เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
ส่งเสริมทักษะอาชีพ ปูเส้นทางอนาคตเยาวชนนอกระบบการศึกษา

ส่งเสริมทักษะอาชีพ ปูเส้นทางอนาคตเยาวชนนอกระบบการศึกษา

ด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้’ หากได้รับโอกาสและการสนับสนุนให้ได้พัฒนาศักยภาพ พวกเขาจะสามารถส่องแสงสว่างที่มีในตัวออกมาได้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในการดำเนินงานของบริษัท เอส ไอ แอล ซี จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้จัดกิจกรรม ‘การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา(ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม) เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ เสริมภูมิคุ้มกันให้เยาวชนนอกระบบการศึกษากว่า 150 คน ให้พร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างมั่นใจว่าจะมีช่องทางในการดูแลตนเองได้

4 ฐานเรียนรู้ทักษะอาชีพ

ภายในศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ทางโครงการได้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย 4 ฐานการเรียนรู้ แบ่งออกตามความสนใจของเยาวชน ได้แก่ ฐานที่ 1 ‘ผ้ามัดย้อม’ เรียนรู้ผ่านวิธีการธรรมชาติ ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในชุมชน เน้นการใช้จินตนาการในการสร้างผลงานให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เสริมด้วยวิทยากรที่ช่วยแนะนำเทคนิคและสาธิตการทำลายบนผ้าและกระเป๋า

ฐานที่ 2 ‘ธุรกิจออนไลน์’ สร้างทักษะขายของในตลาดออนไลน์เพื่อการประกอบอาชีพ เยาวชนจะได้ฝึกฝนออกแบบการสร้างความน่าสนใจในการขายสินค้า โดยวิทยากรจะใช้เครื่องมือ Business Model Generation สำรวจความต้องการของแต่ละคนก่อนเริ่มอบรม และให้มีการทดลองขายของจริงกับเพื่อนๆ ในฐานต่างๆ จากนั้นจะนำข้อมูลมาเป็นฐานในการวางแผนการเปิดร้าน ดูความเป็นไปได้ในการเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงต่างๆ ที่ครอบคลุมเรื่องการตลาด ผลิตภัณฑ์ ทีมงาน เงินทุน และคู่แข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำธุรกิจ พร้อมให้คำปรึกษาเป็นรายคน เพื่อต่อยอดความคิดและสร้างกำลังใจ

ฐานที่ 3 ‘นวดเท้าด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน’ สอนทำครีมนวดเท้าด้วยสมุนไพรพื้นบ้านที่หาง่ายอย่าง ‘ไพล’ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี รวมทั้งสอนทักษะการนวดเท้าที่ถูกต้องซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ โดยวิทยากรจะเริ่มจากแนะนำการทำครีมนวดเท้า จากนั้นสาธิตการนวดท่าต่างๆ การกดจุดฝ่าเท้า และให้น้องๆ ได้จับคู่กันทดลองนวดจริง

ฐานที่ 4 ‘ทำเบเกอรี่’ เรียนรู้ขั้นตอน วิธีการ วัตถุดิบ เด็กๆ จะได้จับอุปกรณ์จริง ลงมือทำขนมจริง ตั้งแต่คุกกี้เนยสด คุกกี้ช็อคโกแลต บราวนี่ เอแคล์ ชิฟฟ่อนเค้กมะพร้าวอ่อน เค้กกล้วยหอม หรือเค้กเนยสด ในบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนานและการแบ่งปันขนมกันชิม

ในกิจกรรมครั้งนี้ โครงการได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และสาขาธุรกิจอาหารและโภชนาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มาเป็นวิทยากรในการจัดกิจกรรมครั้งนี้

การได้เรียนรู้หมายถึงการ ‘ได้รับโอกาส’

ตัวแทนของน้องๆ ได้ร่วมส่งเสียงสะท้อนกิจกรรมว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าอบรม และดีใจที่ได้รับความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตต่อไปได้ ทั้งได้หัดเย็บกระเป๋าและย้อมสีผ้ามัดย้อมจากธรรมชาติด้วยตัวเอง ได้ความรู้และทักษะการนวดเท้า ได้รู้จักขนมชนิดต่างๆ ได้ทดลองทำ ได้มีความสุขที่ได้ทำขนมให้คนอื่นได้กิน รวมถึงการได้รู้จักการทำการตลาดออนไลน์ ที่จะนำไปขายผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งอาจจะต่อยอดเป็นอาชีพหลักได้ในอนาคต

