โรงเรียนทั่วญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำอาหารมื้อกลางวันให้กับบรรดานักเรียนที่โรงเรียน เนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงแตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี ทำให้ต้นทุนอาหารกลางวันในการทำแต่ละครั้งสูงขึ้นจากเดิมจนหลายโรงเรียนเริ่มแบกรับภาระไม่ไหวแล้ว
หนังสือพิมพ์เจแปน ไทม์ส ของญี่ปุ่นรายงานโรงเรียนทั่วญี่ปุ่นในขณะนี้กำลังมีปัญหาในการจัดหาอาหารกลางวันให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะราคาวัตถุดิบในการทำอาหาร ทั้งเนื้อ ผัก และผลไม้ แพงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกที่แพงขึ้นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลายโรงเรียนพยายามลดต้นทุนด้วยการเปลี่ยนวัตถุดิบ โดยเลือกที่มีราคาถูกลง แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนวัตถุดิบก็จำเป็นต้องให้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานทางโภชนาการที่จำเป็นสำหรับอาหารกลางวันที่โรงเรียน
รายงานระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อ ให้ความช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มงบประมาณค่าอาหารของโรงเรียน หรือใช้งบสาธารณะเข้ามาใช้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านอาหารในส่วนที่เกินเพิ่มเติมขึ้นมา
ชินยะ คาตาโอกะ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการด้านการศึกษาของจังหวัดนาโกย่า กล่าวว่า ขณะนี้ โรงเรียนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในการจัดหาอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวน 110,000 คนทุกวัน
โดย คาตาโอกะ ได้ยกตัวอย่าง ราคาน้ำมันรำข้าว ซึ่งครัวญี่ปุ่นนิยมใช้ในการปรุงของทอด ที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามีราคาอยู่ที่ 318 เยนต่อกิโลกรัม แต่ราคาในปัจจุบันขยับขึ้นเหล่าสิบเยน และคาดว่าราคาน้ำมันรำข้าวจะขยับปรับเพิ่มขึ้นถึง13.2 มาอยู่ที่ 360 เยนในเดือนกรกฎาคมนี้
ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ราคามายองเนสว่าจะเพิ่มขึ้น 18.5% มันหวานเพิ่มขึ้น 16.6% และเนื้อวัวออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 10.4%
โดยปกติแล้วโรงเรียนจะใช้อาหารและเครื่องปรุงรสประมาณ 1,000 รายการสำหรับทำอาหารกลางวันที่โรงเรียน ซึ่งเมนูต่างๆ จะตัดสินตามการคาดการณ์ราคาต่อหน่วยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารมื้อกลางวันที่โรงเรียนในแต่ละมื้อจะมีความสมดุลทางโภชนาการ ในราคาที่เหมาะสม
ขณะนี้ ทางเทศบาลจังหวัดนาโกย่า ได้จัดการปรับขึ้นค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาขึ้นอีก 600 เยนเป็น 4,400 เยนต่อหัวต่อเดือน (ราว 1,136 บาท) ซึ่งงบประมาณที่ปรับขึ้นดังกล่าว ทางเทศบาลมั่นใจว่าโรงเรียนจะสามารถจัดหาอาหารกลางวันเปี่ยมโภชนาการที่โรงเรียนได้เป็นเวลา 5 ปี แม้ราคาอาหารจะมีการปรับขึ้นปีละประมาณ 1% ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของคาตาโอกะ วิกฤตเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดขณะนี้ทำให้เกรงว่ามีความเป็นไปได้ที่โรงเรียนอาจประสบกับปัญหาการจัดทำอาหารกลางวันก่อนสิ้นปีงบประมาณปัจจุบันในเดือนมีนาคมปี 2023
ขณะที่ในเมืองมัทสึซากะ จังหวัดมิเอะ ตัดสินใจแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบในราคาที่ถูกลงสำหรับอาหารบางรายการของมื้ออาหารกลางวันที่โรงเรียน เพื่อรักษาต้นทุนราคาหนึ่งมื้อให้เท่าเดิม
โรงเรียนในเมืองมัทสึซากะกล่าวว่า มีการลดปริมาณหัวหอมในผัดผัก เนื่องจากราคาหัวหอมแพงขึ้น และแทนที่ด้วยแครอทและรายการอื่นๆ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนประเภทและส่วนของเนื้อสัตว์ที่รวมอยู่ในอาหารกลางวันด้วย
ทั้งนี้ ทางเมืองมัทสึซากะต่างพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ที่จะไม่เปลี่ยนเมนูเพื่อไม่ให้กระทบกับประสบการณ์มื้ออาหารกลางวันของเด็กๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับฤดูกาลของวัตถุดิบอาหาร ซึ่งเป็นจุดประสงค์เบื้องต้นของโรงเรียนในการสอดแทรกความรู้ในมื้ออาหาร
