โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐฯ บรรจุวิชาปลูกผักทำสวนในหลักสูตร
โดย : KATHERINE ROTH
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐฯ บรรจุวิชาปลูกผักทำสวนในหลักสูตร

โรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ เดินหน้าบรรจุวิชาปลูกผักทำสวนในรั้วโรงเรียนลงในหลักสูตร ตั้งเป้าจูงใจให้เด็กได้เรียนรู้วิชาการในภาคปฏิบัติ ณ ห้องเรียนกลางแจ้ง ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนการสอนท่ามกลางโควิด-19

ช่วงเดียวกับที่โควิด-19 แพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา วิชาทำสวนได้กลายเป็นวิชายอดนิยมในรั้วโรงเรียน เหล่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูต่างเห็นตรงกันว่า วิชาทำสวนเป็นวิชาภาคปฏิบัติกลางแจ้งที่สามารถนำมาประยุกต์สอนกับวิชาอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย แถมยังช่วยให้เด็ก ๆ เพลิดเพลินและผ่อนคลายมากขึ้น 

แม้จะผจญความยากลำบากในการเสาะหาผู้เชี่ยวชาญ แรงงาน หรือกระทั่งเงินทุนเพื่อพาเด็ก ๆ เรียนรู้การปลูกผักทำสวนในรั้วโรงเรียน แต่สุดท้ายคุณครูและเหล่านักการศึกษาก็สรรหาวิธีสุดสร้างสรรค์มาผลักดันให้การทำสวนสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างน่าทึ่ง 

ซูซาน โฮบาร์ต (Susan Hobart) อดีตครูระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประถมเลควิว ในเมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิล ผู้ใช้เวลายามเกษียณรับหน้าที่ดูแลแปลงผักขนาดใหญ่ 12 แปลงของโรงเรียน กล่าวว่า การทำสวนเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้อยู่กลางแจ้ง แถมยังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นลงมือ ระหว่างทำ และจุดหมายปลายทาง รวมถึงได้เห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ด้วย 

“ที่สำคัญ การทำสวนยังช่วยให้เด็กผ่อนคลาย เกิดมุมมองหรือทัศนะต่อสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป โดยเป็นมุมมองความคิดที่เด็ก ๆ จะไม่มีวันได้เห็นหากยังนั่งอยู่บนโต๊ะเรียน” ครูโฮบาร์ตกล่าว 

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิทุกปี ทางโรงเรียนเลควิวจะร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น ในการพัฒนาที่ดินในโรงเรียนให้กลายเป็นสวนปลูกผัก โดยเริ่มตั้งแต่โครงการเพาะเมล็ดพันธุ์กับทางเรือนจำของรัฐ จากนั้นก็ได้กลุ่มอาสาสมัครของทางโบสถ์มาช่วยเตรียมสวนให้พร้อมในช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิ และในช่วงฤดูร้อนที่เด็กกลับมาเรียนก็ได้กลุ่มสมาชิกอาสาสมัครอเมริคอร์ปส์ (AmeriCorps) มาช่วยเด็ก ๆ ดูแลสวน ซึ่งความร่วมมือทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้โรงเรียนช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการหาซื้อเมล็ดพันธุ์ รวมถึงแรงงานในการช่วยดูแลเป็นอย่างมาก 

ดังนั้น สำหรับโรงเรียนที่สนใจจะเปิดวิชาทำสวน แต่ขาดแคลนกำลังคนและกำลังเงิน ครูโฮบาร์ตแนะนำว่า ให้ลองมองไปรอบ ๆ ตัว เพื่อมองหาเครือข่ายและกลุ่มคนในชุมชนที่พร้อมจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือเสมอ

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้า การปลูกผักทำสวนในโรงเรียนยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนกระทั่งอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชล โอบามา (Michelle Obama) ใช้พื้นที่สีเขียวส่วนหนึ่งของทำเนียบขาวมาปลูกผัก และเชิญชวนเด็กนักเรียนเข้าไปช่วย ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่า อาหารที่รับประทานมีที่มาที่ไปอย่างไร ต้องปลูกแบบไหน จนจุดประกายให้โรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ นำวิชาปลูกผักทำสวนมาประยุกต์ใช้ให้ความรู้กับเด็กนักเรียน  

กระนั้น โทบี้ อดัมส์ (Toby Adams) ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสวนพฤกษศาสตร์ ประจำสถาบันอิดิเบิลอะคาเดมี (Edible Academy) เมืองบรอนซ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่เด็กนักเรียนนิยมมาหาความรู้ด้านการทำสวน กล่าวว่า วิชาการทำสวนกลายเป็นกระแสพูดถึงอย่างจริงจังในช่วงวิกฤตการระบาดโควิด -19 

