รัฐเซาท์ออสเตรเลียหนุนโรงเรียนทั่วประเทศสอนกลางแจ้ง
โดย : ABC NEWS
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

รัฐเซาท์ออสเตรเลียหนุนโรงเรียนทั่วประเทศสอนกลางแจ้ง

กระทรวงศึกษาธิการในรัฐเซาท์ออสเตรเลียสนับสนุนโรงเรียนหันมาใช้ห้องเรียนกลางแจ้ง โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการเรียนการสอนแบบ “ผสม” (Hybrid Model) เพื่อความปลอดภัยของครูกับนักเรียนที่ต้องมาเรียนในช่วงที่วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบหลักสูตรชั้นเรียน และปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของการเปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 ให้สอดคล้องยืดหยุ่นกับสถานการณ์มากขึ้น โดยข้อเสนอสนับสนุนห้องเรียนกลางแจ้งมีขึ้นหลังกระทรวงศึกษาธิการรัฐเซาท์ออสเตรเลียมีคำสั่งขอโรงเรียนงดใช้เครื่องฟอกอากาศภายในอาคารและห้องเรียน เหตุเพราะยังมีประเด็นให้กังขาเกี่ยวกับความสะอาด ปราศจากเชื้อโรคของเครื่องฟอกอากาศ

แถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาธิการเซาท์ออสเตรเลียระบุชัดว่า สนับสนุนให้ทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนกลางแจ้งตามความเหมาะสม ทั้งในแง่ของจำนวน ประเภทวิชา และสถานที่

ขณะเดียวกัน สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ในช่วงสองสัปดาห์แรกของการเปิดเทอมใหม่ นักเรียนในเซาท์ออสเตรเลียจะเรียนหนังสือจากที่บ้านเป็นหลัก ซึ่งระหว่างนี้ทางกระทรวงจะศึกษาผลกระทบและให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาแบบ “ไฮบริด” (ผสม) ที่จะช่วยทำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง จนยินยอมให้บุตรหลานเดินทางมาเรียนที่โรงเรียนด้วยความสมัครใจ

ในส่วนของมาตรการความปลอดภัยภายในรั้วโรงเรียนอื่นๆ กระทรวงศึกษาธิการเซาท์ออสเตรเลียได้ออกกฎให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป รวมไปถึงครู ผู้ช่วยสอน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่อยู่ในห้องเรียน

ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมืองดเว้นการเยือนโรงเรียนโดยไม่มีเหตุจำเป็นของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่โรงเรียน รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเหล่าอาสาสมัคร ยกเว้นในวันเปิดเรียนวันแรกของเด็กอนุบาล

นอกจากนี้ จอห์น การ์ดเนอร์ (John Gardner) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเซาท์ออสเตรเลียกล่าวว่า กิจกรรมตามปกติของโรงเรียน อย่างการซ้อม-แข่งขันกีฬา การประชุม ชมรม การร้องประสานเสียง การออกค่าย ทัศนศึกษา และทริปเดินทางระยะสั้น กำหนดให้งดจัด

ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการเปิดเทอม ขณะที่หากตรวจพบว่านักเรียนคนไหนในชั้นเรียนติดเชื้อโควิด-19 นักเรียนคนนั้นต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านจนกว่าจะรักษาตัวให้หาย ขณะที่ในส่วนของครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนอื่นๆ ศาสตราจารย์นิโคลา สเปอร์เรียร์ (Nicola Spurrier) หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวว่า สามารถมาเรียนหนังสือที่ห้องเรียนได้ตามปกติ แต่ทุกคนต้องกักตัวในลักษณะ “Close contacts” ซึ่งหมายความว่า เมื่อไรที่อยู่นอกชั้นเรียน คนกลุ่มนี้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในห้องเรียนของตน พร้อมคาดการณ์ว่า น่าจะมีรายงานในหลายโรงเรียนที่พบนักเรียนในห้องราว 1-2 คนติดเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน

แม้จะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ทำให้การมาเรียนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น กระนั้น หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแห่งเซาท์ออสเตรเลียกล่าวว่า ส่วนตัวยังคงสนับสนุนและแนะนำให้เด็กๆ เดินทางไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติ ขณะเดียวกันก็เข้าใจและไม่ตำหนิพ่อแม่ผู้ปกครองหากตัดสินใจที่จะไม่ให้ลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนในช่วงเวลานี้

ยิ่งไปกว่านั้น ศาสตราจารย์สเปอร์เรียร์ยังใช้โอกาสนี้ยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในโรงเรียนของรัฐทุกแห่งในพื้นที่ตามกระแสเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งที่ต้องการให้รัฐจัดการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ก่อนย้ำว่า แค่เปิดประตูและหน้าต่างห้องเรียนให้อากาศถ่ายเทก็เพียงพอและมีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องฟอกอากาศ

“การใช้พื้นที่กลางแจ้งเป็นห้องเรียนเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์มากสำหรับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรัฐเซาท์ออสเตรเลียในช่วงกลางฤดูร้อนเช่นนี้” ศาสตราจารย์สเปอร์เรียร์กล่าว พร้อมอ้างอิงถึงการทดลองอิสระที่ระบุว่า เครื่องฟอกอากาศไม่ได้มีส่วนลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในพื้นที่สถานศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังให้ผลในการปรับปรุงคุณภาพอากาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แนวทางดังกล่าวของรัฐเซาท์ออสเตรเลียสวนทางกับรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย ที่เร่งเดินหน้าติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในโรงเรียนรัฐทุกแห่งที่กำลังจะเปิดเรียนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

แถลงการณ์ของทางกระทรวงศึกษาธิการรัฐเซาท์ออสเตรเลียระบุว่า เมื่อผลการทดสอบบ่งชี้ว่าผลของคุณภาพอากาศที่ได้จากเครื่องฟอกอากาศไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการติดตั้ง ทางกระทรวงจึงตัดสินใจไม่นำเครื่องฟอกอากาศมาใช้งาน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ก็เห็นด้วย และยืนยันว่าระบบระบายอากาศตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในส่วนของการเปิดเรียนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ นักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-6 และมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-3 จะต้องเรียนที่บ้านก่อน 2 สัปดาห์เพื่อรอดูสถานการณ์ ยกเว้นเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงาน เด็กยากจนกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายที่สามารถเดินทางมาเรียนที่โรงเรียนได้เลย ภายใต้ความยินยอมของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือในกรณีที่พ่อแม่ต้องทำงาน ไม่สามารถปล่อยให้ลูกอยู่ในบ้านตามลำพัง ทางโรงเรียนได้จัดครูมาคอยดูแลให้สตีเวน มาร์แชลล์ (Steven Marshall) นายกเทศมนตรีรัฐเซาท์ออสเตรเลียกล่าวว่า สถานการณ์ที่ทำให้การเรียนรู้ต้องหยุดชะงักถือเป็นเรื่องที่เลวร้าย แต่ไม่ว่าจะไม่ชอบอย่างไร การต้องยอมรับและปรับตัวก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

ที่มา : Outdoor learning encouraged as SA Education Department rules out air purifiers for return to school