กินเวลานับปีนับแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มขึ้น และเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนจนไม่เหลือเค้าเดิม ทั้งยังสร้างความเครียดเงียบงันจากวันเดือนปีที่ยาวนาน ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญกับโลกสีหม่น ขาดพร่องด้วยปัจจัยดำรงชีวิต ถูกตัดขาดจากโรงเรียนที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมไปสู่การเรียนรู้และพื้นที่ทางสังคม ที่ทักษะชีวิตของพวกเขาควรได้พัฒนาขึ้นตามช่วงวัย
ขณะที่การจัดการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ แม้จะเป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กส่วนหนึ่งยังเข้าถึงการศึกษาได้ต่อไป แต่ในอีกทางหนึ่งก็เผยให้เห็นถึงช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่ขยายขนาดเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะยิ่งเวลาผ่านไปน้องๆ จำนวนไม่น้อย ที่โดยปกติก็ไม่อาจเข้าถึงทรัพยากรหรือมีทางเลือกทางการศึกษาอันจำกัดอยู่แล้ว เมื่อเจอภาวะโรคระบาดยาวนานซ้ำซัด เด็กกลุ่มนี้จึงยิ่งถูกความเหลื่อมล้ำผลักไสให้มีสถานะ ‘สูญเสียโอกาสการเรียนรู้’ และ ‘เสียช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการ’ ยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยชีวิตที่กักไว้ในพื้นที่ชุมชนเล็กๆ หรือมุมหนึ่งของบ้านคับแคบ ประหนึ่งว่า ‘การศึกษา’ หลงลืมพวกเขาไป

“พออยู่บ้านเด็กก็อ่านหนังสือบ้างไม่อ่านบ้าง ห่างโรงเรียนไม่มีอะไรทำ ออกไปเล่นก็ไม่ได้ จะเรียนออนไลน์ก็ต้องผลัดกันใช้โทรศัพท์ที่มีเครื่องเดียว เรียนกันคนละชั่วโมง ชั้นอนุบาลนี่ถูกตัดไปเลย ต้องรอโรงเรียนเปิดอย่างเดียวถึงจะได้แตะหนังสือ”
คุณยายคำปัน บุญสินช่อ เล่าถึงความเป็นไปใน ‘บ้าน’ หลังเล็กที่ชุมชนซอยอุทิศเสือใหญ่ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาศัยอยู่กับคุณตาและหลานอีก 5 คน ที่เรียนอยู่ชั้น ป.5 หนึ่งคน ป.1 สองคน และชั้นอนุบาลอีกสองคน

หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 รายได้จากการขายของเก่าของคุณยายคุณตาหายไป จากวันละ 200-300 บาทกลายเป็นแทบไม่มีรายรับ เพราะไม่สามารถออกไปทำงานได้ทุกวัน บางครั้งเป็นสัปดาห์ ยายคำปันต้องใช้วิธีซื้อโครงไก่มาต้มยำหม้อใหญ่พอให้แต่ละคนได้อิ่มผ่านมื้อหนึ่งๆ
“ต้มทีหนึ่งกินได้หลายวัน ใช้วิธีใส่น้ำเยอะๆ เอา นานทีก็จะมีปลาเผาให้เด็กกินสักที เพราะช่วงนี้ออกไปเก็บของยากขึ้น หาได้ไม่ค่อยพอค่าใช้จ่าย บางทีก็ต้องหยิบยืมเขาบ้าง” คุณยายเล่า