ที่สำคัญคือการเรียนรู้ในวันนี้ทำให้รู้สึกว่าได้รับโอกาส ได้เห็นพลังของคนที่พร้อมช่วยเหลือ เป็นความรู้สึกอบอุ่น แล้วยังได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยหลายคนมีความฝันที่จะสร้างธุรกิจของตัวเอง แต่มองไม่เห็นว่าจะหาทางไปได้อย่างไร หลังจากวันนี้ที่ได้เรียนได้รับฟังคำแนะนำจากวิทยากร ก็เหมือนกับไฟในตัวได้ถูกปลุกขึ้น ทั้งด้านการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และกำลังใจในการลงมือทำงานจริง

ขณะที่บางคนบอกว่ากิจกรรมครั้งนี้กระตุ้นให้สนใจอยากเรียนรู้มากขึ้น อยากเรียนต่อ เพื่อจะได้พัฒนาตนเองจนสามารถนำความรู้ไปสอนคนในครอบครัวและหารายได้ได้

สร้างพลังใจเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

ทางด้าน ‘ครูจิ’ จิรารัตน์ ไชยยงค์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กล่าวหลังจากได้ดูแลน้องๆ ตลอดกระบวนการทำกิจกรรมว่า เป็นสิ่งที่ดีในการเติมเต็มเรื่องอาชีพให้กับเยาวชน ให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน คิดว่าเด็กบางคนที่มุ่งมั่นจริงๆ และมีครอบครัวที่ประกอบอาชีพตรงกับฐานการเรียนรู้ จะนำความรู้ออกไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ ต้องขอขอบคุณ กสศ. และบริษัท เอส ไอ แอล ซี ที่ทำให้กิจกรรมดีๆ แบบนี้เกิดขึ้น

ผอ.ฉอ้อน สวยรูป ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาเด็กและเยาวชนเขต 5 อุบลราชธานี กล่าวว่า การที่มีหน่วยงานข้างนอกเข้ามาจัดกิจกรรมถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพเพิ่มเติมจากที่ทางศูนย์ฝึกฯ จัดการเรียนการสอนให้  โดยทางศูนย์ฝึกฯ เขต 5 ตั้งใจที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทางเลือกในการพัฒนาตนเองที่หลากหลาย เพราะเด็กเราส่วนใหญ่จะขาดโอกาสด้านการศึกษาและอาชีพ

“อีกอย่างที่เห็นคือเด็กมีความตั้งใจมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขามองว่าถ้าจะทำงานได้จะต้องเข้าไปเรียนในระบบเท่านั้น แต่พอเขาได้อบรมตรงนี้ ทำให้เขารู้ว่ามันก็มีอีกหนึ่งทางเลือกที่นำไปประกอบอาชีพได้ กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการให้โอกาสเด็กจริงๆ อยากให้มีจัดครั้งต่อไปอีกเรื่อยๆ”

‘ครูยีนส์’ ชวพจน์ ศุภสาร อาจารย์คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตัวแทนวิทยากรในกิจกรรม กล่าวว่า กระบวนการวันนี้วางแผนมาเพื่อสร้างกำลังใจ ให้มุมมองกับน้องๆ สร้างพลังในการเริ่มทำธุรกิจ รวมถึงแนะนำเครื่องไม้เครื่องมือในโลกการตลาดออนไลน์ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและใช้ได้ทันที เพราะในวันที่เขาเดินออกจากที่นี่ไปแล้วอยากสร้างรายได้จากการค้าขาย จากการทำธุรกิจ เขาจะรู้ว่าควรเริ่มจากอะไรก่อน ต้องขอบคุณโครงการที่มีประโยชน์และเปิดมุมมองให้กับเด็กๆ ในศูนย์ฯ ให้เขาได้เห็นว่าโลกข้างนอกมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เขาจะต้องตั้งรับและปรับตัว เพื่อจะออกไปสู่โลกกว้างในฐานะเยาวชนที่มีคุณภาพต่อไป

สำหรับแผนงานต่อไปของโครงการฯ จะมุ่งขยายผลไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยสร้างกลไกการสนับสนุนและความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การส่งต่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดความยั่งยืน เพื่อหยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับความรู้ ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ต่อยอดความฝันของตัวเอง และเพื่อให้ได้รับการขัดเกลาพัฒนาทักษะ ก่อนกลับออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้ด้วยแสงสว่างที่มีในตัวเองอีกครั้ง

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค