กระทรวงศึกษาธิการไอร์แลนด์ประกาศใช้มาตรการพิเศษเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมของบรรดาครูผู้ช่วยภายในประเทศ หลังโรงเรียนหลายแห่งทั่วไอร์แลนด์พร้อมใจออกมาแสดงความวิตกกังวลว่าโรงเรียนอยู่ในสถานการณ์วิกฤตขาดแคลนครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักออกโรงเตือนว่า สถานการณ์ขาคแคลนครูมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย
ทั้งนี้ เว็บไซต์สำนักข่าว RTE ของไอร์แลนด์รายงานว่า เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนักในประเทศ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นอร์มา โฟลีย์ (Norma Foley) ได้บรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นกับทางวิทยาลัยครูทั่วประเทศ ในการออกมาตรการอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาวิทยาลัยครูที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา หรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีในชั้นปีที่ 3 และ 4 เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยตามโรงเรียน เพื่อแก้วิกฤตขาดแคลนครูเฉพาะหน้าในระหว่างที่ทางกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนครูในระยะยาว
รายงานระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงข้างต้น บรรดาวิทยาลัยครูจะเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติบางประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาของการประเมินการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัวและพร้อมเข้าช่วยเตรียมการสอนนับจากนี้จนถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึง
ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการไอร์แลนด์เองยังพิจารณาปรับเปลี่ยนระเบียบกฎเกณฑ์บางส่วนเพื่อเปิดทางให้ครูที่เกษียณอายุไปแล้วสามารถเพิ่มจำนวนวันทำงานที่โรงเรียนได้มากขึ้น โดยไม่กระทบต่อระบบเงินบำนาญของตนเอง กล่าวคือ ทางรัฐจะไม่ตัดลดเงินบำนาญของครูที่สมัครใจจะสอนต่อหลังเกษียณอายุงาน
ยิ่งไปกว่านั้น ครูทุกคนที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการศึกษาจะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะกลับไปสอนในห้องเรียนในฐานะครูผู้ช่วย
ในส่วนของโครงการส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่องสำหรับครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งนำไปสู่ความต้องการครูทดแทน เพราะครูต้องสละเวลาสอนไปเข้าร่วมการฝึกอบรม ทางกระทรวงศึกษาธิการไอร์แลนด์จึงตัดสินใจเลื่อนการดำเนินการของโครงการออกไปชั่วคราวจนถึงช่วงกลางเทอมหลังของภาคเรียนการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
นอร์มา โฟลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไอร์แลนด์กล่าวว่า นอกจากการเร่งจัดหาครูผู้ช่วยให้เพียงพอต่อจำนวนครูขาดแคลนแล้ว อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ต้องเร่งจัดการอย่างเร่งด่วนก็คือ การดำเนินการปรับปรุงระบบระบายอากาศของโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของการสกัดกั้นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
มาตรการทั้งหมดมีขึ้นท่ามกลางการเรียกร้องจากทุกฝ่าย ให้ทางกระทรวงใช้ทุกทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อทำให้เชื่อมั่นได้ว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยแน่นอนสำหรับนักเรียนและครูที่จะกลับไปเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องให้กระทรวงฯพิจารณาติดตั้งระบบกรองอากาศภายในห้องเรียนอีกทางหนึ่งด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโฟลีย์กล่าวว่า ทางกระทรวงได้ดำเนินการทุกทางตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ออัตราการแพร่ระบาดให้ต่ำที่สุด ในส่วนของการติดตั้งระบบระบายอากาศสามารถดำเนินการได้ทันทีหากโรงเรียนนั้นๆ มีทีมช่างเทคนิคในการดำเนินการติดตั้ง กำกับดูแล และตรวจสอบซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ
โฟลีย์ย้ำว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข รวมถึงจะทำตามทุกแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับโรงเรียน ซึ่งรวมถึงการให้อำนาจครูใหญ่ในการติดตามผู้ติดเชื้อของโรงเรียนโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ริชาร์ด บอยด์ บาร์เรตต์ (Richard Boyd Barrett) สมาชิกกลุ่มองค์การอิสระ People Before Profit ท้วงว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทางกระทรวงควรพิจารณาดำเนินการร่วมด้วยก็คือแนวทางการพิจารณาการออกใบรับรองการลาออกของครู โดยหวังให้เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยมองหาสาเหตุและป้องกันปัญหาการลาออกของครูในอนาคตต่อไป
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการโฟลีย์กล่าวว่า ทางกระทรวงกำลังพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวอยู่ โดยต้องมีการปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายรวมถึงฝ่ายครูที่ทำหน้าที่สอนด้วย ก่อนให้คำมั่นว่า ทางกระทรวงฯจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถออกมาตรการจัดการ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ออกมาให้เร็วที่สุดก่อน
ด้านโรส คอนเวย์-วอลช์ (Rose Conway-Walsh) หนึ่งในสมาชิกพรรครีพับลิกันไอริชและพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ทำงานอยู่ในสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ได้ออกโรงเรียกร้องให้ทางกระทรวงเพิ่มการพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนครู โดยเฉพาะการเพิ่มเงินอัดฉีดให้กับครูสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษได้
ที่มา : New measures to tackle school Covid staffing shortage