กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์เผยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเฟ้นหา “โมเดล” การศึกษาสำหรับระดับอุดมศึกษาหรือกลุ่มผู้เรียนในวัยผู้ใหญ่ เพื่อให้ทั้งประเทศมีมาตรการศึกษาที่เท่าเทียมกันในระดับปริญญาทั่วประเทศ และเพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ของประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Chan Chun Sing รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ได้กล่าวถึงแนวคิดริเริ่มของการดำเนินการในครั้งนี้ว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากประเทศฟินแลนด์ ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งหมด 38 แห่งต่างจับมือร่วมกันเพื่อสร้างแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวซึ่งให้ผู้เรียนมีความยืดหยุ่นทางการศึกษา เปิดโอกาสสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าวว่า สิงคโปร์ซึ่งมีขนาดประชากรเท่ากับฟินแลนด์แต่มีพื้นที่น้อยกว่า มีศักยภาพที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มที่คล้ายคลึงกันเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายความต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong lerning) ของชาวสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินการลงทุนด้านการศึกษาโดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาภาคบังคับที่เด็กทุกคนต้องไปโรงเรียนจนถึง 15 ปี กระนั้น กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ย้ำชัดว่า รัฐบาลขณะนี้ต้องมองหาแนวทางทางการศึกษาใหม่ ๆ รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทางการเรียนรู้ที่มุ่งให้ความสำคัญการการเรียนรู้ตลอดในช่วงชีวิตที่เหลือหลังจากเรียนจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลายแล้วด้วย
“เราจำเป็นต้องลบเส้นแบ่งระหว่างการเรียนกับการทำงาน เพราะสิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริงก็คือ ‘ความสมดุลระหว่างงานและการเรียนรู้'” รัฐมนตรีศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าว
ด้วยความตั้งใจดังกล่าว ดังนั้น นอกจากให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับปฐมวัยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์จึงมีการพูดคุยกันเพื่อหาโมเดลที่ดีที่สุดที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่สถาบันการศึกษาต่างๆ จะได้ใช้ร่วมกันในการให้ความรู้สำหรับผู้เรียนที่ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่
Tan Eng Chye อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่ามหาวิทยาลัยอิสระ 6 แห่งที่สิงคโปร์ต่างมีความเชี่ยวชาญและจุดแข็งที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อดูแลจัดการโปรแกรมที่ตรงเป้าหมายสำหรับผู้เรียนในการศึกษาต่อเนื่องและการฝึกอบรม หรือ continuing education and training (CET)
ด้าน Lily Kong อธิการบดีของ มหาวิทยาลัย Singapore Management University ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในด้านการวิจัย ปริญญาเอก และหลักสูตรระดับปริญญาตรี และเห็นว่า พื้นที่ CET เป็นพื้นที่ที่จะเป็นโอกาสให้แต่ละสถาบันการศึกษาาได้หลอมรวมด้วกันอย่างแท้จริง”
สำหรับโครงการต้นแบบที่สิงคโปร์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฟินแลนด์นี้มีชื่อว่าโครงการ Digivisio 2030 ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลฟินแลนด์ดำเนินการโดยใช้บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสร้างคำแนะนำส่วนบุคคลสำหรับนักเรียน โดยคำนึงถึงภูมิหลัง ประวัติการศึกษาก่อนหน้า ประสบการณ์การทำงาน และสถานการณ์ตลาดงาน
ศาสตราจารย์ Ilkka Niemela ประธานมหาวิทยาลัย Aalto University ในฟินแลนด์กล่าวว่า เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนตามที่ต้องการแล้ว ทางแพลตฟอร์มจะบูรณาการผสมผสานข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการส่วนบุคคลของนักศึกษา
รายงานระบุว่า แนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงระหว่างการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 12 ณ โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน มิลเลเนีย ที่สิงคโปร์ในช่วงวันที่ 15-17 มิถุนายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ (MOE) จะจัดประชุมกันทุกๆ 3 ปี เพื่อหารือแนวทางใหม่ๆ ในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา รวมถึง ความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษา โดยคณะกรรมการชุดปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มผู้นำทางวิชาการและอุตสาหกรรม 15 กลุ่มจากทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน อิสราเอล ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
