องค์กรสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายกับรัฐบาลนานาประเทศมากกว่า 60 ชาติ และหน่วยงานและองค์กรพันธมิตรในสังกัดของ UN อีก 50 แห่ง เปิดตัวโครงการจัดหาส่งมอบอาหารกลางวันที่โรงเรียนให้กับเด็กยากจนจำนวนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
นิตยสารไทม์ (TIME) รายงานว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งฟื้นฟูโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนที่มีอยู่เดิม แต่ต้องหยุดชะงักไปนานกว่า 1 ปี เพราะวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นมีนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาได้รับหรือต้องพึ่งพาอาหารกลางวันของโรงเรียนทั่วโลกอยู่ที่ราว 388 ล้านคน
นอกจากนี้ยังเป็นไปเพื่อผลักดันให้เยาวชนด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มเสี่ยงอีกราว 73 ล้านคน ซึ่งไม่เคยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอาหารกลางวันก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 ได้เข้าร่วมรับประทานอาหารที่โรงเรียนในครั้งนี้ด้วย
รายงานระบุว่า โครงการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า School Meals Coalition หรือ “ความร่วมมือเพื่อมื้ออาหารโรงเรียน” โดยมีประเทศฝรั่งเศสและฟินแลนด์เป็นแกนนำหลัก และเพิ่งจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับการเปิดตัวในครั้งนี้ ทางเครือข่ายยังได้เปิดเผยเป้าหมายระยะยาวของโครงการ คือการสร้างหลักประกันเพื่อรับรองว่าเด็กทุกคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทั่วโลก จะได้รับมื้ออาหารเปี่ยมโภชนาการและเต็มไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่โรงเรียนภายในปี 2030
ยุกกะ สโลวารา (Jukka Salovaara) ผู้แทนพิเศษของฟินแลนด์ประจำสหประชาชาติระบุว่า โครงการมื้ออาหารที่โรงเรียน หรือ School meals นี้เป็น เครื่องมือที่ช่วยรักษาความเท่าเทียมทางสังคม และอาหารที่ดีมีประโยชน์สามารถสร้างเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมภายในชุมชนได้
ผู้แทนพิเศษของฟินแลนด์ประจำสหประชาชาติกล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีการริเริ่มเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ด้วยเป้าหมายของความร่วมมือที่ต้องการเข้าถึงเด็กทุกคนให้ได้ภายในปี 2030 ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากสังคมโลกในวงกว้างอีกมาก
ด้านโอลิเวียร์ ริชาร์ด (Olivier Richard) ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธกิจเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศสกล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวว่า มื้ออาหารโรงเรียนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการช่วยฟื้นฟูสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เหตุผลเพราะมื้ออาหารโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ไปโรงเรียน นอกเหนือไปจากการช่วยยกระดับโภชนาการ สุขภาพ และพัฒนาการทางการศึกษาของเด็กแต่ละคน
นอกจากนี้ริชาร์ดยังยอมรับว่าความร่วมมือของกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องให้หน่วยงานของสหประชาชาติที่มีการดำเนินงานและภาคีเครือข่ายทั่วโลกเข้าร่วมผลักดันโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ร่วมของการเปิดตัวโครงการ หน่วยงาน 5 แห่งในสังกัดสหประชาชาติได้แสดงจุดยืนสนับสนุนความรณรงค์เคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรเพื่อมื้ออาหารโรงเรียน โดยระบุชัดเจนว่า โครงการด้านสุขภาพและโภชนาการของโรงเรียนสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาของเด็กนักเรียนและวัยรุ่น อีกทั้งยังสามารถช่วยต่อสู้กับความยากจน ความหิวโหย และภาวะทุพโภชนาการของเด็กได้ในทุกรูปแบบ
โดย 5 หน่วยหลักของยูเอ็นที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ประกอบด้วยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (U.N. Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (U.N. Children’s Fund), โครงการอาหารโลก (World Food Program – WFP) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO)
“โครงการพันธมิตรเครือข่ายมื้ออาหารโรงเรียนดึงดูดเด็กๆ ให้มาโรงเรียน และมีส่วนในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว” เนื้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ที่ลงนามด้วยภาคีเครือข่ายของรัฐบาลและหน่วยงานของยูเอ็นระบุ
ตามรายงานของกลุ่มเครือข่ายพันธมิตร จำนวนนักเรียน 388 ล้านคนที่ได้รับอาหารกลางวันที่โรงเรียนก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกๆ สองคนทั่วโลก
คาร์เมน เบอร์บาโน (Carmen Burbano) ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (World Food Program – WFP) ที่มุ่งจัดการแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2020 มีเด็ก 370 ล้านคนทั่วโลกสูญเสียการเข้าถึงอาหารเนื่องจากโรงเรียนปิดตัวลง ทำให้โดยพื้นฐานแล้ว โควิด-19 ทำให้โครงการมื้ออาหารที่โรงเรียนที่ทำมาทั้งหมดนี้พังทลายลง
“ปัจจุบัน ข้อมูลล่าสุดของเราคือ เด็ก 238 ล้านคนได้กลับมาเข้าถึงโปรแกรมเหล่านี้อีกครั้ง แต่เราประเมินได้ว่ายังมีเด็กอีก 150 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงโปรแกรมเหล่านั้นได้ในขณะนี้ สาเหตุหลักมาจากโรงเรียนต่างๆ ยังคงปิดให้บริการในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก”
เบอร์บาโนกล่าวอีกว่า ตัวเลขเด็ก 73 ล้านคนที่ไม่ได้รับอาหารก่อนเกิดการระบาดใหญ่นั้นอยู่ใน 60 ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ซึ่งอาศัยอยู่ในสถานะยากจนขั้นรุนแรงและ 80% ของคนกลุ่มนี้อยู่ในแอฟริกา
ทั้งนี้ ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลต่างๆ ใช้เงินงบประมาณระหว่าง 4-5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจากงบประมาณประเทศสำหรับโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน ดังนั้นเป้าหมายแรกของกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรคือการเรียกร้องให้ผู้นำฟื้นฟูสิ่งที่เคยทำก่อนเกิดการระบาดครั้งใหญ่ เบอร์บาโนกล่าวย้ำ
โดยผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกรายนี้คาดว่าน่าจะต้องใช้เงินงบประมาณราว 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้โครงการมื้ออาหารโรงเรียนสามารถเข้าถึงเด็ก 73 ล้านคน ที่ตกหล่นจากการดำเนินการของโครงการในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดได้
ยิ่งไปกว่านั้น เบอร์บาโนยังประเมินอีกว่า ในตัวเลขงบประมาณดังกล่าว ราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐจะมาจากงบประมาณในประเทศ และอีก 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐจะมาจากผู้บริจาคเพื่อช่วยเหลือประเทศที่เปราะบางมากในบางพื้นที่ของแอฟริกา รวมถึงในประเทศที่ยังมีสงครามความขัดแย้งอย่างอัฟกานิสถาน เยเมน ซีเรีย และประเทศอื่นๆ ที่ไม่สามารถจ่ายโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียนได้ในขณะนี้
รายงานระบุว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายพันธมิตรกำลังร่วมมือกับยูเอ็นเร่งระดมเงินทุนให้ได้ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงระดมเงินทุนอีกเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2030