ภาพหลานสามคนในชั้นประถมที่ได้ผลัดกันเรียนผ่านสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวของบ้าน คนละชั่วโมงสลับกันไปตลอดวัน ส่วนน้องอีกสองคนก็จะนั่งดูพี่ๆ เรียนอยู่ไกลๆ จนกลายเป็นภาพประจำวันในบ้าน ที่คุณยายบอกว่า “ถ้าจะให้หลานอีกสองคนได้เรียนบ้าง คงต้องรอให้โรงเรียนกลับมาเปิด ตอนนี้เด็กอยู่อนุบาลก็จริง แต่ยังไม่ได้เรียนอะไรเลย แล้วตอนนี้อยู่แต่บ้าน ไม่ได้เล่นเหมือนปกติ เขาก็พูดน้อยลง ดูเงียบๆ ไป”
‘ถุงปันยิ้ม’ ที่พ่วงมากับถุงยังชีพ นำการศึกษาไปให้ถึงเด็กในทุกสถานการณ์
ครอบครัวของคุณยายคำปันคือภาพตัวแทนของน้องๆ ที่รับผลกระทบจากวิกฤต ทั้งในด้านความเสี่ยงของการเกิดภาวะทุพโภชนาการและการเรียนรู้ที่ชะงักงันถดถอย โดยมีเด็กที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้อีกจำนวนมากในชุมชนและไซต์งานก่อสร้างทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่การทำงานเพื่อช่วยเหลือเยียวยาของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

“ถุงปันยิ้ม” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กสศ. และมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ข้างในบรรจุด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหนังสือนิทาน เครื่องเขียน สมุดภาพระบายสี ของเล่น ขนม และเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กๆ เรียน เล่น เติมเต็มพัฒนาการตามช่วงวัยที่ขาดหายไป ในช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถกลับไปโรงเรียนได้ ได้กลายเป็นถุงมหัศจรรย์ในการเปลี่ยนโลกสีหม่นของเด็กๆ ให้กลายเป็นโอกาสการเรียนรู้
“ตอนนี้ดีขึ้นมาก ของที่ได้มาถือว่าช่วยได้เยอะเลย” คุณยายคำปันพูดถึงสถานการณ์ช่วงไม่กี่วันหลังได้รับถุงปันยิ้มและถุงยังชีพที่นำมามอบให้น้องๆ ที่บ้าน

“หลายเดือนแล้วที่ครูจิ๋ว (ทองพูล บัวศรี จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก) และศูนย์เด็กอ่อนต้นโพธิ์ คอยเข้ามาในชุมชนเกือบทุกเดือน มามอบข้าวสาร อาหารแห้ง ของจำเป็น พวกสบู่ ยาสีฟัน หน้ากากอนามัยให้ ซึ่งทำให้พอประทังเรื่องปากท้องกันมาได้ ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะกินไม่อิ่ม ไม่พอเหมือนช่วงแรกๆ”
แต่สิ่งที่คุณยายบอกว่าเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็กๆ ในเชิงการเรียนรู้ และความบันเทิงที่ห่างหายไปนาน คือถุงปันยิ้มที่เพิ่งได้รับมา

“เขาดีใจกันใหญ่ ของที่ให้มาในถุงเป็นสิ่งที่เด็กๆ ไม่ได้จับมาหลายเดือน ทั้งหนังสือภาพ สมุด ดินสอสี ตอนนี้พอถึงชั่วโมงเรียนออนไลน์ คนที่เหลือเขาก็จะกระตือรือร้นวาดรูป ติดสติ๊กเกอร์บนสมุด ได้ยิ้ม หัวเราะเล่นกันประสาเด็ก อย่างน้อยถึงยังไม่ได้ไปโรงเรียน เขาก็ได้ลากเส้น ฝึกมือ ระบายสี มีอะไรทำด้วยกัน พอพี่ว่างเขาก็คอยสอนน้องทำ ได้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์มากขึ้น ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่ห่างจากการเรียนไปเลย”
และนี่คือเรื่องราวของครอบครัวคุณยายคำปันกับถุงปันยิ้ม หนึ่งในหลายครอบครัวที่ได้รับชุดการเรียนรู้เป็นกลุ่มแรกๆ ซึ่งมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กสศ. และมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เตรียมพร้อมที่จะส่งมอบให้เด็กในชุมชนและไซต์งานก่อสร้างต่อไปจนกว่าจะถึงวันที่น้องๆ ได้กลับไปโรงเรียนอีกครั้ง