เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) และโครงการพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระยะนำร่อง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีครูจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมรับฟังกว่า 3,000 คน
นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ตามที่ สพฐ. และ กสศ. ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อให้คงอยู่ในระบบการศึกษาและได้รับการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาอย่างเต็มความสามารถนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับพื้นที่ เพื่อให้สามารถค้นหานักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในระดับการศึกษาภาคบังคับได้เจอและได้รับทุนเสมอภาคป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา และได้รับความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาได้ทันท่วงที
“ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 สพฐ. ได้จัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนไปยังนักเรียนทั้งสิ้น 1,595,875 คน ขณะเดียวกัน กสศ. ก็ได้จัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคให้นักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1,266,001 คน ครอบคุลมสถานศึกษาทั้งหมด 27,527 แห่ง”
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำหรับภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 สพฐ. และ กสศ. จะยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยวางแนวทางการทำงานร่วมกัน 3 แนวทาง ประกอบด้วย
แนวทางที่ 1 การบูรณาการฐานข้อมูลและกลไกการทำงานร่วมกับ 11 หน่วยงานและสถานศึกษา เพื่อพัฒนาระบบติดตามแนวโน้มการศึกษาต่อของนักเรียนในระบบการศึกษา และพยายามผลักดันให้เกิดการป้องกันนักเรียนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืนภายใต้โครงการพาน้องกลับมาเรียน
แนวทางที่ 2 การทดลองนำร่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีการวางแนวทางสนับสนุนให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษาต่อจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ
แนวทางที่ 3 การทดลองนำร่องพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนครอบคลุมทุกมิติ ในสถานศึกษาจำนวน 1,000 แห่ง จาก 30 เขตพื้นที่การศึกษา ด้วยการยกระดับระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในระบบ One Application ซึ่งจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนเพื่อลดความเสี่ยงของนักเรียนในแต่ละมิติปัญหา เพื่อให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศสามารถจัดทำมาตรการช่วยเหลือนักเรียนได้
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เป็นความพยายามร่วมกันระหว่าง กสศ. และ สพฐ. ในการพัฒนาระบบที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจว่าเด็กทุกคน ไม่ว่าเกิดมายากดีมีจนจะได้รับการดูแลไปจนสิ้นสุดเส้นทางการศึกษาตามความถนัดและศักยภาพเป็นรายบุคคล โดย กสศ. และ สพฐ. ได้ร่วมกันพัฒนาระบบสารสนเทศและเครื่องมือต่าง ๆ ให้สามารถดูแลเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจนถึงเป้าหมายโดยไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาระหว่างทาง
“นอกจากทุนเสมอภาค กสศ. ยังมีทุนอื่น ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดโอกาสทางการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ เช่น ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง นักเรียนจะสามารถเลือกเรียนต่อในสาย ปวช. และ ปวส. ได้ เป็นทุนให้เปล่าที่ไม่ต้องใช้เงินคืน อีกทุนหนึ่งคือทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ที่จะช่วยให้ได้เรียนต่อไปในระดับปริญญาตรี โท เอก ตามศักยภาพเป็นรายบุคคล เป็นทุนให้เปล่าเช่นกัน ยังมีทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่จะทำให้เด็กเยาวชนด้อยโอกาสกลับไปเป็นครูในภูมิลำเนาท้องถิ่นของตนเองได้ เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ กสศ. มี ถ้าเราได้ทำงานร่วมกันจนถึง ม.3 คือเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้วก็อยากให้คุณครูและผู้บริหารเอาโอกาสเหล่านี้ไปเสนอให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น”