Tharman Shanmugaratnam รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานนโยบายสังคมสิงคโปร์ กล่าวในระหว่างเปิดการประชุมระบุว่า สิงคโปร์ขณะนี้ มีความจำเป็นต้องเตรียมเด็กและเยาวชนของชาติให้พร้อมสำหรับความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งจะถาโถมเข้ามาทดสอบความสามารถและศักยภาพ ทำให้เด็กๆ ต้องมีความยืดหยุ่นและรู้จักแนวทางรับมือ ตลอดจนการแก้ไขปัญหา
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีอาวุโสสิงคโปร์รายนี้ยังได้ตั้งคำถามถึงความสมดุลระหว่างการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยการป้อนข้อมูลเข้า ที่ดึงความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ ใส่ความรู้ความจำของสมองให้เกิดความรู้ กับการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยการมุ่งคิดแก้ไขปัญหา ซึ่งการเรียนรู้ถูกจัดระเบียบตามความท้าทายที่เผชิญอยู่ เช่น ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย หรือความท้าทายในการรักษาสันติภาพ
“สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางเลือกที่แยกจากกัน เราอาจต้องการโมเดลที่หลากหลาย แต่เราจำเป็นต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สมดุลระหว่างตัวเลือกเหล่านี้สำหรับอนาคตใหม่ ภายในแต่ละมหาวิทยาลัยและทั่วทั้งระบบ” Tharman Shanmugaratnam กล่าว
ขณะที่แถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ระบุว่า การอภิปรายหารือได้ลำดับประเด็นสำคัญที่ทางสถาบันการศึกษาในสิงคโปร์ต้องเผชิญในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย การพัฒนาบ่มเพาะผู้สำเร็จการศึกษาให้มีทักษะที่ยืดหยุ่น ลื่นไหล และคล่องแคล่ว การเรียนรู้ตลอดชีวิต และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการศึกษาเล่าเรียน
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการได้เสนอแนะให้นำการเรียนรู้จากประสบการณ์เข้าไปรวมไว้ในหลักสูตรด้วย เช่น ความยืดหยุ่นในเส้นทางการเรียนรู้และรูปแบบต่างๆ ที่มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาทีมมหาวิทยาลัยให้แข็งแกร่งขึ้น มีการมองไปข้างหน้าและเน้นความคล่องตัวมากขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ระบุว่า อีกประเด็นที่ทางคณะกรรมการร่วมหารือก็คือการหาสมดุลระหว่างความกว้างและความลึกของการเรียนรู้ว่าควรจะอยู่ในระดับใด ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับช่วงความต้องการของผู้เรียน และเหมาะสมกับระยะเวลาเรียนที่ผู้เรียนจำเป็นต้องได้รับ
รายงานระบุว่า ผู้ร่วมอภิปรายได้แนะนำให้สร้างสมดุลระหว่างทั้งสองแนวทางด้วยการเสริมสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์และการเรียนรู้แบบทีมซึ่งนำบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาทำงานร่วมกันในส่วนของกลุ่มสหสาขาวิชาชีพ
รัฐมนตรีศึกษาธิการสิงคโปร์ระบุว่า มหาวิทยาลัยทั่วสิงคโปร์ต่างมีรูปแบบแพลตฟอร์มดังกล่าวอยู่แล้วในโครงการหลัก ๆ ของแต่ละแห่งอยู่แล้ว ดังนั้น ทางกระทรวงฯ จึงแค่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งรวบรวมผู้คนจากสาขาวิชาต่างๆ ตลอดจนแนวทางในการจัดการปัญหาและความท้าทาย เพื่อให้มีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการของรัฐ
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการยังสนับสนุนให้มีคนกลางทำงานร่วมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อรวบรวมความต้องการด้านทักษะของตน และให้สถาบันการศึกษาและบริษัทหลายแห่งทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการสิงโคโปร์กล่าวว่าคณะกรรมการยังแนะนำให้มหาวิทยาลัยสร้างความหลากหลายมากขึ้นในเส้นทางอาชีพสำหรับคณาจารย์หรือกำหนดแนวทางการนัดหมายร่วมกันเพื่อนำความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมาใช้ รวมถึงแนะให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้แบบองค์รวมมากขึ้น
รัฐมนตรีศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าวว่า ขณะนี้ ทางการสิงคโปร์ได้มองหามิติต่างๆ ที่จำเป็นในการประเมินความสำเร็จของตนเองแล้ว ซึ่งนอกเหนือจากการวัดผลการวิจัยและการสอนแบบเดิมๆ แล้ว ยังเพิ่มการเรียนรู้ตลอดชีวิตและผลกระทบทางสังคมรวมเข้าไปด้วย
ที่มา : S’pore exploring how to curate best modules across institutions for adult learners: Chan Chun Sing