มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สถาบันระดับอุดมศึกษาชั้นนำของจีน เปิดตัวสาขาวิชาใหม่ที่มุ่งเน้นด้านการวิจัย พัฒนาและผลิตชิปคอมพิวเตอร์กับเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าเพิ่มบุคลากรหัวกะทิด้านการผลิตชิปซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนชิปที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ รวมถึงเป็นมาตรการสนับสนุนให้จีนสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตชิปได้อย่างเต็มที่
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานว่า สาขาหรือคณะใหม่ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ใช้ชื่อว่า School of Integrated Circuits หรือคณะแผงวงจรรวม และเพิ่งจะจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหมดเป็นไปเพื่อฝึกอบรมเหล่าวิศวกรและนักเทคนิค ในการคิดค้นพัฒนาเซมิอคอนดักเตอร์ เพื่อให้ประเทศจีนสามารถพึ่งพาตนเองในด้านนี้ในอนาคต ท่ามกลางหลายประเทศทั่วโลกที่พยายามแข่งขันการผลิตชิปคอมพิวเตอร์หลังเกิดปัญหาขาดแคลนจนทำให้กระบวนการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ประสบภาวะหยุดชะงัก
การเปิดตัวคณะใหม่ หลักสูตรใหม่ครั้งนี้ ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่สถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศจีนต่างให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจำนวนมากเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดงานในอนาคตนับจากนี้ โดยก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน ทางมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวโจว (HUST) ของจีน เพิ่งเปิดหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่เมืองอู่ฮั่น และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยซิงหัวก็ได้เปิดหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน
รายงานระบุว่า คณะใหม่ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งจะทำการเรียนการสอนเพื่อผลิตวิศวกรและนักเทคนิคให้มีความรู้ในด้านการออกแบบแผงวงจรรวม การผลิต และการพัฒนา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปของจีน ภายใต้ความร่วมมือกับบรรดาบริษัทเอกชนในประเทศ
ฮ่าว ผิง อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แสดงความหวังว่าคณะใหม่จะช่วยยกระดับความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนด้านเซมิคอนดักเตอร์กับทางมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยในจีนกำลังพยายามจัดตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสอนการผลิตชิป อีกทั้งยังมุ่งหวังหยุดภาวะสมองไหล เมื่อเด็กนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับหัวกะทิของจีนจำนวนมากเดินทางไปศึกษาต่อหรือทำงานในต่างประเทศ รวมถึงเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศให้มีความทันสมัยมากขึ้น
โดยเมื่อเดือนที่แล้ว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเสิ่นเจิ้น สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 กล่าวว่า ได้จัดตั้งโรงเรียนที่เน้นเรื่องวงจรรวมร่วมกับบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) โรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในจีน
ขณะนี้ความต้องการบุคลากรผู้มีความสามารถในอุตสาหกรรมชิปของจีนกำลังอยู่ในช่วงร้อนแรง โดยข้อมูลจาก Xiamen Microplus Technologies Ltd. บริษัทจัดทำเว็บไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ Ijiwei.com พบว่า ในปี 2020 เงินเดือนประจำโดยเฉลี่ยของพนักงานบริษัทเซมิคอนดักเตอร์เฉพาะในหัวเมืองใหญ่สูงถึง 320,000 หยวน หรือราว 1.6 ล้านบาท มากกว่ามาตรฐานรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 32,189 หยวน (ราว 162,867 บาท)
นอกจากนี้ เว็บไซต์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ยังเผยว่า เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 8% ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9%
ด้านรายงานจากศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเปิดเผยว่าในปี 2019 จีนมีแรงงานอยู่ในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ประมาณ 512,000 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยมีการประเมินสถานการณ์ว่าในปี 2022 จีนจะมีความต้องการงานในตำแหน่งดังกล่าวสูงถึง 745,000 ตำแหน่ง
ที่มา : Peking University joins China’s semiconductor push with new school dedicated to chips