จากปี 2562 ที่จังหวัดพิษณุโลกร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะ 1 ใน 20 จังหวัดนำร่องในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ถึงปี 2564 นี้ โครงการได้เตรียมย่างก้าวสู่ปีที่สาม กับการขยายพื้นที่ทำงานให้กว้างออกไปจนครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด ขณะเดียวกันก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมสำรวจค้นหาและวางแนวทางความช่วยเหลือ โดยรับผิดชอบดูแลในส่วนที่ตนมีเครื่องมือทรัพยากรรองรับ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความซับซ้อนของบริบทซึ่งรายล้อมชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง การจะช่วยประคับประคองให้เส้นทางของน้องๆ เด็กเยาวชนนอกระบบให้เปลี่ยนผ่านไปถึงวันที่สามารถหยัดยืนด้วยตนเองได้ ลำพังการมีภาคีเครือข่ายจำนวนมากนั้น ยังไม่อาจพูดได้ว่าเพียงพอ หากหน่วยงานทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมต่างๆ จะต้องร้อยรวมเชื่อมต่อจนเป็นเนื้อเดียวกัน
เชื่อมโยงฐานข้อมูลทรัพยากรอันเป็นเหมือนทุนการทำงานของพื้นที่
ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ หัวหน้าโครงการยกระดับการทำงานเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษารายกรณีระดับพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า แก่นแกนสำคัญของการทำงานเชิงพื้นที่คือ นอกจากทุกฝ่ายมุ่งมั่นทำงานของตนเองแล้ว ยังจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆ ต้องสำรวจทรัพยากรเครื่องมือระหว่างกัน เนื่องจากเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาช่วงวัย 2-21 ปี ล้วนมีปัญหาซับซ้อนแตกต่าง จึงต้องมีหน่วยงานที่พร้อมรองรับเด็กเยาวชนทุกกลุ่ม โดยอาจแบ่งเป็น 7 กลุ่มใหญ่ได้ดังนี้
1. กลุ่มที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 2. กลุ่มที่อยากพัฒนาทักษะอาชีพ 3. กลุ่มพิการ 4. กลุ่มตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร 5. กลุ่มเด็กกระทำผิดในสถานพินิจฯ 6. กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพกายและจิต 7. กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องสถานะทางทะเบียนราษฎร์
จะเห็นว่าทุกหมวดหมู่ปัญหาต้องอาศัยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพเข้ามาช่วย การแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และเผยถึงสิ่งที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ในมือจึงเป็นต้นทางของแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาระบบ และกลไกดูแลรายกรณีที่ครอบคลุมทั้งตัวเด็กเยาวชนนอกระบบและครอบครัวของเขา
“เราทำงานผ่านปีแรกโดยค่อยๆ สะสมองค์ความรู้ เชื่อมโยงหน่วยงานที่สนใจเข้ามาร่วมคลำเส้นทางด้วยกัน ทั้งภาครัฐ อปท. ภาควิชาการ ประชาสังคมต่างๆ เก็บเกี่ยวบทเรียนการทำงานของแต่ละหน่วยงานว่ามีจุดเด่นอะไร แล้วจะต่อเชื่อมระหว่างหน่วยงานกันอย่างไร กลายเป็นความหลากหลายที่ไม่มีรูปแบบตายตัวเบ็ดเสร็จ แต่ทุกฝ่ายทำงานบนแก่นแกนกลางร่วมกัน
“งานช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาไม่ใช่หน้าที่หลักของหน่วยงานใดหนึ่ง แต่ที่จังหวัดพิษณุโลกทำมาได้ถึงปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่สาม เพราะทุกคนเห็นความสำคัญ มีใจเข้ามาหาวิธีการทำงานไปด้วยกัน มีฝ่ายที่ทำงานตั้งแต่ลงพื้นที่เข้าถึงตัวเด็ก ค้นหาสาเหตุการหลุดจากระบบการศึกษา มีภาคประชาสังคมที่เป็นเหมือนข้อต่อสำคัญที่นำการช่วยเหลือดูแลไปให้ถึงตัวเด็ก