Equity Lab โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Disrupt Technology Venture จัดกิจกรรม Opportunity Day ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ชวนเหล่านวัตกรและผู้ที่สนใจประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาพูดคุยแลกเปลี่ยน ระดมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
โจทย์ในครั้งนี้ คือ ‘นวัตกรรมเพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัดพะเยา สุรินทร์ และปัตตานี’ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างมีปัญหาและบริบทแตกต่างกัน
ภายในงานมีการตั้งโจทย์ที่ชวนให้ขบคิด ได้แก่ 1) นวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กพิการทางสมอง จังหวัดพะเยา 2) นวัตกรรมการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะอาชีพสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา จังหวัดสุรินทร์ และ 3) กลไกการบริหารจัดการกองทุน เพื่อการจัดสรรโอกาสทางการศึกษาสู่เด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ จังหวัดปัตตานี
อิษฎ์ ปักกันต์ธร นักวิชาการบริหารแผนงาน สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) กสศ. อธิบายที่มาและการดำเนินงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยระบุถึงความสำคัญของการพัฒนากลไกระดับพื้นที่จากโจทย์ร่วมกันของแต่ละจังหวัด เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก School of change makers และ Change Lab เป็นผู้บอกเล่าปัญหาที่พบในแต่ละพื้นที่ คลี่ให้เห็นถึงความซับซ้อน ยุ่งเหยิง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะเตรียมความพร้อมให้เหล่านวัตกรเลือกสรรโจทย์ ขบคิดนวัตกรรม เพื่อการคิดอย่างเป็นระบบและแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร
ทว่ากิจกรรม Opportunity Day ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ผู้ที่สนใจสานต่อการศึกษาเชิงพื้นที่สามารถนำนวัตกรรมของตัวเองในการแก้ปัญหา 1 ใน 3 โจทย์ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเดี่ยวหรือทีม มานำเสนอต่อ Equity Lab กสศ. ในวันที่ 19 เมษายน 2566 โดย 3 ทีมที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับทุนสนับสนุน 100,000 บาท เพื่อนำไปใช้พัฒนานวัตกรรมต่อไป