ดร.ไกรยส ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผลกระทบจากโควิด – 19 ทำให้รายได้ผู้ปกครองลดลงต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อคนต่อเดือนของครอบครัวเด็กเยาวชนยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาท ปัจจุบันมีเด็กในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล – ม.3) ประมาณ 9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเด็กยากจนด้อยโอกาสอยู่ประมาณ 1.3 ล้านคน นอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษา กสศ. ได้ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มองเห็นสถานการณ์ทิศทางเดียวกัน และช่วยกันจัดหาทรัพยากรมาช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างตรงเป้าหมายปัญหา
“กสศ. จะรวบรวมข้อมูลส่งให้ต้นสังกัดหากลไกสนับสนุนช่วยเหลือนักเรียนเพิ่มเติม เช่น เด็กในช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 หรือ ม.3 ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะออกจากระบบการศึกษาจะส่งข้อมูลให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลแบบบูรณาการระหว่างโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง หรือจากโรงเรียนเดิมไปโรงเรียนใหม่ให้ได้ข้อมูลชุดเดียวกันเพื่อนำไปสู่การดูแลให้มีความต่อเนื่อง เป็นระบบที่มองเห็นปัญหาแล้วสามารถพาน้องกลับมาเรียนได้”
ขณะที่ นาวสาวจีระวรรณ ปักกัดตัง รองผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. กล่าวว่า ตามที่ กสศ. และ สพฐ. ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนระยะนำร่องมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเพื่อดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาต้นแบบจำนวน 998 แห่ง ครอบคลุม 26 เขตพื้นที่การศึกษา โดยในภาคเรียนที่ 2/2565 สพฐ. และ กสศ. ยังคงยึดแนวทางเดิมในการทำงานร่วมกันคือดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและมีเครื่องมือการทำงานที่มีประสิทธิภาพ 3 ส่วนสำคัญดังนี้
1.การเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลนักเรียน ที่มีแนวโน้มความเสี่ยงหรือมีปัญหาด้านพฤติกรรมและสุขภาพจิต จากระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนไปยังโปรแกรม School Health Hero ของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ โดยได้ประชุมหารือเพื่อส่งต่อข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงระบบสารสนเทศให้แล้วเสร็จภายในภาคเรียนนี้
2.การพัฒนาโจทย์การทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้ฐานข้อมูลเชิงประจักษ์จากพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล ส่งต่อข้อมูล และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในระดับกระทรวง ระดับพื้นที่ และระดับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมดูแลช่วยเหลือนักเรียน
3.การพัฒนาเครื่องมือคัดกรองและหลักเกณฑ์การจำแนกกลุ่มนักเรียน ให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในการดำเนินงาน มีความน่าเชื่อถือตามหลักวิจัย มีประสิทธิภาพในการนำข้อมูลไปดำเนินงานต่อในระยะยาว สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในมิติอื่น ๆ เพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
กสศ. เปิดปฏิทิน ‘ทุนเสมอภาคนักเรียน ม.ปลาย’ นำร่อง 16 เขตพื้นที่การศึกษาใน 7 จังหวัด ชูระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนต่อเนื่องหลังจบการศึกษาภาคบังคับ
ในวันเดียวกัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสที่สูงขึ้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 – ม.6) สำหรับสถานศึกษาสังกัด สพฐ. นำร่อง 16 เขตพื้นที่การศึกษา ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีษะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting
นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุนเสมอภาคจัดสรรให้กับนักเรียนระดับอนุบาลถึง ม.3 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ป้องกันการหลุดออกจากระบบก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้คุณครู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสถาบันการศึกษา สามารถสานต่อการดูแลนักเรียนที่จบการศึกษาชั้น ม.3 ให้ได้รับทุนต่อเนื่อง ในภาคเรียนที่ 2/2565 กสศ. ได้ดำเนินงานโครงการใหม่เพื่อต่อยอดทุนเสมอภาคไปยังนักเรียนระดับ ม.ปลาย
“โครงการนี้เป็นการทดลองขยายความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่นำร่องให้ครอบคลุมถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในทุกภูมิภาคของสถานศึกษาในสังกัดของ สพฐ. เพื่อสนับสนุนดูแลนักเรียนกลุ่มเป้าหมายให้สามารถไปต่อได้บนเส้นทางการศึกษา คือสามารถจบการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับได้ ด้วยทุนที่จะช่วยในเรื่องค่าเดินทาง ค่าครองชีพ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา”
