เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
ก้าวแรกของการพิชิต “ความรู้ถดถอย” เริ่มต้นจากที่บ้าน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสหรัฐฯ
โดย : The Pasadena Now
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ก้าวแรกของการพิชิต “ความรู้ถดถอย” เริ่มต้นจากที่บ้าน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสหรัฐฯ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่เด็กไม่สามารถไปโรงเรียน และต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนออนไลน์ จนทำให้เด็กเกือบทั้งหมดไม่อาจเรียนได้อย่างเต็มที่ และเกิดภาวะความรู้ถดถอย (Learning Loss) อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เด็กต้องเรียนจากบ้านหรือชุมชนใกล้เคียง ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำแนวทางที่จะช่วยชดเชยภาวะสูญเสียการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ วัยเรียนทั้งหลาย โดยย้ำชัดว่า ก้าวแรกของการเอาชนะปัญหา “Learning Loss” เริ่มต้นได้จากที่บ้าน 

ดอกเตอร์รีเบกกา ปาลาซิออส (Rebecca Palacios) สมาชิกคณะกรรมการหลักสูตรและช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ อธิบายว่า การสูญเสียการเรียนรู้ หมายถึง ระดับความรู้ที่นักเรียนสูญเสียหรือทำสูญหายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น เมื่อปิดเทอมฤดูร้อน เด็กนักเรียนมักหลงลืมความรู้ที่เรียนมาไปช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งในกรณีของวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 แม้เด็กจะไม่ได้หยุดเรียนไปทั้งหมดเสียทีเดียว แต่งานศึกษาหลายชิ้นก็ยืนยันว่า สภาพแวดล้อมของการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลกระทบต่อการได้รับและการเก็บเกี่ยวความรู้ของเด็กเช่นเดียวกัน

การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาในช่วงที่วิกฤตกำลังคลี่คลายเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ ดร.ปาลาซิออสและทีมนักการศึกษาอีกส่วนหนึ่งชี้ว่า หนึ่งในวิธีที่ได้ผลมากที่สุดที่จะช่วยกอบกู้ภาวะเรียนรู้ถดถอยสามารถเริ่มต้นได้ที่บ้าน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุน ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้เด็ก ๆ อยากเรียนหนังสือในทุกวัน 

ขั้นตอนง่าย ๆ แต่ทรงประสิทธิภาพมีดังต่อไปนี้

1 ให้ความสำคัญกับคุณภาพบนหน้าจอ (Quality Screen Time)

โดยปกติเด็กยุคนี้ใช้เวลาอยู่บนหน้าจอจนเคยชินเสียแล้ว แต่เวลาที่ใช้ไประหว่างรายการบันเทิงวาไรตี้กับรายการที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ย่อมให้ผลและประสิทธิภาพต่างกัน ดังนั้นการเลือกแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่เหมาะสมกับช่วงวัยจึงเป็นปัจจัยทางบวกที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางการศึกษาของเด็กได้

ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การเลือกใช้แพลตฟอร์ม ABCmouse ห้องเรียนออนไลน์ที่ออกแบบโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแขนงต่าง ๆ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมทางการศึกษาที่ให้ความรู้และความสนุกมากกว่า 11,000 กิจกรรม เพียงแค่สัปดาห์ละ 45 นาทีก็ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

2 กำหนดเวลา “อ่าน” ทุกวัน (Daily Reading)

การอ่านเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือ โดยนอกเหนือจากหนังสือวิชาการแล้ว เด็กควรมีเวลาอ่านหนังสือนอกตำราเรียนด้วย ซึ่งผู้ปกครองสามารถสนับสนุนได้โดยช่วยค้นหาแหล่งการอ่านอื่น ๆ เช่น การ์ตูน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อีบุ๊ก ดิจิทัลบุ๊ก หรือหนังสือเสียง อาจเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือในภาษาแม่ของตน ก่อนขยับไปเป็นภาษาต่างชาติ และถ้าจะให้ได้ผลดี พ่อแม่ผู้ปกครองควรใช้เวลาอ่านร่วมกับลูก ๆ ด้วย 

ทั้งนี้ กำหนดเวลาอ่านไม่จำเป็นต้องกินเวลายาวนานร่วมชั่วโมงแต่อย่างใด เพราะการวิจัยพบว่า แค่อ่านเพียงวันละ 20 นาทีต่อวันก็มีผลต่อการเรียนของเด็กนักเรียนอย่างมาก แถมยังช่วยฟื้นฟูความรู้ที่สูญหายไปให้คืนกลับมาได้อีกด้วย

3 ช่วงเวลาแห่งการ “สอน” (Teachable Moments)

เลิกคิดว่า “การศึกษาหาความรู้” หรือ “การเรียนรู้” คือการนั่งคร่ำเคร่งอ่านหนังสืออยู่หน้าตำราและจดโน้ตเนื้อหาตามครูผู้สอนอย่างตั้งใจแต่เพียงอย่างเดียว การลงมือทำหรือการปฏิบัติก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพที่เด็กจะได้เรียนรู้เช่นกัน ดังนั้น การที่เด็กได้อยู่บ้านและใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ด้วยการให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของพ่อแม่

ยกตัวอย่างเช่น การเข้าครัวทำอาหาร การปลูกผักดูแลสวน การทำบัญชีรายรับรายจ่ายของบ้าน การตรวจเสบียงและจดรายการของที่ต้องซื้อ หรือหากเป็นกรณีเด็กที่โตแล้ว ก็อาจให้มีส่วนร่วมในการซ่อมแซมสิ่งของภายในบ้าน เป็นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาย้ำว่า ชีวิตเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่จะ “สอน” ได้มากมาย แค่พ่อแม่ลองให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้นเท่านั้นเอง


ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา การปิดโรงเรียน บวกกับการเรียนทางไกลและการเรียนแบบผสมผสาน รวมถึงการงดเว้นภาคเรียนฤดูร้อนไปถึง 2 ครั้ง ทำให้เด็กนักเรียนหลายหมื่นหลายพันคนทั่วสหรัฐฯ เผชิญหน้ากับอุปสรรคท้าทายมากมาย 

แม้โรงเรียนและครูจะพยายามทุ่มเทกำลังอย่างสุดความสามารถในการทำให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา แต่งานวิจัยหลายชิ้นก็พบว่านักเรียนหลายคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มผิวสี กลับไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงหลายปีต่อจากนี้ได้เลย

สถาบันบรู๊กกิงส์ (Brookings) ประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้ว นักเรียนจะสูญเสียความรู้ราว 25-30% ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน โดยที่เด็กผิวสีและลาตินอเมริกามักจะสูญเสียความรู้มากกว่าเด็กผิวขาว แต่สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้การสูญเสียความรู้ของเด็กซับซ้อนรุนแรงขึ้น ยืนยันได้จากงานศึกษาของแมคคินซีย์ (McKinsey) เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่่ผ่านมา เด็กผิวสีและลาตินอเมริกาสูญเสียการเรียนรู้มากกว่ากลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันเฉลี่ย 3-5 เดือน ขณะที่งานวิจัยของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) พบว่า เด็กจากครอบครัวลาตินอเมริกาจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดในสหรัฐฯ ไม่เพียงต้องเผชิญกับภาวะสูญเสียการเรียนรู้เท่านั้น แต่เด็กเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ทั้งการสูญเสียบุคคลสำคัญ และการสูญเสียรายได้หรือเสาหลักที่คอยเลี้ยงดูครอบครัว


ที่มา : OVERCOMING LEARNING LOSS BEGINS AT HOME