ทีมนักวิจัยด้านการศึกษาจาก 3 องค์กรชั้นนำในสหรัฐฯ ผนึกกำลังเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในการจัดทำระบบฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการให้ความสนับสนุนดูแลนักเรียนที่ประสบกับภาวะยากลำบาก หรือเจออุปสรรคต่างๆ ในการเรียนหนังสือ เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
รายงานระบุว่า ทางทีมวิจัยของ NWEA, ศูนย์วิจัยนโยบายทางการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University’s Center for Education Policy Research) และ CALDER ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสถาบันเพื่อการวิจัยแห่งอเมริกา ได้จับมือเป็นพันธมิตรเพื่อทำงานร่วมกับเขตการศึกษาทั่วสหรัฐฯ ในการช่วยวิเคราะห์และอัพเดตข้อมูลเรียลไทม์ เกี่ยวกับโครงการติวพิเศษ โครงการชั้นเรียนหลังโรงเรียนเลิก (after-school programs) และโครงการช่วยเหลือพิเศษต่างๆ ที่จัดทำเสริมขึ้นมาเพื่อช่วยฟื้นฟูความรู้และทักษะที่สูญหายไประหว่างที่โรงเรียนปิดในช่วงโควิด-19 ระบาด จนทำให้เด็กไม่สามารถเรียนในชั้นเรียนได้เป็นเวลานานติดต่อกันมากกว่า 18 เดือน
บรรดานักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญต่างระบุตรงกันว่า โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ที่จัดทำขึ้นเพิ่มเติมนี้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเหล่านักเรียนให้ได้ฟื้นฟูทักษะพื้นฐานด้านการอ่าน การคิดคำนวณ และวิชาการด้านอื่นๆ ได้
วัตถุประสงค์ของความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยของ 3 องค์กรวิจัยด้านการศึกษาในสหรัฐฯ ครั้งนี้คือ เพื่อให้นักการศึกษาทั้งหลายมีเครื่องมือและแนวทางในการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงอย่างรวดเร็วทันทีที่โครงการพิเศษที่ใช้อยู่ไม่ได้ผลตามที่หวังไว้ ตลอดจนเพิ่มกลยุทธ์ที่จะให้ผลลัพธ์ในทางบวกเป็นสองเท่า
ดอกเตอร์โธมัส เคน (Dr. Thomas Kane) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา (Center for Education Policy Research) กล่าวว่า ทางเขตการศึกษาไม่เคยเจอวิกฤตเด็กเรียนไม่ทันในระดับนี้มาก่อน เมื่อวิกฤตนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เขตการศึกษาไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือและจัดการ
แม้จะเป็นแนวทางการศึกษาใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถรับประกันว่าแนวทางช่วยเหลือนี้จะช่วยให้นักเรียนทุกคนไล่ตามบทเรียน หรือฟื้นฟูการเรียนรู้ได้ทัน ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ
ทั้งนี้การที่เขตการศึกษาในพื้นที่ได้รับผลวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้นักเรียนแบบเรียลไทม์ จะช่วยในการประเมินและปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ได้ทัน ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้ากับการจัดการเด็กที่ประสบปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ เพราะหากรอการประเมินจากรัฐส่วนกลางในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้าอาจจะล่าช้าเกินไป ดร.เคนกล่าว
เรียกได้ว่า ยิ่งมีข้อมูลประเมินได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้นำเขตการศึกษาสามารถตัดสินใจและวางแผนได้ว่าจะใช้งบช่วยเหลือจากรัฐบาลส่วนกลางมาจัดการกับภาวะเรียนรู้ที่ถดถอยไปของเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้อย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“ตามปกติโครงการรัฐมักจะใช้ระยะเวลานานกว่าจะสรุปข้อมูลและผลวิเคราะห์ แต่โครงการวิจัยร่วมครั้งนี้จะให้ข้อมูลวิเคราะห์แบบเรียลไทม์แก่โรงเรียน ซึ่งน่าจะช่วยให้โรงเรียนมีข้อมูลในการตัดสินใจปรับหลักสูตรเนื้อหาการเรียนการสอนได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอถึงปีการศึกษาหน้า” ดร.เคนกล่าว ก่อนเสริมว่า ระบบวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตเด็กอีกหลายล้านคน และช่วยให้เหล่าผู้บริหารสามารถจัดการการงบประมาณการศึกษาหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้อย่างประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ในช่วงเฟสแรกของโครงการระบบฐานข้อมูลนี้ ทีมวิจัยจะร่วมมือกับ 10 เขตการศึกษาเพื่อนำร่องก่อน โดยเบื้องต้นนักวิจัยจะรวบรวมผลการเรียนของเด็กนักเรียน 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ช่วงตลอด 18 เดือนที่โควิด-19 ระบาดจนโรงเรียนปิดตัว และช่วงปีการศึกษาปัจจุบันที่นักเรียนกลับเข้าชั้นเรียนแล้ว จากนั้นนักวิจัยจะนำข้อมูลผลการเรียนในช่วงต่างๆ มาประเมินผลและจัดหาโครงการพิเศษต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและผู้เรียนต่อไป
ทั้งนี้ในส่วนของทีมนักวิจัยจะแบ่งปันข้อมูลที่ค้นพบกับทางผู้นำโรงเรียนตลอดทั้งปี โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้นำโรงเรียนเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเรียนการสอนของตนเองได้อย่างรวดเร็ว หรือทันกับความเหมาะสมของผู้เรียน
หนึ่งในตัวอย่างของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและเห็นผลลัพธ์ดีเยี่ยมคือ โรงเรียนในเขตการศึกษากิลฟอร์ด (Guilford County Schools) ซึ่งเข้าร่วมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยโรงเรียนในเขตนี้ได้นำข้อมูลการเรียนด้านต่างๆ ของนักเรียนและสำมะโนประชากรมาช่วยวิเคราะห์ เพื่อสำรวจแน่ใจว่านักเรียนของตนเข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถเรียนออนไลน์ทางไกลได้ ทั้งยังประยุกต์ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์หาว่าเด็กคนไหนเข้าร่วมโครงการเรียนรู้พิเศษนี้บ้าง และโครงการไหนประสบผลสำเร็จ ได้รับเสียงตอบรับจากผู้เรียนมากที่สุด เป็นต้น
แม้ว่าเป้าหมายเบื้องต้นของระบบวิเคราะห์และวิจัยการเรียนรู้แบบเรียลไทม์นี้จะตั้งใจเพื่อช่วยฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กนักเรียนก็ตาม แต่งานวิจัยนี้ยังมีประโยชน์ในเชิงการกำหนดนโยบายการศึกษาด้วย โดยผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปวางแผนนโยบายฟื้นฟูการเรียนรู้ระยะยาวในกลุ่มเด็กนักเรียนได้