นางสาวกนิษฐา ระบุว่า จากข้อมูลรับสมัครนักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ม.4 ของ กสศ. ในภาคเรียนที่ 1/2565 พบว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีนักเรียนสมัครเข้ามาเป็นจำนวน 402 คน จาก 23 โรงเรียน ตาก 612 คน จาก 23 โรงเรียน นครศรีธรรมราช 1,320 คน จาก 62 โรงเรียน นราธิวาส 556 คน จาก 12 โรงเรียน ศรีษะเกษ 1,657 คน จาก 53 โรงเรียน เชียงราย 420 คน จาก 39 โรงเรียน และ แม่ฮ่องสอน 497 คน จาก 9 โรงเรียน รวมทั้งสิ้นจึงมีจำนวนที่สมัครรับทุนรวม 5,464 คน จาก 221 โรงเรียน
กสศ. นำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ปกครองนักเรียนราว 78 % มีระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.ปลาย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานของ กสศ. ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการหนุนเสริมโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสถานะครัวเรือนด้วยอาชีพที่ทำรายได้สูงกว่าคนในครอบครัวรุ่นก่อน การดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ให้หลุดออกไปจากระบบการศึกษายังคงจำเป็นเร่งด่วน
โดยจากนักเรียนที่สมัครขอรับทุนจำนวน 5,464 คน กสศ. สามารถสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งหมด 4,852 คน จาก 221 โรงเรียน จากการทำงานด้วยฐานข้อมูลภาคเรียนที่ 1/2565 พบว่าใน 4,852 คน มีการกู้ยืม กยศ. 205 คน คิดเป็น 4.22 % นับว่าเป็นจำนวนน้อย อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ กสศ. จะร่วมหารือกับ กยศ. เพื่อสร้างเครื่องมือหรือแรงจูงใจให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น และค้นหาว่านักเรียนต้องการสิทธิประโยชน์ใดที่จะสอดคล้องกับปัญหาของแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขั้นตอนดำเนินงานในภาคเรียนที่ 2/2565 กสศ. จะยังคงใช้ฐานข้อมูลการให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional cash transfer หรือ CCT) ในการตรวจสอบข้อมูลและสถานะการมาเรียน โดยจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
“ครูคือคนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสิทธิโอกาสผ่านการยืนยันรับรอง การกรอกบันทึกการมาเรียน ผลการเรียน เป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาทุนของ กสศ. ประเด็นสำคัญที่คุณครูต้องรับทราบคือ กรณีเด็กนักเรียนได้รับทุนแล้วในภาคเรียนที่ 1/2565 แต่ถ้าในภาคเรียนที่ 2 ไม่มีการยืนยันข้อมูลต่อเนื่องเด็กจะเสียสิทธิ์รับทุน ฉะนั้นขอความร่วมมือจากทางครูประจำชั้น หรือครูผู้ดูแลนักเรียนทุนให้เข้ายืนยันสิทธิ์ขอรับทุนต่อเนื่อง ในส่วนแบบฟอร์ม กสศ. ได้ออกแบบให้การบันทึกข้อมูลทำได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น สามารถทำได้ทั้งวิธีให้ครูบันทึกร่วมกับลายเซ็นต์ผู้รับทุน หรืออีกวิธีหนึ่งคือนักเรียนผู้รับทุนบันทึกข้อมูลด้วยตัวเอง โดยให้ครูลงลายเซ็นต์ยืนยันรับรองข้อมูล ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของครูได้”
นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต กล่าวต่อไปว่า โครงการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสที่สูงขึ้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นการการทดลองสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง จึงขอความร่มมือทุกฝ่ายช่วยกันทดสอบกระบวนการ รวมถึงวิเคราะห์อัตราเงินอุดหนุนที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การทำงานปีต่อ ๆ ไป มีการปรับปรุงและขยายผลให้ดียิ่งขึ้น
“เราได้รับการสนับสนุนจาก สพฐ. ในการขับเคลื่อนงาน มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นกระบอกเสียงในการแจ้งสถานศึกษา และคนสำคัญที่สุดคือคุณครูที่จะช่วยเน้นย้ำให้นักเรียนเข้าถึงทุนเพื่อต่อยอดโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้ยังมีสถาบันทางวิชาการสองแห่ง คือมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ออกแบบระบบการขอรับและยืนยันทุน รวมทั้งการติดตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในการพิจารณาทุน ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ช่วยวิเคราะห์การทำงานในรอบหนึ่งปีผ่านมา เพื่อวางกระบวนการและแนวทางทำงานให้สอดคล้องกลุ่มเป้าหมาย ทั้งหมดนี้คือภาพรวมการดำเนินงานโครงการทุนเสมอภาค สำหรับนักเรียนในภาคเรียนที่ 2/2565” นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าว