รัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานี้ต่างเร่งส่งเสริมเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับการเงิน โดยเฉพาะการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลให้แก่นักเรียนญี่ปุ่นในระดับชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศ หลังตระหนักว่าความรู้ความใจเรื่องการเงิน และทักษะในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล มีบทบาทสำคัญอย่างมากของการช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประชาชน รวมถึงช่วยสนับสนุนให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่เข้าใจความหมายของการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งมากกว่าการออมให้มากขึ้น ซึ่งแม้จะมีเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาส่วนหนึ่งออกโรงท้วงติงว่า โรงเรียนญี่ปุ่นหลายแห่งยังไม่มีความพร้อมในการสอนเรื่องการเงินที่ดีพอให้กับนักเรียน
รายงานระบุว่า ด้วยเป้าหมายในการปรับปรุงความรู้ทางการเงินในหมู่นักเรียน ญี่ปุ่นได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์หลักสูตรโรงเรียนแห่งชาติเพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลโดยให้มีผลตั้งแต่ปีการศึกษานี้ ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนเมษายนที่่ผ่านมา
คณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการเงินต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการได้รับความรู้ด้านการเงินตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องสนับสนุนแผนการดังกล่าวให้ครอบคลุมในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม บรรดาครูผู้สอนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะครูผู้สอนในเรื่องเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนต่างกังวลว่า พวกเขาไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินที่มากเพียงพอที่จะสอนนักเรียนอย่างเหมาะสม และเวลาในห้องเรียนก็มีจำกัดเนื่องจากหลักสูตรวิชาการที่อัดแน่นอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า สถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวญี่ปุ่นเริ่มตระหนักว่า การออม ไม่ใช่หนทางที่ดีเพื่อสร้างความมั่งคั่ง และเพิ่มเสียงสนับสนุนให้กมีการปรับปรุงความรู้ทางด้านการเงินในโรเงรียนเพิ่มมากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงหลักประการหนึ่งก็คือการให้ครูที่สอนเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน ต้องขยายเนื้อหาหลักสูตรให้ครอบคลุมข้อดีและข้อเสียของหุ้น พันธบัตร กองทุนเพื่อการลงทุน และผลิตภัณฑ์ประกันภัยของเอกชน
โทโมมิ คุโรดะ ครูผู้สอนเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนที่โรงเรียนมัธยมปลายโคโนะดาอิ จังหวัดชิบะ กล่าวว่า หลายสิบปีก่อนหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่วของธนาคาร ทำให้ผู้คนสั่งสมสินทรัยพ์ให้งอกเงยได้ด้วยการออม แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนไม่สมารถหวังพึ่งดอกเบี้ยจากการออมได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะทุ่มออมเงินไว้มากแค่ไหนก็ตาม
คุโรดะกล่าวว่า การให้ความรู้เรื่องการเงินกับนักเรียนในครั้งนี้ มีเป้าหมายอย่างน้อยให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเหมือนคนในฝั่งยุโรปหรือสหรัฐฯ ที่มองว่าสินทรัพย์และความมั่งคั่งส่วนบุคคลสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยวิธีการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการออม
ขณะเดียวกัน คุโรดะซึ่งเคยทำงานในบริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ ย้ำว่าการสร้างทรัพย์สินผ่านบัญชีออมทรัพย์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ผิด แต่ตนเองก็ต้องการให้นักเรียนได้รู้ว่าอย่างน้อยก็มีตัวเลือกอื่น ๆ ให้เลือก ไม่เช่นนั้นก็จะถือเป็นการพลาดโอกาสอย่างใหญ่หลวง
ขณะที่ ครูคนอื่นๆ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาความรู้ทางการเงินของนักเรียนมีความสำคัญมากขึ้น แม้ว่าจะขัดกับธรรมเนียมนิยมเรื่องการออมของญี่ปุ่นก็ตาม โดย มิซาโตะ อิชิดะ ครูเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนของโรงเรียนมัธยมมิซาโตะคิตะ ในจังหวัดไซตามะกล่าวว่า จากการค้นคว้าของตนเองพบว่า เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เรื่องการเงิน เหมือนจะยังเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเด็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การเงินส่วนใหญ่หายไปจากการศึกษาในโรงเรียน ข้อมูลบางอย่างบ่งชี้ว่าผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องการได้รับการสอนเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลเมื่ออายุยังน้อย
