โรงเรียนทางเลือกด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สอนวิธีการฝึกสมาธิให้กับครู นักเรียน และบุคลากรของโรงเรียน เพื่อรับมือกับภาวะความเครียดและปัญหาด้านจิตใจอื่นๆ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวลที่มีมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเนื่องจากการระบาดของโควิด -19
หลังจากที่มาเชีย แอชตัน (Mashea Ashton) ผู้ก่อตั้งและครูใหญ่ของสถาบันดิจิทัลไพโอเนียร์อะคาเดมี (Digital Pioneers Academy) โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่เน้นด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งแรกของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้รับทราบว่าครูและนักเรียนของสถาบันต้องเผชิญกับความตึงเครียดและยากลำบากที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ อันเป็นผลกระทบจากหลายเหตุการณ์ ทั้งความสูญเสียจากโควิด-19, ภาวะอ่อนล้าจากการเรียนออนไลน์หรือแบบไฮบริด (ผสมผสาน), รวมถึงผลจากความโหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อนักเรียนผิวสี นักเรียนลาติน รวมถึงบุคลากรในโรงเรียน เขาจึงเริ่มมองหาทางช่วยเพื่อเยียวยาภาวะตึงเครียดนี้
งานนี้ เพื่อช่วยให้ครูและนักเรียนรับมือกับมรสุมที่เกิดขึ้นได้ดี อันจะนำมาสู่ยกระดับสุขภาวะโดยรวมของโรงเรียนได้ ทางโรงเรียนจึงได้ร่วมมือกับองค์กร The Teaching Well ในการส่งเสริมให้ครูและบุคลากรโรงเรียนได้เข้ารับการอบรมเพื่อฝึกสมาธิ การหายใจเพื่อผ่อนคลายร่างกาย และเรียนรู้เทคนิคการรับมือกับภาวะความเครียดต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว นอกจากนี้ราวครึ่งหนึ่งของครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนยังได้รับโอกาสให้เข้าร่วมการโค้ชชิ่งเดือนละ 2 ครั้ง ผ่านระบบออนไลน์
หลังการดำเนินการหลายเดือนผ่านไปด้วยดี ทางโรงเรียนจึงได้ตัดสินใจให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกอบรมในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภายใต้กิจกรรมรายเดือนที่ชื่อว่า “I Mind My Mind” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์ อาทิ ความเห็นอกเห็นใจ ความสัมพันธ์ที่ดี การคลี่คลายความขัดแย้ง รวมถึงให้ทำแบบฝึกหัดสมาธิที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับเด็กนักเรียนโดยเฉพาะความยาว 30 นาที ภายใต้การดูแลของทีมครูและเจ้าหน้าที่ที่เรียกตนเองว่าเป็นทีม “เรียนรู้ ได้รัก และเคารพให้เกียรติ” (Known, Loved, and Respected team)
ทั้งนี้ ทีมงานแต่ละคนจะจับคู่กับสมาชิกจากชั้นเรียนหนึ่ง ๆ ตลอดภาคการศึกษาเพื่อสร้างความไว้วางใจ โดยแจ็กเกอลีน บารอน (Jacqueline Baron) หนึ่งในนักสังคมสงเคราะห์ของโรงเรียนกล่าวว่า การที่มีบทเรียนฝึกสมาธิเดือนละครั้งให้ทั้งเด็กหลากหลายวัยและผู้ใหญ่ได้เรียนร่วมกัน นอกจากจะช่วยให้ทุกคนได้ฝึกฝน เรียนรู้ หัดยอมรับ และปรับสภาพอารมณ์จิตใจของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ ครู และนักเรียนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย
โดยในแต่ละวันทางสถาบันการศึกษาจะเริ่มต้นด้วยการเช็กอิน “เครื่องวัดอารมณ์” ซึ่งนักเรียนจะแบ่งปันความรู้สึกของตนผ่านคำพูดหรือสี ทำให้ครูรับรู้สภาพจิตใจของนักเรียนในวันนั้น ๆ และเข้าตรวจนักเรียนตามความจำเป็น
ในส่วนของกิจกรรม ครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียนจะได้เรียนรู้และฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ตลอดจนฝึกฝนเทคนิคพื้นฐาน เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การนับ การวาดภาพ ดนตรี และโยคะ เพื่อรับมือกับความเครียด รวมถึงการพูดคุยผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น จะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนเพื่อนที่ไม่ได้ลงเรียนออนไลน์ รวมทั้งช่วยกันหาทางลดความเครียดก่อนสอบวิชาเลข เป็นต้น
บารอนกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว เด็กนักเรียนเหล่านี้ล้วนมีเครื่องมือที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้อย่างครบครันแล้ว เพียงแต่เครื่องมือเหล่านั้นยังไม่ได้รับการปลดล็อก และขัดเกลาให้ใช้งานได้อย่างจริงจังเท่านั้น
นอกจากนี้ ในชั่วโมงโฮมรูม โรงเรียนยังเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้พูดคุยอย่างอิสระเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งหมายรวมถึงความหมายของการเป็นชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ครูใหญ่ของสถาบันอย่างแอชตันเห็นว่า จะช่วยให้นักวิชาการ “เคารพในเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของพวกเขาภูมิใจในสิ่งที่ทั้งเราและเขาเป็น โดยตระหนักและเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องการให้พวกเขาหัดตั้งคำถาม ช่างสงสัย สร้างสรรค์ และเลิกเล่นบทเหยื่อ”
