สถานการณ์การศึกษาในอินเดียก้าวเข้าสู่วิกฤตขั้นสุด เมื่อการสำรวจวิจัยหลายฉบับ รวมถึงฉบับล่าสุดจาก องค์กรเอ็นจีโอท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าช่องว่างทางการศึกษาในอินเดียกำลังขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้อินเดียต้องปิดโรงเรียนยาวนานกว่า 1 ปีแล้วหันไปใช้ระบบเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลเพื่อความปลอดภัยและสกัดกั้นการระบาดของไวรัส กระนั้น แนวทางดังกล่าวกลับทำให้เด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสในสังคมอินเดียเข้าไม่ถึงการศึกษามากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงขาดทักษะในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม ทำให้มีพัฒนาการทางการศึกษาล่าช้ากว่าเพื่อนร่วมชั้นซึ่งมาจากครอบครัวมีฐานะ ทั้งยังล่าช้ากว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่ทางกระทรวงศึกษาธิการประเมินไว้
ทั้งนี้ รายงานได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ของเด็กนักเรียนหญิงวัย 10 ปีรายหนึ่งในอินเดียอย่างวรรณดานา มิสตรี (Vandana Mistri) ที่ไม่สามารถเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษได้อย่างครบถ้วน ทั้งๆ ที่การเขียนอักษรอังกฤษทั้งหมดสำหรับเด็กอินเดียทั่วประเทศในวัย 10 ปีสามารถเขียนได้อย่างง่ายดายแล้ว ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนของมิสตรีบางคน ถึงขนาดไม่สามารถจำตัวอักษรอังกฤษได้เลย
ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มิสตรีและเพื่อนๆ ซึ่งทั้งหมดคือ เด็กยากจนและเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทไม่สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้เพราะโควิด-19 และไม่สามารถเข้าเรียนออนไลน์ตามหลักสูตรที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้ได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์การเรียน ไม่มีไฟฟ้าใช้ และเข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต
โดยผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา พบว่า จากนักเรียนเกือบ 250,000 คนในโรงเรียนเทศบาล 1,100 แห่งที่ดูแลเด็กที่อาศัยอยู่ในสลัมในนครมุมไบ มีนักเรียนถึง 1 ใน 3 ไม่ได้เข้าเรียนออนไลน์ ขณะที่ในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจ พบ 76% ไม่ได้เป็นเจ้าของสมาร์ตโฟนและ อีก 43% ไม่สามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ขณะที่บริษัทเลิร์นนิ่ง สไปรัล (Learning Spiral) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชั่นการตรวจสอบออนไลน์ชั้นนำของอินเดีย กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่พร้อมในอุปกรณ์ดิจิทัลคือตัวเร่งให้ประเด็นความไม่เสมอภาคในอินเดียทวีความรุนแรงมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยมานิช โมห์ทา (Manish Mohta) กรรมการผู้จัดการของบริษัท กล่าวชัดเจนว่า ความท้าทายหลักของการเรียนทางไกลของอินเดีย คือความแตกต่างของการเข้าถึงอุปกรณ์และโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่ไฟฟ้า ไปจนถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ อย่างคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ตโฟน
โมห์ทากล่าวว่า มากกว่า 50% ของนักเรียนอินเดียทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มที่อยู่ในเมืองและพื้นที่ชนบท ไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนออนไลน์ได้
ขณะเดียวกัน รายงานจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ซึ่งทำการศึกษาวิจัยร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) พบว่า เด็กจากครอบครัวยากจนมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ล้าหลังเพื่อนในวัยเดียวกัน ขณะที่มีครัวเรือนอินเดียเพียง 24 % เท่านั้น ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต และห้องเรียนออนไลน์ ที่หมายรวมถึงระบบอี-เลิร์นนิง (e-learning) ทั้งหมดในอินเดียได้ แม้แต่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ นักเรียนในโรงเรียนเทศบาลและโรงเรียนรัฐมากกว่า 1.6 ล้านคน ก็ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนสำหรับเรียนออนไลน์
ด้านสัตยาม รอยเชาธุรี (Satyam Roychowdhury) กรรมการผู้จัดการบริษัทเทคโนอินเดียกรุ๊ป (Techno India Group) กลุ่มธุรกิจเพื่อการศึกษาในอินเดีย ระบุว่า การศึกษาในอินเดียจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาสักพักใหญ่ๆ หลังจากนี้กว่าจะที่ชดเชยและฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กที่สูญหายไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมใจยอมรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากการปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19 ซึ่งผลกระทบที่ว่านี้หมายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นอกจากนี้ การศึกษาของจีน เดรซ (Jean Dreze) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในอินเดียยังพบอีกว่า การที่เด็กในระดับอนุบาลไม่ได้ไปโรงเรียน ทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง 30 คน จากทั้งหมด 36 คน ที่สมัครเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในภาคการศึกษาล่าสุด ไม่สามารถอ่านหนังสือออกได้แม้เพียงคำเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยอาซิม เปรมจิ (Azim