สร้างต้นแบบสถาบันผลิตครูคุณภาพรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น รองรับความเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ เป็นนักพัฒนาทำงานร่วมกับชุมชน แก้ปัญหาการโยกย้ายและขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมสถาบันอุดมศึกษา 7 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2565 และร่วมรับฟังการชี้แจงผ่านระบบออนไลน์ ถึงกระบวนทัศน์การผลิตครูเพื่อพัฒนาชุมชน และแนวทางการทำงานเพื่อเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครู
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า กสศ.มุ่งมั่นให้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ที่นำไปสู่การพัฒนาครูของประเทศไทยอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการผลิตครูจากศูนย์กลางไปสู่การผลิตครูที่สอดคล้องกับพื้นที่ เน้นไปที่ผู้เรียนกำกับตัวเอง (Self-Directed Learning) ครูต้องเปลี่ยนบทบาทการเป็นครูผู้สอนไปสู่การเน้นเป็น “ครูโค้ช” อำนวยความสะดวก จัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้ศึกษาสอดคล้องกับบริบทชุมชน ฐานทรัพยากร วัฒนธรรม นอกจากนี้ครูยังมีบทบาทมากกว่าผู้สอน แต่ต้องเป็นนักพัฒนาและนำการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน ครูจึงต้องได้รับการบ่มเพาะสมรรถนะที่หลากหลาย เป็นครูคุณภาพที่ทำงานร่วมกับชุมชนได้
“สิ่งที่สำคัญคือ ครูต้องเป็นผู้รู้เท่าการเปลี่ยนการแปลง ต้องปรับตัวได้เร็ว ซึ่งเข้าใจว่าทั้ง 7 สถาบันกำลังออกแบบแผนการผลิตครูแบบใหม่ เพราะปัจจุบันเรามีการสูญเสียการเรียนรู้เยอะจากการสอนออนไลน์ เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่ได้เตรียมตัวออกแบบการเรียนรู้รองรับสถานการณ์ เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งเห็นความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น
ในอนาคต โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะได้เตรียมความพร้อม ไม่ว่าในภาวะแบบไหน เด็กก็จะได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งครูจะต้องเป็นครูของชุมชนที่มีการเรียนรู้ตลอดเวลา สถาบันการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้นักศึกษามีสมรรถนะออกแบบการเรียนรู้ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับบริบทพื้นที่ ชุมชน ทรัพยากร โดยต้องลงไปวิเคราะห์ศักยภาพ ครอบครัว ชุมชน ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ
เราเชื่อมั่นว่าสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้จะผลิตและพัฒนาครูหัวใจเดียวกัน ที่จะดึงศักยภาพให้นักศึกษาจบมาเป็นครูที่ดี มีความสร้างสรรค์ มุ่งมั่นของชุมชน” รศ.ดร.ดารณีกล่าว
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีที่มาจากโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจำเป็นต้องคงอยู่เพื่อโอกาสทางการศึกษาเด็กท้องถิ่น ไม่สามารถยุบควบรวมได้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพครูควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาครูโยกย้ายบ่อย จึงคิดวิธีให้คนในท้องถิ่นมาเรียนเป็นครูเพื่อกลับไปทำงานในบ้านเกิดตัวเอง ลดปัญหาการย้ายออกและขาดแคลนในอนาคต
มี 3 องค์ประกอบที่สำคัญคือ 1. การให้โอกาสเด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกลได้เรียนรวม 5 รุ่น 1,500 คน เพื่อไปบรรจุเป็นครูใน 1,500 โรงเรียน 2. สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเพื่อผลิตครูให้เป็นบัณฑิตและนักพัฒนาชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเป็นต้นแบบพัฒนาครูต่อไป และ 3. โรงเรียนปลายทางซึ่งจะต้องร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพตามบริบบทของชุมชน
จากการดำเนินการที่ผ่านมา 2 รุ่น มีนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น 627 คน และรุ่นที่ 3 มีเพิ่มขึ้นอีก 240 คน ดังนั้น การร่วมลงนามความร่วมมือกับ 7 สถาบันในครั้งนี้จึงมีความสำคัญมาก ที่จะนำไปสู่กระบวนการคัดเลือกที่เป็นต้นทางสำคัญ ปัจจุบันโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเดินหน้ามาสู่รุ่นที่ 3 เปรียบเหมือนเดินทางมาถึงกลางทางของต้นน้ำ คือการคัดเลือกสถาบันคุณภาพมาร่วมโครงการ ดำเนินการคัดเลือกน้อง ๆ ที่มีใจอยากเป็นครู เข้ามาเรียนและจบไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียน
สถาบันอุดมศึกษายังมีภารกิจต้องติดตามเพื่อพัฒนาต่ออีก 6 ปี ดังนั้นการทำงานหนึ่งรุ่นจึงใช้เวลา 11 ปี นับเป็นโครงการระยะยาว ที่จะต้องมีการออกแบบการบริหารจัดการ การทำงานวิจัยรองรับ ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกมหาวิทยาลัยจะเป็นสถาบันต้นแบบพัฒนาครูต่อไป ดังนั้นต้องขอขอบคุณทุกสถาบันที่มาร่วมแรงร่วมใจสร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า อยากเห็นการพูดคุยของผู้บริหารสถาบันการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์บ่อย ๆ เพราะโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการระยะยาวประมาณ 11 ปี ต้องอาศัยความต่อเนื่องระดับนโยบายและความต่อเนื่องของข้อมูล นอกจากนี้ การทำงานของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานของ กสศ. ในโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการ TSQP กว่า 700 โรงเรียน ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 700 โรงเรียน และเครือข่ายอีก 11 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ครูถือว่ามีความสำคัญในการศึกษาอย่างมาก และนับเป็นตัวคูณที่สำคัญ เพราะครูคนหนึ่งสามารถสอนหนังสือเด็กได้หลายพันคน การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเริ่มที่ครู นอกจากนี้อยากเน้นย้ำว่า ทุนที่ใช้ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นเงินภาษีของประชาชน อยากให้ช่วยเน้นย้ำกับนักศึกษาที่ได้รับทุนว่า เงินทุกบากทุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชน การใช้จ่ายต้องระมัดระวังและรู้คุณค่า
เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ 7 สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านการผลิตครูสองชั้น ทั้งผลิตครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นและครูทั่วไป โดยการผลิตครูนั้นไม่ใช่แค่การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเพียงแค่ 4 ปี แต่ต้องติดตามดูแลต่อเนื่อง เพราะจากที่ศึกษามาพบว่า กว่าจะเป็นครูที่เชี่ยวชาญต้องใช้เวลา 5-7 ปี จึงต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อผ่าน 5-7 ปี แล้วพวกเขาก็ยังต้องพัฒนาตัวเองต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งจากที่หลายสถาบันดำเนินการมาก่อนหน้านี้ มีประสบการณ์สอน การวัดผล และพบปัจจัยท้าทายมากมาย ตรงนี้น่าจะได้นำมาเป็นข้อมูล คิดหาทางปรับตัวในการผลิตครูต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ในพื้นที่ห่างไกลมีปัญหาเรื่องครูโยกย้ายบ่อย พอผ่านไปสองปีสอบบรรจุได้ก็ย้ายออก โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะสามารถแก้ปัญหานี้ สร้างครูที่เป็นนักพัฒนา ทั้งวิชาการและจิตวิญญาณความเป็นครู อีกทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพการศึกษาต่ำที่สุดในประเทศไทย ถ้าผลิตครูด้วยกระบวนการปกติก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ เช่น ในพื้นที่มีข้อจำกัดเรื่องเด็กพูดไทยไม่ได้ ก็ต้องเน้นการผลิตครูตามบริบทพื้นที่ ซึ่งจะช่วยยกระดับครูนักพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะมีแต่การศึกษาเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากจะมุ่งแก้ไขปัญหาแต่เพียงในมิติสังคม มิติเศรษฐกิจ ในขณะที่การศึกษายังไม่เข้มแข็ง ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
รศ.ดร.เกีรยรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมงานกับ กสศ. ในการผลิตครูตามความต้องการของชุมชน ตั้งแต่ระบบคัดเลือกที่จะได้เด็กที่มีความเหมาะสม โดยประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน และให้คณาจารย์บูรณาการการลงพื้นที่เพื่อให้ได้ครูรุ่นใหม่ที่ไปทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เน้นเรื่องอัตลักษณ์พื้นที่โดยใช้ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า (big data) มาออกแบบการเรียนการสอน สร้างสมรรถนะชั้นสูง มีการออกแบบวิชาใหม่ๆ เพื่อให้เด็กได้รอบรู้ ซึ่งจะมีการออกแบบร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ แม้กระทั่งเภสัช ที่จะได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพร สิ่งสำคัญคือ การติดอาวุธทางวิชาการและวิชาชีพให้ครูไปใช้งานได้จริง ส่วนใหญ่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจะมีลักษณะครูไม่ครบชั้น ดังนั้นครูจะต้องสอนเด็กได้ทุกชั้น ทุกวิชา