เหตุผลเพราะวิชาปลูกผักทำสวนสามารถนำมาประยุกต์เป็นบทเรียนภาคปฏิบัติของวิชาสุขศึกษา วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา หรือแม้แต่วิชาในหมวดมนุษยศาสตร์และศิลปะ ซึ่งความนิยมที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้หลายหน่วยงาน หลายองค์กร โดยเฉพาะเครือข่ายในระดับภูมิภาค ต่างสนใจยื่นมือให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในการทำโครงการปลูกผักทำสวน 

“การปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสออกไปข้างนอก มือเลอะดินบ้าง มีเวลาหาหนอนบ้าง เป็นเรื่องที่วิเศษมาก” อดัมส์กล่าว ก่อนเสริมว่า สำหรับโรงเรียนหลายแห่งที่ไม่มีพื้นที่ปลูกผักเพียงพอ เจ้าตัวแนะนำให้ลองขอใช้พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์และสวนสาธารณะในละแวกใกล้โรงเรียน เพราะการทำสวนไม่จำเป็นต้องมีแปลงปลูกขนาดใหญ่ อาจเป็นแค่สวนผักขนาดย่อในตู้คอนเทนเนอร์ หรือการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ที่ใช้พื้นที่น้อยและประหยัดน้ำ เพียงแต่ให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อบริบทสภาพแวดล้อมของโรงเรียนและตัวนักเรียนเองเท่านั้น 

ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยดูแลสวน โฮบาร์ตแนะนำให้ลองติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรปริญญาด้านการทำสวน (Master Gardener Program) เพราะโดยปกตินักศึกษาจากสถาบันเหล่านี้ต้องออกฝึกงานเพื่อให้เรียนจบหลักสูตรอยู่แล้ว หากขอตัวนักศึกษามาช่วยได้ จะทำให้โรงเรียนมีบุคลากรที่สามารถให้ความรู้คำปรึกษาด้านการทำสวนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

นาธาน ลาร์สัน (Nathan Larson) แกนนำผู้ริเริ่มโครงการบ่มเพาะสุขภาพเบื้องต้น หรือ Cultivate Health Initiative ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (Wisconsin-Madison) และพันธมิตรทั่วสหรัฐฯ ในการให้การสนับสนุนวิชาปลูกผักทำสวนในโรงเรียน และเป็นผู้เขียนหนังสือ “การสอนในห้องเรียนธรรมชาติ” (Teaching in Nature’s Classroom) ที่ให้ดาวน์โหลดได้ฟรี กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการให้การสนับสนุนวิชาทำสวนในโรงเรียนในระดับประเทศมากมายหลายแห่ง ไล่เรียงตั้งแต่โครงการ The National Farm to School Network, เครือข่าย School Garden Support organization Network หรือ โครงการ National Children and Youth Garden Symposium ของสมาคมพืชสวนเรือนกระจกแห่งสหรัฐฯ (American Horticulture Society) ที่ร่วมมือฝึกอบรมวิชาทำสวนให้แก่ครูและบุคลากรโรงเรียน โดยตลอดสองปีที่ผ่านมาได้ทำการฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ 

นอกจากนี้ก็มีหลักสูตร Life Lab ในเมืองซานตาครูซ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่จัดทำเวิร์กชอปให้นักการศึกษาทั่วสหรัฐฯ เกี่ยวกับกรรมวิธีการดึงเอาเด็กหนุ่มสาวมาทำไร่ทำสวน หรือ โครงการ Junior Master Gardener Program ของทางมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University)

ส่วนเครือข่ายหรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ยังรวมถึงกลุ่ม National COVID-19 Outdoor Learning Initiative, เครือข่าย Edible Schoolyard Network, เครือข่าย Slow Food USA School Garden Network และเครือข่าย Big Green

ด้านรอน ฟินลีย์ (Ron Finley) ผู้สนับสนุนหลักในการปรับเปลี่ยนการสอนเด็กเมืองเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดพันธุ์และปลูกผักภายในโครงการรอนฟินลีย์โปรเจ็กต์ (Ron Finley Project) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของตนก็คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งการมีสวนในโรงเรียน หรือมีวิชาทำสวนในหลักสูตร ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญเทียบเท่ากับการศึกษาวิชาความรู้อื่น ๆ ในโรงเรียน เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการที่รวดเร็วที่สุดที่ทำให้เด็กได้เชื่อมโยงตนเองกับสิ่งแวดล้อม และอาหารที่รับประทาน 

“การทำสวนไม่ใช่งานอดิเรก แต่เป็นทักษะชีวิต และเป็นหนึ่งในบทเรียนที่มีคุณค่ามากที่สุดบทหนึ่งของการเป็นมนุษย์” ฟินลีย์กล่าว

ที่มา : Schools find ways to keep gardening lessons blooming