เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของเมืองเกนส์วิลล์ ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ จัดตั้งโปรแกรมศึกษาพิเศษโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กนักเรียนในพื้นที่สามารถอ่านออกเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะเด็กเล็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษา เนื่องจากทักษะการอ่านถือเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดชีวิต
สื่อท้องถิ่นของเมืองเกนส์วิลล์เปิดเผยว่า โปรแกรมดังกล่าวเป็นโปรแกรม “อ่านออกเขียนได้” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยนำร่องที่โรงเรียนรัฐ Alachua County School District ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ออกแบบโปรแกรมให้เด็กเล็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมีโอกาสและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการอ่าน รวมถึงช่วยให้รู้ว่าการอ่านเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน ทำให้เด็กมีทักษะการอ่านที่คล่องแคล่วขึ้น
รายงานระบุว่า โครงการนำร่องครั้งนี้ ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยสถาบันพื้นฐานการอ่านออกเขียนได้แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา หรือ University of Florida Literacy Institute Foundation ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และได้เปิดเผยโปรแกรมดังกล่าวระหว่างการสัมมนาออนไลน์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา
เควิน เบอร์รี (Kevin Berry) ผู้อำนวยการหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนนำร่องที่นำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ กล่าวว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนต่างตั้งความหวังให้โครงการดังกล่าวสามารถต่อยอดไปจนถึงปีหน้าได้
รายงานระบุว่า ตัวโปรแกรมจะฝึกฝนทักษะการอ่านด้วยการอิงกับวิธีการออกเสียงโดยใช้ประสาทสัมผัส โดยใช้การพูดซ้ำ การเคลื่อนไหวปฏิสัมพันธ์ และความสม่ำเสมอในการสอนการอ่านและการเขียนกับนักเรียนทุกคนที่เข้าร่วมภายใต้ตารางเรียนที่กำหนด ขณะเดียวกัน นอกจากนักเรียนของโรงเรียนที่จะได้รับประโยชน์แล้ว ยังครอบคลุมถึงนักเรียนคนอื่นๆ ที่ต้องย้ายไปเข้าเรียนที่ใหม่ในระหว่างภาคปีการศึกษาด้วยเช่นกัน
คริสเทียนา รอบบินส์ (Christiana Robbins) ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษา Metcalfe Elementary School ซึ่งอยู่ในเขตการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการอธิบายว่า เมื่อมีนักเรียนย้ายเข้ามาใหม่ โรงเรียนจำเป็นจะต้องค้นหาว่า นักเรียนมีระดับความรู้มากน้อยแค่ไหน และจำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมในทักษะด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งการใช้โปรแกรมดังกล่าวนี้ช่วยให้เด็กทุกคนมีทักษะการอ่านที่เข้าใจตรงกัน และการทำให้เด็กมีโอกาสอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอยังช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นเมื่อนักเรียนย้ายไปยังโรงเรียนอื่น
ด้าน ดร.ฮอลีย์ เลน (Holly Lane) ผู้อำนวยการสถาบันการอ่านออกเขียนได้แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida Literacy Institute) กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง ซึ่งสามรถช่วยลูกๆ ในการฝึกฝนทักษะการอ่าน โดยตัวโครงการจะระบุแหล่งข้อมูล เครื่องมือ คำแนะนำ และกลยุทธ์ต่างๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำมาใช้สำหรับกิจกรรมการอ่านที่บ้าน เพื่อช่วยสนับสนุนพัฒนาการด้านการอ่านของลูกๆ ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะการอ่านของผู้อ่านได้
ขณะเดียวกัน เหล่าคุณครูเองก็สามารถใช้รูปแบบเฉพาะของตนเองในบทเรียนโดยทำสิ่งต่างๆ เช่น ร้องเพลง เต้นรำ แต่งตัว ใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก และสิ่งอื่นๆ ที่ออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการอ่านตามความเหมาะสมของตารางเรียนที่กำหนด
“เป้าหมายคือการให้เด็กๆ ได้กลายเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียนเปี่ยมคุณภาพที่ดีมากขึ้น” ดร.เลนกล่าว
นอกจากนี้ ดร.เลนยังกล่าวอีกว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ของโครงการจะจัดสรรเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยครูในการนำโปรแกรมพื้นฐานเพื่อการอ่านไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน โดยจนถึงขณะนี้ ทางโปรแกรมได้รับความร่วมมือในเชิงบวกอย่างท่วมท้นจากบรรดาครูของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
“เราคิดว่าครูตระหนักดีว่านี่เป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลและลูกๆ ของพวกเขาก็ตอบสนองต่อสิ่งนี้ได้ดีมาก ขณะที่ครูของเราบางคนบอกว่าตัวโปรแกรมถือเป็นช่วงเวลาโปรดของเด็กๆ ในวันนี้ ดังนั้น ปฏิกิริยาตอบรับของเด็กดังกล่าวคือบทพิสูจน์ข้อดีทุกอย่างของตัวโปรแกรม” ดร.เลนระบุ
ขณะเดียวกัน ดร.เลนยังได้เอ่ยถึงระบบการทำซ้ำ หรืออ่านซ้ำๆ และออกเสียงอ่านย้ำให้เสียงดังๆ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จดจำ เสริมให้พื้นฐานการอ่านแข็งแกร่ง พัฒนาต่อยอดเป็นอ่านและนักเขียนที่ดีในภายหลัง
ทั้งนี้ มอร์แกน ดักลาส (Morgan Douglas) ครูชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งแห่งโรงเรียนประถมศึกษา Newberry Elementary School กล่าวชื่นชมโครงการว่า เป็นการให้เครื่องมือเพื่อทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน รวมถึง กลายเป็นนักอ่านตัวยงที่มีอิสระในการเลือกที่จะอ่านตามความชอบหรือความต้องการของตนได้ในภายหลัง