Premji) ในเมืองบังกาลอร์ ยังพบอีกว่า การปิดโรงเรียน และไม่มีมาตรการทางเลือกที่มีคุณภาพและดีเพียงพอได้ส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการของเด็กอินเดียอย่างชัดเจน แต่ประเด็นที่น่าวิตกยิ่งกว่าก็คือการ “เว้นวรรค” ของเด็ก กลับทำให้เด็กอยู่ใน “ภาวะลืม” คือ เด็กไม่เพียงไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ยังลืมสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ไปแล้วด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสำรวจกลุ่มตัวอย่างแห่งชาติอินเดีย หรือ National Sample Survey Office ในสังกัดกระทรวงสถิติ พบว่า มีนักเรียนอินเดียราว 32 ล้านคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศ ทำให้หลายฝ่ายรวมถึงบริษัทเทคโนอินเดียกรุ๊ป คาดการณ์ว่าตัวเลขเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาของอินเดียดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวในปีนี้ และมีเพียง 1 ใน 3 ของนักเรียนอินเดียทั่วประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด 320 ล้านคนเท่านั้นที่สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ในช่วงโรงเรียนปิดที่ผ่านมา
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอาซิม เปรมจิ พบว่า 67% ของนักเรียนเกรด 2, 76% ของนักเรียนเกรด 3, 85% ของนักเรียนเกรด 4 และ 89% ของนักเรียนเกรด 5 กับ เกรด 6 ต่างสูญเสียทักษะความสามารถอย่างน้อย 1 อย่างเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในจำนวนนี้ทั้งหมดราว 82% สูญเสียความสามารถด้านคณิตศาสตร์และการคำนวณ
ขณะที่โอซามา มันซาร์ (Osama Manzar) ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์การไม่แสวงหาผลกำไร “ดิจิทัล เอ็มพาวเวอร์เมนท์ ฟาวเดชั่น” (Digital Empowerment Foundation) ในกรุงนิวเดลี อินเดีย กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่เสมอภาคทางการศึกษายังเลวร้ายมากขึ้นสำหรับเด็กนักเรียนหญิงของอินเดีย
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ทำให้ปัญหาทางการศึกษาของอินเดียเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำอย่างหนักหน่วงเป็นผลมาจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานและโลกดิจิทัล ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้เด็กหลายล้านคนทั่วประเทศหายไปจากระบบการศึกษาหลักของประเทศ เป็นอันตรายต่อภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอินเดียในระยะยาว
แน่นอนว่า แม้จะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่หลายฝ่ายในอินเดียก็ตระหนักและเข้าใจดีว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีทั้งหลายคือตัวช่วยสำคัญในการจัดการกับความไม่เสมอภาคทางการศึกษาได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเห็นหน่วยงานเอกชน และองค์กรท้องถิ่นชุมชนหันมาจับมือกันใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ แต่โครงการเกือบทั้งหมดที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาติดขัดจากปัญหาการเมืองในท้องถิ่นและโครงสร้างการบริหารของหน่วยงานราชการ หลายองค์กรเอกชนและชุมชนท้องถิ่นจึงใช้ช่วงเวลานี้เรียกร้องให้บรรดานักการเมืองและรัฐบาลอินเดียหันมาสนับสนุนมาตรการและนโยบายที่จะฟื้นฟูระบบการศึกษาของอินเดียได้ทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์การศึกษาของอินเดียในห้วงเวลานี้ มีโรงเรียนบางส่วนสามารถเปิดโรงเรียนให้เด็กกลับไปเรียนได้บ้างแล้ว แต่โรงเรียนหลายแห่งก็เผชิญกับปัญหาที่หวั่นเกรงกันไว้ก่อนหน้า คือจำนวนนักเรียนที่กลับเข้าไปศึกษาต่อในโรงเรียนลดน้อยลง โดยมีทั้งเด็กที่ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับไปเรียนเพราะกังวลด้านความปลอดภัยกับเด็กที่ไม่สามารถสมัครเข้าเรียนได้เพราะความยากจน ส่วนเด็กรายได้น้อยที่กัดฟันมาเรียนได้ก็ต้องเผชิญกับความรู้ที่ล้าหลังเพื่อนร่วมห้อง
ก่อนหน้านี้ รายงานสถานะการศึกษาประจำปี หรือ Aser ของอินเดียในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์โดยองค์กรการกุศล “พระธรรม” (Pratham) พบผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 70% ระบุชัดว่า การสอนแบบดิจิทัลของอินเดีย “ไม่น่าประทับใจ” และมีเพียง 62% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจมีสมาร์ตโฟนใช้ในการเรียน อีกทั้งยังตอกย้ำว่า นักเรียนที่ยากจนที่สุดของอินเดียได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน โดยไม่เพียงได้รับผลกระทบจากการสูญเสียด้านการเรียนรู้ที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสูญเสียพัฒนาการทางสุขภาพร่างกาย เพราะไม่ได้รับสารอาหารจากอาหารกลางวันฟรีที่รัฐให้ทุนสนับสนุนในโรงเรียนรัฐทุกแห่งอีกด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงานหลายแห่งต่างเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการออกแนวทางหรือหามาตรการมาช่วยเหลือฟื้นฟูการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กยากจนของอินเดียหลุดจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้ โดยทางหน่วยงานเอกชนและเอ็นจีโอทั้งหลายต่างแสดงจุดยืนยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากผลลัพธ์จากความร่วมมือครั้งนี้เดิมพันด้วยอนาคตของอินเดียทั้งประเทศ
ที่มา : ‘Their future could be destroyed’: the global struggle for schooling after Covid closures