จากการสำรวจออนไลน์ชาวญี่ปุ่นจำนวน 600 คนในช่วงอายุ 20 – 50 ปี เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยบริษัทหลักทรัพย์ Matsui พบว่า 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาไม่มั่นใจในความรู้ด้านการเงิน ในขณะที่ 71% บอกว่าพวกเขาต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเงินขณะที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียน
ทั้งนี้ สำหรับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ การศึกษาเรื่องการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยมีรายงานว่า การเงินส่วนบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรระดับชาติในอังกฤษ ซึ่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับงบประมาณ ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ตลอดจนการบริหารความเสี่ยง ในขณะที่ ออสเตรเลียได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ความรู้ทางการเงินแห่งชาติในปี 2011 เพื่อส่งเสริมการศึกษาทางการเงินในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย
ด้าน เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ อธิบายว่า การเพิ่มการศึกษาด้านการเงินในแนวทางหลักสูตรโรงเรียนใหม่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงมาโดยตลอด ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออมเป็นการลงทุนแต่อย่างใด แต่หัวใจสำคัญคือการทำให้ผู้คนมี “พลังในการดำรงชีวิต” โดยความรู้ทางการเงินจะช่วยให้ผู้คนกลายเป็นผู้บริโภคที่เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งสามารถจัดการการวางแผนทางการเงินในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขามากขึ้นท่ามกลางสังคมญี่ปุ่นที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2019 รายงานที่รวบรวมโดยคณะกรรมการภายใต้หน่วยงานบริการทางการเงินระบุว่าคู่สามีภรรยาที่จะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 95 ปีจะต้องมีทรัพย์สินอย่างน้อย 20 ล้านเยน เนื่องจากหากพึ่งพาระบบสวัสดิการจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว เงินบำนาญจะไม่เพียงพอสำหรับค่าครองชีพหลังเกษียณแน่นอน
ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในขณะนั้นปฏิเสธที่จะยอมรับรายงานฉบับดังกบ่้สอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเห็นว่า รายงานแตกต่างจากจุดยืนของรัฐบาลที่ว่าระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐเพียงพอสำหรับการออมเพื่อการเกษียณของผู้คน
เมื่อพิจารณาจากความกังวลเกี่ยวกับสัดส่วนประชากรสูงอายุของประเทศ บรรดาครูเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายต่างเข้าใจถึงความต้องการของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนโดยการปรับปรุงความรู้ทางการเงินของบรรดาวัยรุ่น กระนั้นสิ่งที่สอนไม่ควรมีเรื่องเกี่ยวกับการเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องครอบคลุมถึงเรื่องความความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
ครูคุโรดะเห็นด้วยกับความเห็นข้างต้น เพราะแม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่โรงเรียนมีเวลามากขึ้นสำหรับการศึกษาทางการเงิน แต่โรงเรียนก็ต้องสอนทั้งข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในลักษณะที่เป็นกลาง ซึ่งต้องใช้ทั้งความระมัดระวังรอบคอบ และปราศจากอคติใด ๆ
อย่างไรก็ตาม ครูบางคนกังวลเกี่ยวกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มการศึกษาด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งเช่นครูคุโรดะ
ด้านครูอิชิดะ กล่าวว่าแม้ว่าครูบางคนจะทำตามสิ่งที่เขียนในคู่มือและตำราเรียนของโรงเรียน แต่ครูส่วนใหญ่ต่างคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถให้บทเรียนที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียนสำหรับอนาคตของพวกเด็กเอง แต่ความคาดหวังดังกล่าวก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางการเงินในระดับหนึ่ง
รายงานระบุว่า บรรดาครูทั้งหลายอาจมีปัญหาในการปรับการสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลให้เข้ากับหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนที่อัดแน่นมากอยู่แล้ว แถมยังติดขัดด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการสอนที่ยืนยันแล้วว่าชั่วโมงเรียนที่กำหนดในปัจจุบันไม่มีทางเพียงพอ
ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนบางแห่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการลดชั่วโมงเรียนเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน เพื่อเพิ่มชั่วโมงที่ใช้ในวิชาอื่นๆ รวมทั้งภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมนักเรียนสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นักเรียนมัธยมปลายมักใช้เวลาเรียนเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนเป็นเวลา 2 ปี แต่โรงเรียนบางแห่งได้ลดเวลาดังกล่าวลงเหลือ 1 ปี
ดังนั้น หากนักเรียนเหลือเวลาเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนเพียง 1 ปี เหล่าคุณครูเองก็จะะมีเวลาไม่มากพอที่จะสอนให้ครอบคลุมประเด็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงหัวข้อเช่น การคุ้มครองผู้บริโภคและสัญญา ทำให้เวลาที่จะสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลถูกเบียดเบียนจนเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง
“ถ้าเราต้องการให้นักเรียนเรียนรู้มากขึ้นและเชื่อมโยงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้กับสังคมจริง ๆ เวลาที่ให้ไว้ไม่เพียงพอและเป็นการยากที่จะทำภายในชั้นเรียนเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนแต่เพียงอย่างเดียว” ครูอิชิดะกล่าว
เนื่องจากครูที่ผู้สอนวิชาทางการเงินให้กับนักเรียนทั้งหลายดูจะมีภาระรับผิดชอบที่มากกว่าแกค่การสอนนักเรียน ทำให้บริษัทเอกชนบางแห่งซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงินได้ออกมาเสนอความช่วยเหลือโดยให้บริการการศึกษาทางการเงินแก่โรงเรียนและเหล่าคุณครู
โดยช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครูอิชิดะ พร้อมด้วยเพื่อนร่วมวิชาชีพ ได้เข้าร่วมการสัมมนาที่จัดโดย Mercari Inc. ยักษ์ใหญ่ด้านตลาดนัดออนไลน์และผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำ ซึ่งได้ร่วมแบ่งปันความรู้ และหลักสูตรการศึกษาทางเงินเฉพาะด้าน เช่น ประโยชน์และข้อผิดพลาดของระบบการชำระเงินด้วยสมาร์ทโฟนแบบไม่ใช้เงินสด เป็นต้น
โยขิคาซุ ไซโต ผู้รับหน้าที่ดำเนินการสอนตามหลักสูตรของ Mercari กล่าวว่า เพื่อสนับสนุน (การศึกษา) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน บริษัทกำลังวางแผนที่จะเปิดให้ข้อมูลและโปรแกรมการศึกษาให้สาธารณะเข้าถึงได้มากขึ้น และเพื่อให้ครูสามารถใช้ในโรงเรียนได้
ด้าน บริษัท Japan Asset Management Inc. ผู้ให้บริการที่ปรึกษาในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศได้ออกมาให้การศึกษาด้านการเงินแก่นักเรียนด้วยเช่นกัน ซึ่งบริษัทเน้นการให้บทเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นหลัก แต่ได้รับการสอบถามจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ยูสุเกะ โมรินากะ ผู้วางแผนการศึกษาทางการเงินกับที่ปรึกษากล่าวว่าเป้าหมายการศึกษาทางการเงินระดับประถมศึกษาอย่างหนึ่งก็คือการกระตุ้นความสนใจของนักเรียนในการเรียนรู้เรื่องเงิน
“คนญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มคิดจริงๆ ว่าจะทำอย่างไรกับเงินของพวกเขาเมื่อพวกเขาได้รับโบนัสเกษียณอายุ” ในวัย 60 ปี ดังนั้นการพัฒนาความสนใจของนักเรียนในเรื่องเงินจะทำให้พวกเขามีโอกาสคิดเรื่องนี้มากขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย” โมรินากะ กล่าว
แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าญี่ปุ่นได้ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการศึกษาด้านการเงิน แต่โมรินากะชี้ให้เห็นว่าการรวมการเงินเข้ากับวิชาอื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ จะดีกว่าการรวมเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน และว่าบริษัทยินดีให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ด้วย
“เราสามารถสร้างโปรแกรมตามสิ่งที่โรงเรียนต้องการ โดยส่วนตัวเชื่อว่าการทำงานกับบริษัทอย่างเราจะช่วยแบ่งเบาภาระของโรงเรียนและครูได้” โมรินากะกล่าวปิดท้าย
ที่มา : Japan is looking to strengthen financial education, but are schools ready?