พิษณุโลกโมเดล ระดมทุกหน่วยรุกเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

พิษณุโลกโมเดล ระดมทุกหน่วยรุกเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

“โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกับประชาชน ปัญหาทางเศรษฐกิจและการศึกษามีผลเกี่ยวเนื่องกัน แต่ละครัวเรือนย่อมนึกถึงปากท้องก่อนเรื่องการเรียน ต้องคิดเอาตัวรอด ทำให้สุ่มเสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้นเพื่อไปหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว”

นี่คือบางส่วนจากมุมมองของนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

จังหวัดพิษณุโลกจึงได้มีนโยบายให้จังหวัดทำงานเชิงรุก ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา โดยทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมาคมสุขปัญญา และมูลนิธิพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์

“เราพบว่ามีเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทางทีมงานเตรียมติดตามและคัดกรองเด็กให้ตรงเกณฑ์การช่วยเหลือที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 200 คน โดยทางจังหวัดได้ร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน พาเด็กก่อนที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งพ่อแม่ตัดสินใจว่าจะไม่ส่งลูกเรียนต่อ มาฝึกอาชีพเพื่อให้อย่างน้อยมีความรู้ ไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือ และยังเผื่อไปต่อยอดได้ในอนาคต”

ระดมทุกหน่วยรุกเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

ล่าสุดจังหวัดพิษณุโลกประกาศจับมือ กสศ.เป็นจังหวัดทดลองระดมทุกหน่วยรุกเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดพิษณุโลก ระยะที่ 2 ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาใน 5 อำเภอ คือ อำเภอบางระกำ อำเภอพรหมพิราม อำเภอวังทอง อำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอเมือง สำหรับเด็กปฐมวัยดำเนินการช่วยเหลือใน 7 อำเภอ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมการพัฒนาศูนย์ 30 แห่ง

สำรวจ 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ตั้งเป้า 16,055 คน สำรวจแล้ว 5,150 คน เป้าหมายช่วยเหลือ 1,124 คน ต้องการความช่วยเหลือ 579 คน รวมถึงเด็กที่มีความเปราะบางและมีความต้องการพิเศษด้วย เด็กปฐมวัยตั้งเป้าสำรวจ 6,271 คน สำรวจแล้ว 6,079 คน เป้าหมายช่วยเหลือ 2,500 คน ช่วยเหลือแล้ว 947 คน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ส่งโครงการเพื่อพัฒนาศูนย์ครบ 30 แห่ง

ความร่วมมือของหลายภาคส่วนคือปัจจัยสำคัญในการทำงาน เพื่อให้สามารถดูแลได้ครบวงจร เพราะการทำงานเพียงลำพังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่เข้มแข็งพอ อาจมองภาพการช่วยเหลือไม่ครบวงจร หรือไม่มีกำลังพอที่จะดูแล

คณะทำงานประกอบด้วยทั้งท้องถิ่น ราชการ พมจ. เอกชน ภาคการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา อดีตผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา มาร่วมพูดคุยเพื่อเห็นภาพการทำงานร่วมกัน สามารถสนับสนุนส่งไม้ต่อให้กันได้

“กลไกที่สำคัญคือ ทีมงานในพื้นที่ ที่เป็นผู้จัดการรายกรณี (CM) ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสาในพื้นที่ ซึ่งเป็นทุนเดิมที่เรามี ทำให้สามารถเชื่อมต่อและหาคนทำงานที่ใช่ หาเครือข่ายที่รู้จัก พร้อมประสานไปยังสำนักงานเขตการศึกษาพื้นที่ 1 – 4 และขับเคลื่อนงานในรูปแบบ Snow Ball และยังตั้งเป้าไว้ว่าจะพัฒนาทีมงานในพื้นที่ บนฐานของการทำงานและการเรียนรู้ เพื่อยกระดับให้ทีมงานเป็นมืออาชีพมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป”

ทำงานด้วยหัวใจ

ดร.สุเนตร ทองคำพงษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดพิษณุโลก กล่าวเสริมว่า

การมีทีมงาน CMS ในพื้นที่ย่อยระดับตำบล ระดับอำเภอ ยังมีความจำเป็น เพราะการทำงานสามารถจัดการในระดับพื้นที่ได้ งานจะไม่มากระจุกตัวในระดับจังหวัด พร้อมยกตัวอย่างการลงพื้นที่ของ CM แต่ละครั้ง ต้องไปเจอเคสหนัก ๆ เยอะมาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง CM โทร.มาบอกเราว่าเจอเคสเสี่ยงมาก

“เด็กสาวคนหนึ่งอยู่ในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า คุณลุงเป็นโรคประสาท มีโอกาสที่จะเกิดเรื่องไม่ดีสูงมาก แต่ทาง CM ไม่รู้จะช่วยออกมาอย่างไร เครียดจนนอนไม่หลับ พวกเรารู้อย่างนั้นก็รีบประสานงานกับทาง พม. ทันที รุ่งขึ้นก็สามารถพาน้องออกมาอยู่ที่บ้านพักเด็กได้ CM ของเราก็เบาใจขึ้น มีความสุขมากขึ้น เมื่อ CM ของพวกเราเจอปัญหา เราต้องรีบช่วยเหลือเขาทันที เพื่อให้เขาหลุดออกจากความทุกข์ที่เขาเจออยู่

“ถ้าอยากให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นต้องลงมือทำ เมื่อลงมือทำเราจะพบเจออุปสรรค แต่อุปสรรคที่ก้าวข้ามมาได้จะทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น”

ที่มา :

  1. [LIVE] EEF Forum: โอกาสทางการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน เมื่อการไปโรงเรียนมีต้นทุนสูงเกินครัวเรือนยากจนแบกรับ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564
  2. ข้อมูล: เพจจังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา