รัฐบาลแทนซาเนียประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายของอดีตผู้นำเผด็จการ จอห์น มากูฟูลี (John Magufuli) ซึ่งการยกเลิกนี้จะช่วยเปิดทางให้เด็กสาวที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือกลายเป็นคุณแม่วัยใส สามารถกลับมาเรียนหนังสือต่อจนจบหลักสูตรการศึกษาได้ ไม่ต้องเลิกเรียนกลางคัน รวมถึงเตรียมพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม อย่างทุนการศึกษา เพื่อช่วยเหลือให้คุณแม่วัยรุ่นเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา
การตัดสินใจของรัฐบาลแทนซาเนียมีขึ้นหลังจากที่ผู้นำคนใหม่อย่างประธานาธิบดีซาเมีย ซูลูฮู (Samia Suluhu) ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจากผู้นำเผด็จการคนเก่าอย่างมากูฟูลีที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา จากปัญหาโรคหัวใจ ประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ว่าต้องการยกเลิกและปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารปกครองประเทศของอดีตผู้นำบางส่วน เพื่อปฏิรูปให้แทนซาเนียมีความทันสมัย ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนโยบายการศึกษา
ทั้งนี้ ประเด็นหลักของนโยบายการศึกษาของอดีตผู้นำประเทศที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติมาเป็นเวลานานหลายปีก็คือ การออกกฎหมายห้ามหญิงตั้งครรภ์กลับไปเรียนหนังสือ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่คุณแม่ได้อย่างเต็มที่ โดยข้อห้ามดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเด็กหญิงวัยรุ่นจำนวนมากที่ถูกทางบ้านบังคับให้แต่งงงาน และกลายเป็นช่องทางให้โรงเรียนหลายแห่งบังคับตรวจร่างกายเด็กนักเรียนหญิงก่อนสอบเลื่อนระดับชั้น เพื่อพิสูจน์ว่าเด็กคนนั้นตั้งครรภ์หรือไม่ หากพบว่าตั้งครรภ์ก็จะหมดสิทธิ์สอบและถูกไล่ออกจากโรงเรียนในทันที
จอยซ์ นดาลีชาโค (Joyce Ndalichako) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแทนซาเนีย กล่าวว่า การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวจะอนุญาตเปิดทางให้นักเรียนหญิงที่ตั้งครรภ์สามารถทำเรื่องพักการเรียนชั่วคราว และได้รับอนุญาตให้กลับไปเรียนหนังสือให้จบตามหลักสูตรได้อีกครั้งหลังจากคลอดลูกแล้ว ไม่ต้องลาออกเลิกเรียนกลางคันเหมือนที่แล้วมา
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแทนซาเนียย้ำว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในทันที โดยคาดว่าน่าจะทันสิ้นปีนี้แน่นอน
บรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจของรัฐบาลแทนซาเนียในครั้งนี้ พร้อมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาข้อบังคับดังกล่าวทำให้เด็กหญิงจำนวนมากถูกตัดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิการศึกษา ขณะที่ธนาคารโลกหรือเวิล์ดแบงก์ก็กล่าวชื่นชมรัฐบาลแทนซาเนีย และยินดีกับการประกาศยกเลิกอุปสรรคที่ขวางกั้นการเข้าถึงการศึกษาของเด็กหญิงชาวแทนซาเนีย โดยก่อนหน้านี้ธนาคารโลกมีคำสั่งระงับเงินกู้มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับสนับสนุนการศึกษาเด็กหญิงในแทนซาเนียเพื่อประท้วงกฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ ทางสถานทูตสวีเดน หนึ่งในประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาแก่แทนซาเนีย และมีมาตรการตัดลดงบประมาณช่วยเหลือแทนซาเนียเมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็ได้ออกมาแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจครั้งนี้เช่นกัน โดยทางสถานทูตสวีเดนในแทนซาเนียได้ทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับเด็กหญิงทั้งหลายที่จะได้ปลดล็อกศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน บรรดาสมาชิกพรรคฝ่ายข้ามที่เดินหน้าเรียกร้องและผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ต่างออกมาฉลองความสำเร็จในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยระบุชัดว่า ความพยายามของพวกตนได้รับการตอบแทนแล้ว
ทั้งนี้ หลังสืบทอดตำแหน่งต่อจากอดีตผู้นำ ประธานาธิบดีซาเมีย ซูลูฮู ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของแทนซาเนียได้เดินสายพบปะหารือกับทุกฝ่าย พร้อมให้คำมั่นที่จะใช้นโยบายที่ปกป้องประชาธิปไตยและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ในส่วนของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า แม้จะช้าไปบ้าง แต่ในที่สุดแทนซาเนียก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง โดยแทนซาเนียถือเป็นสองประเทศสุดท้ายในภูมิภาคแอฟริกาที่ประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายห้ามเด็กหญิงตั้งครรภ์และคลอดลูกแล้วกลับไปเรียนหนังสือ
รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแทนซาเนียกล่าวว่า รัฐบาลจะเดินหน้ากำจัดทุกอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้เด็กนักเรียนกลับไปเรียนหนังสือหลังจากจำเป็นต้องพักการเรียนไป ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งหมายรวมถึงสาเหตุจากการตั้งครรภ์
ด้านเลโอนาร์ด อัควิลาโป (Leonard Akwilapo) ปลัดกระทรวง กล่าวต่อสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราว่า ถึงเวลาแล้วที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องจากหลายฝ่าย รวมถึงภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ นโยบายห้ามเด็กหญิงตั้งครรภ์เรียนหนังสือมีขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1960 ภายใต้การปกครองของอดีตประธานาธิบดีมากูฟูลี ซึ่งประกาศกร้าวว่ารัฐบาลของตนไม่มีนโยบายให้การศึกษาคุณแม่ โดยปี 2017 อดีตผู้นำแทนซาเนียเคยให้สัมภาษณ์ยืนยันความชอบธรรมของนโยบายดังกล่าวด้วยการระบุว่า รัฐบาลของตนให้นักเรียนทุกคนเรียนฟรี แต่นักเรียนหญิงคนหนึ่งกลับตั้งครรภ์ ลาไปคลอดลูก แล้วกลับมาเรียนใหม่ แบบนี้ไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไรนัก และรัฐบาลตนเองไม่อนุญาตให้เกิดขึ้นเด็ดขาด
มีรายงานว่า ด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้โรงเรียนแทบทุกแห่งในแทนซาเนียบังคับตรวจร่างกายเด็กหญิงทุกปีเพื่อพิสูจน์การตั้งครรภ์ ซึ่งฝ่ายต่อต้านเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับตัวเด็กหญิงที่ส่วนใหญ่มักถูกครอบครัวหรือทางบ้านบังคับแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย
นอกจากแสดงความชื่นชมแล้ว กลุ่มนักเคลื่อนไหวยังใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ผู้นำประเทศคนใหม่ปรับหลักสูตรการศึกษา โดยให้มีการเพิ่มความรู้ในเรื่องเพศศึกษาให้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม โดยนีมา มเกนดี (Neema Mgendi) ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง Okoa New Generation (ONG) องค์กรอิสระที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพเด็กหญิงที่ต้องเลิกเรียนกลางคันเพราะตั้งครรภ์กล่าวว่า เด็กหญิงส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นเพราะขาดความรู้พื้นฐานด้านเพศศึกษา ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำหลังจากนี้ก็คือการลงทุนให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษาให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความตระหนักรู้ในสังคมผลกระทบของค่านิยมการแต่งงานก่อนวัยอันควร เพื่อสนับสนุนให้เด็กหญิงได้เรียนหนังสือในโรงเรียนได้มากขึ้น
ข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่า เฉพาะปี 2020 ที่ผ่านมา มีเด็กหญิงในแทนซาเนียมากกว่า 5,000 คน ไม่สามารถกลับไปเรียนหนังสือได้เพราะพลาดตั้งครรภ์ ซึ่งทางธนาคารโลกเห็นด้วยและสนับสนุนกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวในการลงทุนเรื่องเพศศึกษา
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของธนาคารโลกระบุชัดว่า แม้จะขังไม่มีหลักฐานยืนยันโดยตรง แต่การศึกษาหลายฉบับก่อนหน้านี้ก็บ่งชี้ว่า การขาดความรู้เพื่อเพศศึกษาและปัญหาความยากจนคือสองปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กหญิงแทนซาเนีย จนอาจพลาดเผชิญปัญหาท้องไม่พร้อมหรือถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควรได้
ขณะที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มฮิวแมน ไรท์ส วอชท์ (HRW) เปิดเผยรายงานอ้างคำให้การของเด็กหญิงที่ตั้งครรภ์ขณะเรียนหนังสือว่า เป็นผลจากการถูกเอาเปรียบจากผู้ชายในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนขับแท็กซี่หรือรถโดยสารรับจ้างที่มักจะเสนอความช่วยเหลือ สิ่งของจำเป็น หรือให้โดยสารไปเรียนฟรีโดยแลกกับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหญิง
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลแทนซาเนียในครั้งนี้ส่งผลให้กินีกลายเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคแอฟริกาที่ยังบังคับใช้กฎหมายห้ามคุณแม่วัยใสเรียนหนังสือ
อีลิน มาติเนซ (Elin Martinez) นักวิจัยอาวุโสด้านสิทธิเด็กของกลุ่ม HRW กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาหลายฉบับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วแอฟริกายืนยันว่า เพียงแค่ยกเลิกนโยบายห้ามคุณแม่วัยใสกลับไปเรียนหนังสือนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กหญิงในแอฟริกาได้ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลต้องมีกรอบทางกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน เข้าถึงได้ เพื่อให้เด็กหญิงเหล่านี้มีช่องทางที่สามารถเรียนร้องสิทธิการศึกษาด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการจัดทำหลักประกันที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กหญิง
ที่มา :
• Tanzania lifts ban on teen mothers attending schools
• Activists worked to end pregnant schoolgirl ban. They succeeded