ยูเนสโกเผยรายงานตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
โดย : VOA News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ยูเนสโกเผยรายงานตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ร่วมมือกับ ไออีเอ เผยผลการศึกษาสถานการณ์การเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด พบการระบาดกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของแต่ละประเทศชัดเจนขึ้น โดยนักเรียนที่มีความพร้อมทางครอบครัว โรงเรียน และการสนับสนุนจากรัฐมากกว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ดีกว่าและได้รับผลกระทบจากภาวะชะงักงันทางการศึกษาเพราะโควิด-19 ได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ครอบครัวไม่พร้อม โรงเรียนขาดทรัพยากร และรัฐไม่มีนโยบายหรือทุนสนับสนุนทั่วถึงเต็มที่ 

ทั้งนี้ รายงานการศึกษาในครั้งนี้จัดทำขึ้นภายใต้แนวคิดว่าทำอย่างไรนักเรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระหว่างที่ปิดโรงเรียนหรือในระหว่างที่โรงเรียนไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติได้

โดยข้อมูลจาก ยูเนสโก เมื่อเดือนเมษายนปี 2020 พบว่า มีนักเรียนอย่างน้อย 1,100 ล้านคนใน 114ประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดใหญ่และการปิดโรงเรียน แต่ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ความพร้อมของโรงเรียน และนโยบายสนับสนุนของประเทศต่างๆ กลับเป็นแรงผลักดันที่ทำให้นักเรียนบางคนมีความพร้อมมากกว่าคนอื่นๆ ในการที่จะประสบความสำเร็จในช่วงที่เกิดภาวะชะงักงันเหล่านี้

การศึกษาครั้งใหม่ล่าสุดนี้จัดทำขึ้นโดยสมาคมระหว่างประเทศเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือ International Association of Educational Achievement (IEA) ภายใต้ความร่วมมือกับทาง ยูเนสโก ในการสำรวจวิธีการสอนและวิธีการเรียนรู้ที่ใช้ใน 11 ประเทศในช่วงของการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา 

รายงานระบุว่า การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจผู้บริหารและผู้นำโรงเรียนมากกว่า 1,500 คน ครูอาจารย์อีก 15,000 คน และนักเรียนอีก 21,000 คน จาก 4 ประเทศในทวีปแอฟริกา, จาก 3 ประเทศในยุโรป, 2ประเทศในเอเชีย, และอีก 2 ประเทศในอเมริกาใต้และตะวันออกกลาง ครอบคลุมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา

โดยพบว่า ในช่วงเวลาที่ปิดโรงเรียน ประเทศทั้งหมด 11 ประเทศที่เข้าร่วมนี้มีวิธีการสอนและวิธีการเรียนรู้ที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก บางประเทศสามารถเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ 

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในภูมิภาคยุโรปอย่างเดนมาร์ค และสโลวีเนีย นักเรียนมากกว่า 95% สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปเพื่อใช้ทำการบ้าน ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศในแอฟริกา อย่าง บูร์กินาฟาโซ เอธิโอเปีย และเคนยา มีนักเรียนไม่ถึง 10% เปอร์เซ็นต์ที่มีแล็ปท็อปใช้เพื่อการเรียนของตนเอง

นอกจากนี้ โดยรวมแล้ว มีนักเรียนถึง 10% ที่ยอมรับว่าตนเองไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือหรือทรัพยากรที่มากพอที่จะใช้ทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสิ้นลุล่วงได้

กระนั้น ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรด้านดิจิทัลที่เพียงพอก็สรรหาวิธีการอื่นๆ ในการติดต่อเข้าถึงนักเรียนที่อยู่นอกรั้วโรงเรียน โดยหนึ่งในวิธียอดนิยมก็คือการออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ยืนยันได้จากรายการเพื่อการศึกษามีเพิ่มมากขึ้นในบางประเทศ เช่น รวันดา เคนยา และรัสเซีย

ขณะที่ในบางประเทศที่โรงเรียนต้องปิดทำการ ก็ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่อยู่ว่างเป็นเวลานานโดยที่ไม่ได้เรียนหนังสือเลย ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาอย่าง ประเทศบูร์กินา ฟาโซ  เอธิโอเปีย และเคนยา ที่มีรายงานว่านักเรียนว่างเว้นจากการทำการบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือน

ทั้งนี้ เดิร์ค แฮสเท็ดท์ (Dirk Hastedt) ผู้บริหารระดับสูงของ IEA หนึ่งในองค์กรชั้นนำด้านการศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือกลุ่มนักเรียนยากจนในแต่ละประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด เพราะนักเรียนยากจนที่แต่เดิมก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักอยู่แล้ว จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในระหว่างที่โรงเรียนต้องหยุดชะงัก หลายๆ คนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรดิจิทัลได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น หลายครอบครัวของนักเรียนยังประสบปัญหาทางการเงินอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนเหล่านั้น ยังไม่นับรวมถึงความจำเป็นของนักเรียนบางคนที่ต้องรับหน้าที่ดูแลสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว

รายงานผลการศึกษาได้ยกตัวอย่างในกรณีของประเทศเคนยา ที่นักเรียนถึง 63 % ยอมรับว่า ไม่พ่อก็แม่ ประสบปัญหาตกงานเพราะไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักจนต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ขึ้นมาใช้ ขณะที่ในเอธิโอเปีย เด็กนักเรียนเกือบครึ่ง ระบุว่าต้องดูแลน้องๆ ที่บ้าน ซึ่งทำให้มีเวลาในการเรียนน้อยลง

ในฐานะตัวแทนจาก ไออีเอ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควารใช้อำนาจหน้าที่ที่มี เร่งหาวิธีที่จะเข้าถึงนักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด ส่วนในอนาคตก็จำเป็นต้องหาวิธีที่จะช่วยให้นักเรียนเหล่านี้กลับมาเรียนตามให้ทัน ป้องกันไม่ให้มีการเรียนถดถอยลงไปกว่าเดิม

นอกจากนี้แล้วการระบาดใหญ่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนและครูอีกด้วย นักเรียนส่วนใหญ่ในแปดประเทศที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า จิตใจของพวกเขาได้รับความทุกข์ทรมานระหว่างการระบาดใหญ่ อย่างเช่นที่อินเดีย คุณครู 85 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม ทางด้านรัสเซีย ครู 64 เปอร์เซ็นต์รายงานว่ารู้สึกเหนื่อยเกือบตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี แฮสเท็ดท์กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีบทบาทมากกว่าการเป็นที่สอนและเป็นที่เรียนรู้เท่านั้น แต่โรงเรียนยังมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนอีกด้วย เพราะโรงเรียนเป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกๆ คน

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของนักเรียน ครู และบุคลากรเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในโรงเรียน โดยนักเรียนส่วนใหญ่ใน 8 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจยอมรับว่าสุขภาพทางจิตของตนได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมาก 

ขณะที่คุณครูเองก็ได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจเช่นกัน โดยครู 85% ในอินเดียกล่าวว่า ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมทางด้านสุขภาพจิต ส่วนครู 64% ในรัสเซียยอมรับว่ารู้สึกเหนื่อยอยู่เกือบตลอดเวลา และครูส่วนใหญ่ในหลายประเทศต่างต้องทำงานภายใต้ความหวาดกลัวว่าตนเองจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19ขณะปฏิบัติหน้าที่ 

กระนั้น โชคดีว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศเปิดรับฟังความต้องการของครูและนักเรียนอย่างเต็มที่ โดยประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการสำรวจ พบว่า มีโรงเรียนที่เพิ่มแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือครูและนักเรียนตามที่ร้องขอเพิ่มขึ้นถึง 50% และผู้บริหารโรงเรียนหลายคนรายงานว่ามีการใช้ที่ปรึกษาเข้ามาช่วยแนะแนวโรงเรียนและแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิตอื่นๆ เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังให้ความรู้ครูในการให้ความช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องสุขภาพทั้งทางอารมณ์และร่างกายอีกด้วย

แฮสเท็ดท์ สรุปว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีบทบาทมากกว่าการเป็นที่สอนและเป็นที่เรียนรู้เท่านั้น แต่โรงเรียนยังมีบทบาทสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคน ๆ หนึ่ง เพราะโรงเรียนเป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกๆ คน

ที่มา : Report Examines Teaching, Learning During COVID in 11 Countries