ส่งต่อให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพราะการจะแก้ปัญหาดังกล่าวเรามองที่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องลงลึกไปที่ปัญหารายรอบตัวกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากการคัดกรอง แบ่งเด็กเป็นกลุ่มต่างๆ คอยติดตามดูแลทั้งเรื่องครอบครัว การเรียน สุขภาพ และพฤติกรรม ซึ่งต่างคนต่างมีรายละเอียดต่างกันไป การมีเครือข่ายสัมพันธ์กับหน่วยงานหลากหลายในท้องถิ่น ทำให้เรารู้ว่าเด็กจะรับความช่วยเหลือที่ตรงกับปัญหาของเขาได้จากตรงไหน หรือในทางกลับกัน มีหน่วยงานในพื้นที่ที่มีทรัพยากรหลากหลายและมีใจอยากเข้ามาช่วย แต่เขาเข้าไม่ถึงตัวเด็ก ดังนั้น เราต้องสื่อสารพูดคุยกัน นำฐานข้อมูลทรัพยากรอันเป็นเหมือนทุนของพื้นที่ มาจัดทำแผนที่ทรัพยากร แล้วเอาไปใช้ขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด
“เมื่อเราเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานทั้งจังหวัดเข้าด้วยกันได้ มีภาพชัดเจนว่าใครมีความสามารถในการดูแลเด็กกลุ่มไหน พอเราพบเด็กก็ส่งเข้าสู่การดูแลได้ทันที พร้อมทำแผนรองรับได้ว่าพ้นไปจากความช่วยเหลือเบื้องต้นเด็กจะถูกส่งไปอย่างไรต่อ หาแหล่งทุนเสริมได้จากตรงไหน นี่คือแผนที่ถูกวางไว้เป็นระบบ จนถึงวันที่เด็กๆ เหล่านี้ยืนได้ด้วยตนเอง”
สำเร็จได้เพราะ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่ใส่ลงไปในการทำงาน
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การช่วยเด็กคนหนึ่งที่อยู่นอกระบบ ปัญหาที่เผชิญจะมีแต่ความซับซ้อน ดังนั้นไม่มีทางที่หน่วยงานใดจะทำให้สำเร็จได้โดยลำพัง
การได้ฟังแต่ละหน่วยงานย้อนถึงเส้นทางการทำงาน พบว่าทุกฝ่ายต่างต้องผ่านช่วงเวลาที่สะเปะสะปะเดินอยู่ในความมืดอย่างยากลำบาก มีเพียงหัวใจที่อยากนำความช่วยเหลือไปให้ถึงเด็กๆ กลุ่มนี้ ด้วยความไม่ย่อท้อกับอุปสรรค กลไกการค้นหาช่วยเหลือจึงก่อเป็นรูปร่างขึ้น ก่อนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นกระบวนการทำงานที่มีระบบ ที่สำคัญคือ มีผลสัมฤทธิ์ให้เห็นร่วมกันว่า “โครงการช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กได้จริง”
“ผมเชื่อว่าเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนให้เครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก มาได้ถึงตรงนี้ คือการเอา ‘ความเป็นมนุษย์’ ใส่ลงไปในการทำงาน เริ่มจากกลุ่มคนที่เคยทำงานในระบบในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน 3-4 ท่าน ที่แม้จะเกษียณไปแล้ว แต่ยังมีไฟชีวิตที่พร้อมอุทิศเวลาให้กับท้องถิ่น นำมุมมองและประสบการณ์มาผูกโยงเครือข่าย ช่วยถากถางเส้นทางจนหน่วยงานต่างๆ สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทางตันมาได้ มันทำให้เห็นว่าถ้าแต่ละฝ่ายต่างคนต่างทำ แม้งานจะเดินหน้าไปได้ แต่ก็จะมีช่องโหว่หรือรอยต่อซึ่งเด็กจะยังคงไหลหลุดออกไปได้ตลอด
“เพราะเบื้องหลังของเด็กกลุ่มนี้ เราต้องไม่ลืมว่าชีวิตของพวกเขาต้องถูกปฏิเสธซ้ำๆ มาตลอด ถึงเราพบตัวแล้วนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกอาชีพได้ แต่ระหว่างทางนั้น ความรู้สึกเบื้องลึกว่าเขาไร้ตัวตน หรือความเงียบงันที่มันซ่อนอยู่ข้างในตัวเขาจะไม่มีวันหายไปไหน มันยังพร้อมระเบิดระบายออกมา พร้อมกัดกิน จนหากเราไม่มีระบบรองรับที่ดีพอ สุดท้ายเขาก็จะหันหลังกลับออกไปในเส้นทางเดิมๆ ได้อีก”
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า การที่ กสศ.ทำงานร่วมกับจังหวัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ นับเป็นหนึ่งในภารกิจของการสร้าง ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ โดยมุ่งไปที่เด็กเยาวชนด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่ง กสศ.จะติดตามสนับสนุนการทำงานของจังหวัดนำร่องต่อไป รวมถึงขยายผลจากรูปแบบความสำเร็จ เช่นในจังหวัดพิษณุโลกไปยังพื้นที่อื่นๆ
ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นคือ ประสานสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียน ครู ภาคประชาสังคมต่างๆ ให้มองเห็นปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา และพร้อมทำงานร่วมกันในระยะยาวต่อไป
“ถ้าโรงเรียนยังมีส่วนในการผลักเด็กออกไปจากระบบอย่างเงียบๆ การพูดถึงหลักประกันโอกาสทางการศึกษาก็ไม่มีความหมาย นี่คืองาน กสศ.ที่จะต้องขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ นำข้อมูล องค์ความรู้ ขั้นตอนที่ชัดเจน จากพื้นที่ต้นแบบไปหาท้องถิ่นอื่นๆ และเหนือสิ่งใด เราต้องถ่ายทอดหัวใจของการทำงานด้วยความเป็นมนุษย์ไปให้ถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมรวบรวมประสบการณ์ ข้อมูล และทรัพยากรทุกอย่างในพื้นที่มาเทรวมกันแบบหมดหน้าตัก เพื่อให้รอยต่อของการช่วยเหลือดูแลเด็กได้เชื่อมเข้าหากันอย่างประณีต ไม่สะดุดหรือมีรูรั่วจนเด็กไหลหลุดออกไปได้อีก”
จะสักกี่อุปสรรค ถ้าพร้อมปรับตัวเรียนรู้ งานก็เดินต่อได้
ดร.สุเนตร ทองคำพงษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ความยากของการทำงานเพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา คือช่วงกว้างของกรอบอายุกลุ่มเป้าหมายที่เริ่มตั้งแต่ปฐมวัยถึงผู้ใหญ่ตอนต้น คณะทำงานต้องพร้อมปรับแผนงานให้รับกับความผกผันเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัยซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ยังไม่รวมวิกฤตโควิด-19 อันเป็นปัจจัยภายนอกที่โถมทับระลอกแล้วระลอกเล่า จน ณ เวลาหนึ่งเราต่างมองไม่เห็นเลยว่าจะเดินโครงการไปต่อได้อย่างไร แต่ด้วยเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีใจจดจ่อกับงานไม่ลดละ ส่งต่อข้อมูลและกำลังใจให้กันประหนึ่งเพื่อนถึงเพื่อน ไม่นานเราก็สามารถตั้งสติรับ เรียนรู้ ปรับตัว และหาทางออกร่วมกันได้
“การให้โอกาส รับฟังอย่างเข้าใจเพื่อแงะปัญหาออกมาให้ได้ เราไม่ได้ทำเฉพาะกับน้องๆ กลุ่มเป้าหมาย แต่เป็นวิธีที่หน่วยงานต่างๆ นำมาใช้สื่อสารระหว่างกัน ข้อดีของการทำงานเชิงพื้นที่คือ ความแตกต่างของบริบท ซึ่งเราต้องศึกษาเรียนรู้ วิจัย และถอดบทเรียนเชิงลึก ถ้าคณะทำงานแต่ละฝ่ายตกผลึกได้ว่าจุดอ่อนจุดแข็งของตนคืออะไร แล้วเอามาร้อยรวมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ เราจะได้โครงข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งจังหวัด พร้อมรองรับเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาทุกรูปแบบ
“ภารกิจที่เรากำลังทำเป็นการวางเส้นทางอนาคตของของชาติ ด้วยการนำต้นทุนจากองค์ความรู้ท้องถิ่นมาใช้ขับเคลื่อน นี่คือการเมืองภาคประชาชนที่เริ่มขึ้นด้วยพื้นที่ไม่กี่อำเภอ จังหวัดพิษณุโลกเราทำในปีแรกสามเขตพื้นที่ อำเภอบางระกำ อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม คัดกรองเด็กได้ 9,597 คน สามารถช่วยเด็กได้ 558 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500 คน จนถึงปีที่สองได้เพิ่มพื้นที่เป้าหมายกว้างขึ้นเป็น 7 อำเภอ คัดกรองได้อีกราว 8,000 คน และช่วยเหลือได้ที่จำนวน 1,070 คน ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ด้วยการผลักดันของหลากหลายหน่วยงาน จากวันแรกที่มีคณะทำงานเพียงหยิบมือ ถึงวันนี้ทีมงานจังหวัดพิษณุโลกพร้อมเกาะติดงานเด็กเยาวชนนอกระบบกระจายเต็มพื้นที่จังหวัด สิ่งนี้พิสูจน์ว่าแนวคิดเราถูกต้อง ทุกคนเห็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลังจากนี้ทุกฝ่ายยังคงยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อไปในปีที่สามด้วยกัน”