รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับทางรัฐบาลฮังการีในการยกระดับพัฒนาคุณภาพหลักสูตรด้านเทคนิคอาชีพและการอาชีวะศึกษา เพื่อฝึกฝนทักษะให้กับนักศึกษาชาวฟิลิปปินส์ รวมถึงเปิดโอกาสด้านการฝึกงานและตำแหน่งงานในต่างประเทศให้กับนักศึกษาสายอาชีวะ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเชื่อว่านักศึกษาอาชีวะเหล่านี้จะเป็นกำลังแรงงานสำคัญที่เป็นที่ต้องการของตลาดในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
สำนักงาน PNA ของทางการฟิลิปปินส์ รายงาน คณะผู้แทนถาวรของฟิลิปปินส์ประจำสหประชาชาติ เปิดเผยผ่านบัญชีทวิตเตอร์ระบุว่า ฟิลิปปินส์และฮังการีจะร่วมมือกันยกระดับและพัฒนาในด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (VET) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) นอกรอบการประชุม International Migration Review Forum ปี 2022 ซึ่งว่าด้วยเรื่องของประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทั่วโลก ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า ทีโอโดโร ลอควิน จูเนียร์ (Teodoro Locsin Jr.) รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ และ เปแตร์ สซิจจาร์โต (Péter Szijjártó) รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี เป็นตัวแทนของสองประเทศในการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ซึ่ง ครอบคลุมความร่วมมือในด้านระบบอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (VET); การพัฒนามาตรฐานสมรรถนะในการประเมิน และการรับรองคุณวุฒิใน VET; การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจด้านโปรแกรมการเคลื่อนไหว วิจัยและพัฒนา; และโครงการพัฒนาบุคลากรต่างๆ
ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้มีขึ้นเพราะฟิลิปปินส์และฮังการีต่างตระหนักว่า การเดินหน้าพัฒนาระบบอาชีวศึกาาและการฝึกอบรม ตลอดจนระบบการศึกษาเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ จะช่วยตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความท้าทายที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การแปลงเป็นดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ
การดำเนินการตามข้อตกลงของทั้งสองประเทศจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ หน่วยงานด้านการศึกษาด้านเทคนิคและการพัฒนาทักษะของฟิลิปปินส์ (The Technical Education and Skills Development Authority) กับ กระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮังการี (Hungary’s Ministry of Innovation and Technology)
นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจร่วมกันฉบับนี้ยังถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุดในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างฟิลิปปินส์กับฮังการี ซึ่งจะครบรอบ 50 ปีในปี 2023
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังมีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่สถาบันเพื่อการพัฒนาศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ หรือ the Philippine Institute for Development Studies (PIDS) ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์มุ่งยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ
อันนิเซโต ออร์เบตา (Aniceto Orbeta Jr.) ประธานสถาบัน PIDS กล่าวระหว่างงานเสวนาในประเด็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของฟิลิปปินส์ที่ทางสถาบันจัดขึ้นร่วมกับเครือข่ายกลุ่มงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจสังคม Socioeconomic Research Portal for the Philippines Network ว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญก็คือการที่จะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการพัฒนาเพื่อการศึกษา เขียนบันทึกรายงาน แล้วนำข้อมูลมาอภิปราย เพื่อดูผลการปฎิบัติงานจากนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง
ประธานออร์เบโต ย้ำว่า ฟิลิปปินส์ไม่ควรกลัวกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้รวบรวมประมวลออกมา ไม่ว่าจะเลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม เพราะผลดังกล่าวเป็นสิ่งที่จะบอกได้ว่าฟิลิปปินส์ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์มามากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ออร์เบโตยังแนะอีกว่า ฟิลิปปินส์ควรเผชิญหน้ากับปัญหาทางการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา และขอความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะผลการประเมินที่ได้ เป็นปัญหาของทั้งรัฐ เอกชน โรงเรียน ครอบครัว และตัวนักเรียนเอง
ยิ่งไปกว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ควรเพิ่มการมีส่วนร่วของภาคเอกชนให้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2021 รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า 80% ของเด็กฟิลิปปินส์ประสบปัญหาว่า “ไม่รู้ว่าตนเองควรรู้อะไร” โดยจากการทำแบบทดสอบประเมินระดับโลก 3 ครั้ง มีเพียง 10-22% ของนักเรียนเกรด 4, เกรด 5 และ เกรด 9 ที่ทำคะแนนความสามารถได้เทียบเท่าหรือเหนือเกณฑ์ขั้นต่ำเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวถูกถอดถอนออกไปหลังจากที่ เลโอนอร์ บริโอเนส (Leonor Briones)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ ออกโรงเรียกร้องให้ขอโทษสำหรับรายงานที่ “ล้าสมัยและดูถูก” เกี่ยวกับสถานการณ์การศึกษาของประเทศฟิลิปปินส์
ประธานสถาบัน PIDS กล่าวว่า ภาคการศึกษาของฟิลิปปินส์ควรปรับตัวให้เข้ากับการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นแนวทางการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เมินเฉยต่อปฎิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ต้องยกระดับให้แน่นแฟ้นขึ้นผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีชั้นเชิง
“ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรืออาจจะเป็นการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน เราเห็นว่าการเรียนรู้ออนไลน์ไม่ได้ผลเพราะนักเรียนส่วนใหญ่ของเรายังคงพึ่งพาการเรียนรู้โดยใช้กระดาษ” ออร์เบตา กล่าว ก่อนชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้ออนไลน์ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นประโยชน์แต่กับคนรวยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงนักเรียนในโรงเรียนรัฐส่วนใหญ่ทั่วประเทศ
กล่าวว่าปัญหาการโต้ตอบสามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านภาระงานแก่ครูเพื่อให้พวกเขาสามารถพูดคุยและโต้ตอบกับนักเรียนได้มากขึ้น ขณะที่ในส่วนของประเด็นด้านความเสมอภาคทางการศึกษา รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยนโยบายที่มุ่งเป้าไปที่คนจน
ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างยั่งยืน ออร์เบตาปิดท้ายว่า วัฒนธรรมการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมของประเทศควรได้รับการปรับปรุงยกระดับด้วยเช่นกัน
ที่มา :