สภารับทราบรายงานประจำปี 64 กสศ. ‘วิสาร’ ยกโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน (TSQP) ช่วยการศึกษาเดินหน้าอย่างมีคุณภาพ เป็นอนาคตลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กยากจนมีโอกาสทางการศึกษา ด้าน ‘ปดิพัทธ์’ ให้ข้อสังเกตควรมีกองทุนระดับพื้นที่เพื่อความคล่องตัวของคนหน้างาน ขณะที่ ผู้จัดการ กสศ. แจงกลไกนโยบาย ‘สมัชชาจังหวัด’ หาก พ.ร.บ.การศึกษา ประกาศใช้ส่งเสริมการระดมทรัพยากรในแต่ละพื้นที่จะง่ายขึ้น
วันที่ 8 ก.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับทราบรายงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปี 2564 โดยนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้กำลังใจ กสศ. เพราะมั่นใจในโครงสร้างขององค์กรโดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธานในการวางทิศทางการทำงานขององค์กร ซึ่งจากที่เห็นตัวอย่างการทำงานจริงในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนยากจนด้อยโอกาสแห่งหนึ่ง พบว่า สิ่งที่ กสศ. ไปช่วยเป็นสิ่งดี สามารถให้โอกาสเด็ก ๆ ที่ยากจนให้สามารถศึกษาต่อได้
ทั้งยังมีการทำวิจัยตั้งแต่นักเรียน ครู ผู้ปกครองและให้บุคลากรในพื้นที่ได้คิดอ่านปรับปรุงตามแนวคิดตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาชีพ การเสริมภาษาอังกฤษ หรืออื่น ๆ เป็นต้น จึงชื่นชมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP ที่ กสศ. ออกแบบการเรียนการสอนคู่ไปกับงานลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมกันในทุกพื้นที่ โครงการแบบนี้เชื่อว่าทำให้การศึกษาเดินไปได้ จึงอยากส่งเสริมในเรื่องนี้
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ชื่นชม กสศ. ที่ทำงานอย่างทุ่มเทและสร้างสรรค์ ปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นหลายกิจกรรมที่มีความพยายามประสานความร่วมมือหน่วยงานกับภาคประชาสังคมอย่างหลากหลายและขยายโอกาสนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดนำร่องที่ กสศ. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบได้มากกว่า 500 คน
อย่างไรก็ตามแม้เป้าหมายระยะสั้นของ กสศ. เพื่อช่วยเหลือเด็กอย่างเร่งด่วนทำได้ดีแล้ว แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเวลานี้เหมือนเป็นปัญหาอนันต์ที่ทุ่มงบประมาณไปช่วยเท่าไรคงไม่พอ จึงต้องค้นหาการปฏิรูปเชิงระบบในระยะยาว เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำที่มีการกระจุกตัวของการกระจายอำนาจ
“อีกเรื่องหนึ่งคือเสียงสะท้อนมาจากคนทำงานหน้างานของ กสศ.พิษณุโลก ว่าจะมีโอกาสที่จะมีกองทุนระดับย่อยในจังหวัดเองหรือไม่ เพราะเวลานี้มีเส้นบางอย่างที่กำหนดหรือเป็นของส่วนกลางอยู่มาก รวมถึงการเชื่อมต่อกับทุนอื่นด้วยเครื่องมือที่ กสศ. มี แทนที่จะเป็นผู้ให้ทุนเองในระดับจังหวัด หากสามารถเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มระดมทุนระดับพื้นที่เพื่อให้จังหวัดทำงานเองได้ จะทำให้คนทำงานหน้างานสะดวกขึ้น” นายปดิพัทธ์ ระบุ
นายชวน ชูจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กสศ. เป็นหน่วยงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยเพื่อทำให้คำว่าความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ใช่แค่อยากเรียนต้องได้เรียน แต่รวมทุกเรื่อง เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ที่เด็กบางคนมีความสามารถซ่อนอยู่แต่ไม่มีโอกาส ดังนั้นในอนาคตที่ระบบการศึกษามีโจทย์ใหญ่มาก ว่าจะสร้างคนให้พร้อมเรื่องใด อยู่ได้อย่างมีความสุขและมีศักยภาพโดยไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งอย่างเดียว เรื่องนี้ กสศ. สามารถวิจัยค้นหาแนวทางได้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ตอบข้อซักถามต่อสภาว่า หัวใจที่ กสศ.