ไลลา เกรแฮม (Leila Graham) นักเรียนเกรด 8 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2) ซึ่งมีโอกาสฝึกสมาธิเป็นปีแรกกล่าวว่า การฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ช่วยให้ตนเองรับมือกับความเครียดและความไม่สบายใจได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการที่โรงเรียนเปิดพื้นที่ให้พูดคุย ทำให้ตนตระหนักได้ว่า แม้เราจะเจ็บปวดทรมาน แต่ก็ยังมีผู้คนที่ห่วงใยใส่ใจกับสิ่งที่เราประสบอยู่ เกรแฮมยังเสริมด้วยว่า “บางคนไม่มีโอกาสพูดถึงความรู้สึกดังกล่าวที่บ้านเหมือนที่โรงเรียน”
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ทางสถาบันดิจิทัลไพโอเนียร์อะคาเดมีเปิดเผยว่ามีนักเรียนในเกรด 6 – 9 (เทียบเท่าประถม 6 ถึงมัธยม 3) ลงทะเบียนเรียนกับทางโรงเรียนแล้ว 480 คน โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของเด็ก ป.6 ที่สมัครเรียนล้วนมีพี่น้องหรือญาติเรียนอยู่ในโรงเรียนนี้ อนึ่ง ในช่วงเวลาที่โรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับยอดลงทะเบียนที่ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ จำนวนนักเรียนใหม่ของทางสถาบันถือได้ว่าอยู่ในระดับดี คืออยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายการลงทะเบียน ขณะที่จำนวนผู้เข้าเรียนในปีการศึกษา 2020-21 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 93 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศเสียอีก แอชตันยอมรับว่าความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการฝึกสมาธิ
นอกจากนี้ ความพึงพอใจของพนักงานยังเพิ่มขึ้นจาก 80 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นปี 2020 เป็น 95 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นปีการศึกษาปัจจุบัน และ 97 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานตกลงที่จะกลับมาทำงานในภาคปีการศึกษา 2021-22 เพิ่มขึ้นจากจำนวนเดิมที่กลับมาหลังจากปีการระบาดใหญ่ครั้งแรกที่ 56 เปอร์เซ็นต์
ทาร์เนียล มิลเลอร์ (Tarneil Miller) คณบดีฝ่ายการเรียนรู้ทางอารมรณ์และสังคม กล่าวกับทางเว็บข่าว The 74 ว่า ปีการศึกษา 2020 นั้นเต็มไปด้วย “วันอันเลวร้ายตลอดทั้งปี” แถมหลายเดือนที่ผ่านมา นักการศึกษาทั่วประเทศยังต้องพบเจอความบอบช้ำ และหวาดกลัว ดังนั้นทำไมจึงไม่เปิดพื้นที่ให้ครู บุคลากร และนักเรียนได้รู้ว่า อย่างน้อยก็มีพื้นที่หนึ่งที่พวกเขาจะเป็นที่รับฟังและได้รับคำแนะนำ ตลอดจนฝึกทัศนคติที่สมเหตุสมผลที่สามารถปฏิบัติได้จริงในชีวิต
สำหรับมิลเลอร์ เจ้าตัวยอมรับว่าได้นำเทคนิคเจริญสติมาฝึกฝนตลอดปีที่ผ่านมาเพื่อความผาสุกของตนเอง รวมถึงใคร่ครวญและไตร่ตรองทุกวันว่า แต่ละวันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีอะไรดี ๆ เกิดกับชีวิตไหม และพรุ่งนี้จะดีขึ้นอีกได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น
รายงานระบุว่า ในปีการศึกษาใหม่ที่นักเรียนกำลังจะกลับมาเรียนช่วง 30 สิงหาคมนี้ โรงเรียนจะยังคงเดินหน้าบรรจุบทเรียนสมาธิในชั่วโมงแนะแนวเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนทุกเดือน ทั้งนี้ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้ดำเนินการติดต่อกับครูสอนฝึกสมาธิ เพื่อให้มาช่วยสอนและยกระดับบทเรียนสมาธิในโรงเรียนแล้ว
ขณะที่บารอนกล่าวว่า โรงเรียนยังตั้งใจช่วยเหลือนักเรียน โดยจะพุ่งเป้าไปยังกิจกรรมในกลุ่มขนาดเล็กก่อน ทั้งนี้จะเน้นช่วยเหลือเด็ก ๆ ในด้านทักษะสังคม การเยียวยาความเศร้าโศก และการรับมือความสูญเสีย อนึ่ง นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนเป็นเด็กจากย่านที่เจอการระบาดหนัก และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19
โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากทีมงานในการจัดการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนนักเรียนที่กำลังได้รับความทรมานจากปัญหาส่วนตัวต่าง ๆ ไปยังผู้ชำนาญการต่อไป รวมถึงสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือเทคนิคต่าง ๆ เช่น วิธีการหายใจ การประเมินอารมณ์และร่างกายด้วยตนเอง และการพักเบรกสั้น ๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนทำความรู้จัก เข้าใจตนเอง รวมถึงจัดการกับความรู้สึกของตนได้อย่างถูกต้อง
“การให้ความสำคัญกับตนเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว เพราะเพื่อให้เราสามารถทำงานตามหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เราก็ต้องทำให้แน่ใจว่าได้ดูแลตัวเองเป็นอย่างดีด้วย” บารอนกล่าวปิดท้าย