานที่ต้องการวุฒิปริญญามากกว่าเมืองเล็กๆ หรือชนบท โดยนักศึกษาที่จบสาขาวิชาเทคโนโลยี การเงิน หรือการตลาด จะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น
ขณะที่ปัจจัยสุดท้ายที่มีผลต่อรายได้ก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ” โดยมาร์แชล แอนโธนี จูเนียร์ (Marshall Anthony Jr.) แห่งศูนย์อเมริกันก้าวหน้า (Center for American Progress) กล่าวว่า บางครั้งการศึกษาในระดับปริญญาตรีอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องรายได้และเชื้อชาติเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เพราะนักเรียนที่ยากจนจะมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ ส่งผลให้เด็กเหล่านี้เผชิญปัญหาสถานะทางเศรษฐกิจหนักกว่าเดิม
นอกจากนี้ แอนโธนี จูเนียร์ ยังศึกษาพบว่า ความไม่เสมอภาคเท่าเทียม ทำให้นักเรียนอเมริกันผิวสีมักมีหนี้สินมากกว่านักเรียนอเมริกันผิวขาวโดยเฉลี่ย 25,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 825,000 บาท) ขณะที่สถาบันบรู้กกิ้งส์ (Brookings Institutions) พบว่า หลังเรียนจบ ชาวอเมริกันผิวสีมีหนี้กู้ยืมทางการศึกษาประมาณ 52,726 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,739,958 บาท) ส่วนนักศึกษาชาวอเมริกันผิวขาวมีหนี้ประมาณ 28,006 เหรียญสหรัฐ (ราว 924,198 บาท)
ดังนั้น หนี้ที่สูงกว่าและรายได้ค่าตอบแทนที่น้อยกว่า ทำให้ชาวอเมริกันผิวสีต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วย
ที่มา :
• Nearly Half of U.S. Parents Want More Noncollege Paths
• Skip college? Not if you want to make more money