ใช้ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คือการให้สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และกลไกในการจัดการระดับพื้นที่ที่เข้าใจสาเหตุและบริบทที่หลากหลาย มาช่วยกันออกแบบว่ามาตรการใดจะมีประสิทธิผลสูงสุดในการทำงานในเรื่องนี้ในพื้นที่นี้ โดยแนวทางการทำงานของ กสศ. จะผสมผสานกันระหว่างวิจัยเชิงพื้นที่ องค์ความรู้และนวัตกรรมระดับนานาชาติ เพื่อสร้างเสริมการพัฒนากลไกการจัดการเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมทั้งการสนับสนุนงบประมาณให้เป็นไปตามบริบทและโจทย์ในการทำงานที่หลากหลายแตกต่างกัน พร้อมกันนั้นจะมีการนำเอาข้อเสนอแนะจากพื้นที่ต่าง ๆ มาสังเคราะห์และรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเชิงระบบและเพื่อทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับทราบถึงโจทย์ในการทำงานระยะยาวเพื่อปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป
สำหรับข้อซักถามเกี่ยวการทำงานทับซ้อนกลุ่มเป้าหมายนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ดร.ไกรยส ระบุว่า จากข้อเท็จจริงพบว่า แม้จะผ่านมามากกว่าสิบปี แต่เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปี ยังคงสนับสนุนงบประมาณให้นักเรียนใน 2 สังกัดเท่านั้น คือ อปท. และ สพฐ. ขณะที่ความเป็นจริงยังมีนักเรียนในสถานศึกษาอีกหลายสังกัดที่ไม่ได้รับการจัดสรรดูแลสถานะความยากจน เช่น สังกัด ตชด. สังกัดเอกชนที่ไม่แสงหาผลกำไร รวมถึง สังกัด กทม.
กสศ. จึงต้องทำงานกับหน่วยงานต้นสังกัดที่มีนักเรียนยังไม่ได้รับเงินสนับสนุน หรือกระทั่งในส่วน สพฐ. และ อปท. ที่ได้รับสนับสนุนแล้ว แต่การที่เด็กได้ปีละ 1,000 บาท สำหรับประถม และ 3,000 บาท สำหรับระดับมัธยม ไม่เพียงพอ และตัวเลขนี้ไม่ได้ปรับมาแล้วกว่าสิบปี สวนทางกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในแต่ละวัน
“กสศ. จึงได้เสนอรัฐบาลว่า จำเป็นต้องดูแลประชากรในกลุ่มก่อนวัยเรียนและวัยการศึกษาภาคบังคับเพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร อย่างไรก็ตาม หลังจากดูแลถึงชั้น ม.3 กสศ. ได้ทำความร่วมมือกับ กยศ. เพราะเรามีข้อมูลรายบุคคลอยู่แล้วที่สามารถส่งต่อให้ กยศ. ดูแลต่อไป รวมถึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ กยศ. ว่า การดูแลเด็กที่มีสถานะยากจนกลุ่มนี้ กยศ. สามารถพิจารณาให้เงื่อนไขในการให้ทุนที่สอดคล้องกับความจำเป็นและสถานภาพครัวเรือนของเขาได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กสศ. ได้จัดทำทุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนและยากจนพิเศษที่มีศักยภาพในการเรียนได้สูง ให้สามารถเรียนต่อในระดับ ปวช. ปวส. ต่อด้วยปริญญาตรี โท เอก โดยไม่ต้องใช้คืนเป็นจำนวนมากกว่า 8,000 ทุน เท่ากับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในแต่ละปี”
สำหรับการพัฒนากลไกระดับจังหวัดนั้น ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. พยายามทำกลไกนี้อยู่เพื่อให้งบประมาณจากภาคเอกชนไปอยู่ที่จังหวัดเกิดขึ้น ทำให้ปีที่ผ่านมามีบริษัทมหาชนที่สามารถระดมหุ้นกู้เพื่อไปช่วยเหลือการศึกษาได้มากกว่า 100 ล้านบาท ทำให้ช่วยเหลือได้หนึ่งจังหวัดทั้งจังหวัด ซึ่งการแก้ปัญหาระยะยาว กสศ. สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามามากขึ้นผ่านสิทธิการลดหย่อนภาษี ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ โดยเสนอให้มีการตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัดขึ้นโดยกลไกภาคประชาสังคมในพื้นที่ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่า ฯ ซึ่งกลไกนี้ยังจะมีเรื่องสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาด้วย ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมพร้อมหาก พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้ กสศ. จะเข้าไปทำงานร่วมกับกลไกในจังหวัดเพื่อสร้างกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่มีการกระจายอำนาจเป็นหัวใจ และสามารถระดมทรัพยากรในพื้นที่ได้