กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นประกาศปรับเปลี่ยนหลักสูตรและแนวทางการสอนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ในภาคเรียนการศึกษาถัดไป คือตั้งเดือนเดือนเมษายน ปี 2565 ซึ่งการปรับเปลี่ยนแนวทางครั้งนี้ ใจความสำคัญอยู่ที่การจัดหาครูมาสอนในรายวิชาโดยเฉพาะ แทนที่จะปล่อยให้ครูประจำชั้นรับผิดชอบสอนทุกรายวิชาคนเดียว เพื่อให้ครูประจำชั้นมีเวลาในการเอาใจใส่ดูแลความต้องการของเด็กแต่ละคนในห้องเรียนโดยเฉพาะ
สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่า เบื้องต้นการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะเริ่มที่นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และปีที่ 6 ก่อน เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเลื่อนระดับชั้นไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ในหลักสูตรแบบเดิม นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐทั่วญี่ปุ่น จะเรียนหนังสือในทุกวิชากับครูคนเดียว หมายความว่า ครูประจำชั้นหนึ่งคนจะสอนเด็กๆ ในห้องตั้งแต่วิชาโฮมรูมไปจนถึงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ยันพลศึกษา ในขณะที่เด็กจะได้เรียนหนังสือกับครูผู้เชี่ยวชาญในวิชาต่างๆ ก็ต่อเมื่อขึ้นเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาเป็นต้นไป
แถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นระบุว่า เป้าหมายแรกสุดของการปรับแนวทางการศึกษาในครั้งนี้เป็นไปเพื่อลดภาระงานของครูประจำชั้น ที่ปัจจุบันต้องเตรียมการเรียนการสอนในทุกวิชาควบคู่ไปกับการจัดการดูแลงานด้านเอกสารที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียน ซึ่งการลดภาระครั้งนี้จะช่วยให้ครูได้มีโอกาสขัดเกลาพัฒนาทักษะการสอน ส่งผลดีต่อประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเด็กเอง
ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นยังหวังให้การปรับเปลี่ยนแนวทางการสอนจะช่วยให้เด็กๆ สามารถปรับตัวได้ดีขึ้นเมื่อต้องเลื่อนระดับชั้นไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป
รายงานระบุว่า ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของกระทรวงตั้งเป้าให้การประยุกต์ใช้ระบบการสอนแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้คือ
-ยกระดับทักษะการสอนของครูและผลลัพธ์ความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กนักเรียน
-เพื่อส่งเสริม สนับสนุนมุมมองที่หลากหลายในการรับมือกับปัญหาหรือความต้องการของเด็กนักเรียน เนื่องจากมีครูหลายคนเข้ามาช่วยสอนในห้องเรียนมากขึ้น
-ให้นักเรียนสามารถปรับตัวไปเรียนในระดับชั้นมัธยมได้อย่างราบรื่น
-สร้างเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีให้แก่บรรดาคุณครู
ทั้งนี้ แม้จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า แนวทางการสอนใหม่จะเริ่มใช้ในเดือนเมษายนปีหน้า แต่ก็มีโรงเรียนบางแห่งได้เริ่มนำร่องทดลองใช้งานแล้วบางส่วน ซึ่งรวมถึงโรงเรียนประถมคิบุคาวะ ในเมืองโคคะ จังหวัดชิงะ ซึ่งประยุกต์ในใช้งานในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
โดยโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากคุณครูวัยเกษียณในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฮิเดทากะ นากายาสุ (Hidetaka Nagayasu) วัย 62 ปี ที่กลับมาสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และยาสุจิ อิบะ (Yasuji Iba) วัย 61 ปี ในวิชาศิลปะกับภาษาและวรรณคดี
ทั้งสองตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า การที่ครูมีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่สอน ทำให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะเรียนในแต่ละวิชามากขึ้น และมีผลการเรียนที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในกรณีของครูนากายาสุที่ได้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และมีโอกาสพานักเรียนไปสังเกตลักษณะก้อนเมฆระหว่างเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นักเรียนต่างพากันยกมือแย่งกันตอบคำถามของครูอย่างสนุกสนาน ในส่วนของครูอิบะผู้สอนวิชาศิลปะกล่าวว่า ผลงานของเด็กออกมาได้ดีเกินคาดกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนตั้งเอาไว้
โยชิฮิโระ คาตาโอกะ (Yoshihiro Kataoka) ครูใหญ่ของโรงเรียนประถมคิบุคาวะ วัย 60 ปี กล่าวว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูมีเวลากับการสอนในแต่ละวิชาอย่างเต็มที่ และมีเวลาที่จะได้พูดคุยสื่อสารกับนักเรียนในห้องเรียน โดยที่ผ่านมาบรรดาครูประจำชั้นต่างยุ่งวุ่นวายกับการเรียนการสอนในทุกวิชาจนไม่มีเวลาที่จะสื่อสารกับเด็กในห้องเลย ดังนั้น โครงการนำร่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของครูเสียใหม่ โดยครูใหญ่คาตาโอกะเป็นผู้เสนอแนวคิดของแนวทางการสอนแบบใหม่ให้กับทางเทศบาล เพื่อหวังให้โรงเรียนประถมของรัฐในพื้นที่อื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติตาม
คาตาโอกะกล่าวว่า ความคาดหวังหลักก็คือการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา และทำให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ด้วยการจัดหาครูมาสอนแต่ละรายวิชาโดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงนำร่อง ทางโรงเรียนประถมได้ว่าจ้างครูประจำและครูพาร์ตไทม์รวม 5 ตำแหน่ง รวมถึงครูผู้ช่วยอีก 2 ตำแหน่ง ขณะที่ครูสอนวิชาโฮมรูมจะรับผิดชอบการสอนด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ และความรู้ทั่วไปในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากวิชาบังคับ
ขณะที่มาซาโกะ คัตสึยะ (Masako Katsuya) ครูสอนคณิตศาสตร์วัย 42 ปี กล่าวชื่นชมและสนับสนุนแนวทางการสอนแบบใหม่ เนื่องจากช่วยลดภาระงานตนเองได้มาก จากเวลาการสอน 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ลดลงเหลือ 19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้มีเวลาเตรียมการสอนในวิชาของตนเอง และได้ใช้เวลาในการตรวจการบ้านเพื่อพิจารณาจุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน แล้วหาทางจัดการ
ขณะเดียวกัน เมื่อมีครูมารับผิดชอบในรายวิชา ก็ช่วยให้ครูที่สอนโฮมรูมสามารถทำหน้าที่เป็นครูที่ปรึกษาให้กับนักเรียนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การเพิ่มครูในบางแห่งยังทำให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนในวิชาทางเลือกที่ตนเองสนใจนอกเหนือจากวิชาบังคับ เช่น วิชาการปลูกข้าว วิชาการเขียนโคลงกลอน เป็นต้น
รายงานระบุว่า จนถึงขณะนี้นักเรียนชั้นประถม 5 และ 6 ของโรงเรียนประถมคิบุคาวะเกือบ 90% ต่างสนับสนุนแนวทางดังกล่าว พร้อมระบุว่า ตนเองมีส่วนร่วมกับการเรียนในห้องเรียนมากขึ้น ขณะที่ 67.8% ยอมรับว่า การที่มีครูมากขึ้น ทำให้รู้สึกอุ่นใจ เพราะมีครูที่สามารถเข้าหาและขอคำแนะนำนอกห้องเรียนได้มากขึ้น
กระนั้น มีนักเรียนส่วนหนึ่งยอมรับว่า รู้สึกสับสนกับจำนวนครูที่เพิ่มเข้ามามากขึ้น ซึ่งทางครูใหญ่คาตาโอกะกล่าวว่า เป็นประเด็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมากที่สุด ก่อนที่จะมีการนำมาใช้อย่างจริงจังในเดือนเมษายนนี้
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแนวทางการศึกษาใหม่ แต่ก็มีโรงเรียนบางแห่ง เช่น โรงเรียนในจังหวัดเฮียวโงะและจังหวัดอิบารากิ ที่ชิมลางเพิ่มครูสอนในระดับชั้นประถมศึกษามาตั้งแต่ปี 2012 เพียงแต่จำกัดเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้กับนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งได้ผลลัพธ์ในทางบวกเป็นที่น่าพึงใจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายในการปรับแนวทางการสอนแบบใหม่นี้ก็คือ ปัญหาขาดแคลนบุคลากรครู โดยเฉพาะกับโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดต่างๆ ในเขตชนบทหรือภูเขาที่มีนักเรียนต่อห้องเพียงแค่ 11 คนเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือโรงเรียน โอฮารา จูบุ ในเขตภูเขาของเมืองโทโยตะ จังหวัดไอจิที่ทั้งโรงเรียนตั้งแต่ประถม 1-6 มีนักเรียนทั้งหมด 46 คน
ชินอิจิ ยามาอุจิ (Shinichi Yamauchi) ครูใหญ่ของโรงเรียนโอฮารา จูบุ วัย 57 ปี กล่าวว่า ไม่สามารถคาดหวังให้ทางรัฐจัดสรรเจ้าหน้าที่ที่ขาดแคลนอยู่แล้วมาสอนให้กับทางโรงเรียนได้ ซึ่งยามาอุจิยอมรับว่า ไม่ค่อยคาดหวังผลลัพธ์ใดๆ กับแนวทางการสอนแบบใหม่ และคิดว่าครูในโรงเรียนจำเป็นต้องรับภาระหน้าที่เหมือนเดิม
ขณะเดียวกัน แม้จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น แต่ยามาอุจิก็ยอมรับว่าแนวทางดังกล่าวจะกลายเป็นภาระหนักให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนบุคลากรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นได้วางแผนแก้ปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว ด้วยการเตรียมเพิ่มจำนวนครูได้ให้ 8,800 ตำแหน่ง ภายในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการเพิ่มงบจัดสรรการจ้างครูพิเศษเพิ่มเติมอีก 2,000 ตำแหน่งภายในปี 2022 พร้อมเปิดทางให้แต่ละโรงเรียนมีอิสระในการประยุกต์ใช้แนวทางแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของทางโรงเรียนมากที่สุด
โทโมฮิโระ คินะ (Tomohiro Kina) ที่ปรึกษาสหพันธ์ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งชาติ และครูใหญ่ของโรงเรียนประถมศึกษาเมจิ ในเขตโคโตะของโตเกียว วัย 60 ปี กล่าวว่า ระบบครูประจำวิชามีขึ้นเพื่อปฏิรูปวิธีการทำงานของครู แต่โดยส่วนตัวไม่คิดว่าระบบจะทำได้ เว้นแต่ว่าแต่ละโรงเรียนจะสามารถจัดหาครูประจำวิชาของตัวเองได้ อีกทั้งโรงเรียนหลายแห่งว่าจ้างครูเพื่อลดขนาดชั้นเรียนให้เล็กลงเท่านั้น ดังนั้น โรงเรียนบางแห่งอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการของโรงเรียนอย่างมาก เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นต่อไป
ที่มา : A dramatic shift: Subject teachers in Japan’s grade schools