กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์เผยกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาทบทวนแนวทางการกำหนดราคาอาหารในโรงเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนด้านราคาที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการในโรงอาหารโรงเรียนสะท้อนความจำเป็นในการปรับขึ้นราคาแต่หากได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้นก็ยินดีไม่ขึ้นราคาอาหารเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่นักเรียนสามารถกินอิ่มและมีแรงเล่าเรียนหนังสือ
“โรงเรียนควรมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาอาหารในโรงอาหารได้เพื่อสะท้อนต้นทุนพื้นฐานของรายการอาหาร ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึงการรักษาอาหารราคาไม่แพงสำหรับนักเรียน”
แถลงการณ์กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ระบุอย่างชัดเจน
เว็บไซต์สื่อท้องถิ่นออนไลน์ของสิงคโปร์รายงานว่า นักเรียนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาอาจต้องจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มที่โรงอาหารในราคาที่แพงขึ้น หลังจากทางกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ประกาศทบทวนแนวทางการกำหนดราคาของโรงอาหารโรงเรียน
รายงานระบุว่า ครั้งสุดท้ายที่ทางกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ปรับเกณฑ์กำหนดราคาโรงอาหารของโรงเรียนเกิดขึ้นในปี 2018 ขณะที่การเพิ่มราคาภายใต้เกณฑ์ใหม่สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษาและวิทยาลัย ต้องอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 1 ดอลลาร์สิงคโปร์
แถลงการณ์จากกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ให้รายละเอียดว่า ด้วยต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้น จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาโรงอาหารของโรงเรียนเพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนในการพิจารณาราคาอาหารโรงอาหาร อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางเกณฑ์การปรับราคาจะต้องมีราคาไม่แพงสำหรับนักเรียนและเป็นรายได้ที่เพียงพอสำหรับพ่อค้าแม่ค้าในการดำรงธุรกิจของตน สำหรับครอบครัวที่ขัดสน ทางกระทรวงฯ ยืนยันว่า จะมีมาตรการในการให้ ‘เงินอุดหนุน’ ผ่านกระทรวงศึกษาธิการหรือการสนับสนุนของโรงเรียน เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนจากครอบครัวรายได้น้อยจะมีอาหารกินอิ่มท้องเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวได้เปิดเผยเสียงสะท้อนจากการพูดคุยกับเจ้าของร้าน 4 แห่งที่เช่าพื้นที่โรงอาหารโรงเรียน ซึ่งหลายรายยังคงมีความกังวลว่า การกำหนดเกณฑ์ราคาดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้
เจ้าของร้านอาหารโรงอาหารรายหนึ่งในโรงเรียนประถม เมือง Sembawang กล่าวว่า ราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่เกิดเหตุไวรัสโควิด -19 ระบาด เช่น ไก่แช่แข็งหนึ่งห่อ ราคา 5.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อกิโลกรัม จากเดิม 4 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปีที่แล้ว หรือราคาของชีสก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน มอสซาเรลล่าชีสแพ็คขนาด 2 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 24 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่ปีก่อนราคาอยู่ที่ 18 ดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น
“ทางโรงเรียนอนุญาตให้ขึ้นเพียง 10 เซนต์ต่อจาน สำหรับอาหารที่มีชีสเป็นส่วนประกอบ ซึ่งราคาดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับต้นทุนของร้านอาหาร ทุกวันนี้ รายได้ที่ได้จากร้านอาหารมีเพียงพอแค่จ่ายเงินเดือนและค่าเช่า รวมถึงซื้อวัตดุดิบขายวันต่อวันเท่านั้น” เจ้าของร้านอาหาร ระบุ
ขณะที่เจ้าของร้านในโรงอาหารรายอื่นให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยยืนยันว่า ควรต้องขึ้นราคาอย่างน้อย 20-30 เซนต์ต่อจาน จึงจะเพียงพอให้อยู่ได้ แต่หากไม่ต้องการให้ร้านอาหารโรงอาหารขึ้นราคาก็จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้านอื่น เช่น เงินชดเชยมารองรับ
เจ้าของร้านขายแซนด์วิชและเบอร์เกอร์ในโรงเรียนประถมในเมือง Bukit Batok กล่าวว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ทางร้านไม่เคยปรับขึ้นราคาอาหารเลย เนื่องจากเกรงว่านักเรียนที่มีฐานะยากจนและเป็นนักเรียนในโครงการทุนของรัฐจะไม่มีกำลังซื้อที่เพียงพอ หรือไม่เช่นนั้น ทางกระทรวงฯ ก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนอุดหนุนต่อหัวให้กับนักเรียนยากจน
เช่นเดียวกับ Roszini วัย 39 ปี เจ้าของร้านขายข้าวมันไก่ที่โรงอาหารของโรงเรียนแองโกล-จีน บนถนนบาร์คเกอร์ กล่าวว่า จำเป็นต้องขออนุญาตทางโรงเรียนขึ้นราคาอาหาร 30-50 เซนต์ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ในขณะเดียวกัน การขึ้นราคานั้นก็ต้องอยู่ในระดับที่ยังทำให้ร้านสามารถขายอาหารราคาไม่แพงให้กับนักเรียนได้ ก่อนเสริมว่าราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารในคอนเทนเนอร์ขนาด 17 ลิตรเพิ่มขึ้นสองเท่าตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้านอาหารส่วนใหญ่ในโรงอาหารโรงเรียนกล่าวตรงกันว่า หากเลือกได้และสามารถอยู่ได้ ก็ยินดีที่ไม่ขึ้นราคาอาหาร เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการที่นักเรียนสามารถกินอิ่มและมีแรงเล่าเรียนหนังสือ