อีกทั้ง การเปลี่ยนหรือเพิ่มส่วนผสมใหม่ยังหมายถึงโรงเรียนต้องใช้มาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งในเมืองมัทสึซษกะ กล่าวว่า บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีฐานะการเงินดีมีไม่มาก ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงไม่สามารถเพิ่มค่ามื้ออาหารกลางวันที่โรงเรียนได้โดยง่าย
ส่วนที่เมืองคิตะกาตะ ในจังหวัดกิฟุ ทางการตัดสินใจใช้เงินทุนสาธารณะเพื่อเลี้ยงขนมในมื้อกลางวันของโรงเรียนประมาณเดือนละ 2 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เนื่องจากเด็กๆ ตั้งตารอที่จะได้รับประทาน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีขึ้น หลังคณะกรรมการการศึกษาของเมืองคิตะกาตะพบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ไม่สามารถเสิร์ฟของหวานในอาหารกลางวันที่โรงเรียนได้แม้แต่ครั้งเดียว เนื่องจากทางการพยายามจัดอาหารกลางวันให้สมดุลด้วยโภชนาการที่ดีในขณะที่หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของเมืองซูระงะ จังหวัดฟุคุอิในเดือนเมษายนได้ขึ้นค่าอาหารกลางวันรายเดือนของโรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่งที่ทำอาหารกลางวันในบริเวณโรงเรียนจาก 100 เยนเป็น 200 เยน
รายงานระบุว่า โรงเรียนหลายแห่งทั่วญี่ปุ่นต่างรับมือกับราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเปลี่ยนไปใช้สินค้าราคาถูกลงโดยที่ยังคงจำนวนจานไว้ แต่เนื่องจากทางโรงเรียนยังคงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา โรงเรียนจึงไม่สามารถลดคุณค่าทางโภชนาการของอาหารกลางวันได้อีกต่อไป
ฮิโรโกะ นาคาซาวา ศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์อาหารและสุขภาพ (Department of Food and Health Sciences) แห่งมหาวิทยาลัยนากาโน่ ได้เสนอให้รัฐบาลใช้โอกาสการขึ้นราคาโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารนำเข้าทบทวนเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน
ศาสตราจารย์นาคาซาว่า กล่าวว่า ญี่ปุ่นค่อนข้างอ่อนด้อยในเรื่องของการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอาหารที่นำเข้ามา ดังนั้น ทางโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องวางแผนในระยะยาว ด้วยการเปลี่ยนไปใช้เมนูที่ใช้รายการอาหารที่ผลิตในประเทศมากขึ้น
“อาหารกลางวันที่โรงเรียนถือเป็นแหล่งสารอาหารล้ำค่าสำหรับเด็กในระยะการเจริญเติบโต และยังทำหน้าที่เป็นสื่อการสอน (สำหรับพวกเขา) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ (ความจำเป็นในการส่งเสริม) การผลิตในท้องถิ่นเพื่อการบริโภคในท้องถิ่นและวัฒนธรรมอาหาร” ศาสตราจารย์นาคาซาวากล่าว
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์นาคาซาวาแนะนำว่า โรงเรียนสามารถแบ่งมื้ออาหารออกเป็นอาหารประจำวันและอาหารตามเทศกาล ขณะที่ข้าวก็ให้ใช้ข้าวที่ส่วนใหญ่สามารถปลูกภายในประเทศมาเสิร์ฟเป็นอาหารประจำวันได้ ในขณะที่ขนมปังซึ่งทำมาจากข้าวสาลีและนำเข้ามาส่วนใหญ่สามารถนำมาเสิร์ฟเป็นอาหารสำหรับงานกิจกรรมพิเศษแทนได้
สำหรับค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนซึ่งจ่ายโดยผู้ปกครองในเขตเทศบาลหลายแห่ง นากาซาวะหวังว่าการใช้เงินทุนสาธารณะเพื่อครอบคลุมค่าธรรมเนียมจะแพร่หลายมากขึ้น เหมือนในประเทศสวีเดนที่งบประมาณค่าอาหารของโรงเรียนได้รับการคุ้มครองโดยกองทุนสาธารณะทั้งหมด
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น เพื่อจัดสรรเงินทุนให้สามารถเลี้ยงอาหารกลางวันที่โรงเรียนแก่นักเรียนได้ ทางกระทรวงฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นใช้เงินช่วยเหลือพิเศษที่รัฐบาลส่วนกลางมอบให้เพื่อช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยและเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพื่อหวังแบ่งเบาภาระของรัฐบาลส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์นาคาซาวา กล่าวว่า แม้การรักษาและเพิ่มคุณค่าของเมนูเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ต้องการให้แก้ปัญหาโดยเน้นเฉพาะมาตรการระยะสั้นเท่านั้น และหวังว่ารัฐบาลจะเปิดมุมมองขให้กว้างขึ้นและคำนึงถึงการวางแผนอนาคตของอาหารกลางวันโรงเรียนญี่ปุ่นอย่างยั่งยืน
ที่มา : Schools in Japan struggle to serve affordable lunches as food prices surge