องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องนานาประเทศทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่และภาระความรับผิดชอบของครูเนื่องในวันครูโลก (World Teachers’ Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี พร้อมยกให้ครูคือ “ฮีโร่” ที่เป็นพลังขับเคลื่อนหลักเบื้องหลังการเดินหน้าฟื้นฟูระบบการศึกษาโลกในยุคหลังโควิด-19
แถลงการณ์ของ UN กล่าวว่า วิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางการศึกษาได้แสดงให้เห็นความสำคัญของบทบาทครูที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้เด็กนักเรียนสามารถเรียนหนังสือได้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้ และการที่ระบบการศึกษาหลังจากนี้จะสามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญและลงทุนในการพัฒนาครู โดยครอบคลุมตั้งแต่ทักษะการสอน เงื่อนไขการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ของครูทุกคน ซึ่งมีอยู่ราว 71 ล้านคนทั่วโลก
ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) แห่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO), Henrietta Fore องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), กาย ไรเดอร์ (Guy Ryder) จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และเดวิด เอ็ดเวิร์ดส์ (David Edwards) จากองค์การการศึกษาระหว่างประเทศ (Education International) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อชื่นชมและยกย่องการอุทิศตนของครูทุกคน รวมถึงส่งกำลังใจให้ครูประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถของตนในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์การศึกษาที่แสนจะท้าทายและเอาแน่เอานอนไม่ได้ในปัจจุบัน
แถลงการณ์ระบุว่า วันครูโลกถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศและประชาคมโลกตระหนักถึงบทบาทของครูและหันมาสนับสนุนการทำงานของครูในทุกด้าน โดยเฉพาะการจัดหามาตรการและนโยบายทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้การทำงานของครูเกิดประสิทธิผลสูงสุด
แถลงการณ์ระบุเบื้องต้นว่า “พวกเขา (ครู) คือนักแสดงหลักของความพยายามในการฟื้นฟูการศึกษาทั่วโลก และเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งความก้าวหน้าสู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันสำหรับผู้เรียนทุกคน ในทุกสถานการณ์” ก่อนจะเน้นย้ำแข็งขันว่าครูคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการศึกษาในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะในแง่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ จนถึงการดูแลนักเรียนทั้งด้านอารมณ์และสังคม รวมไปถึงการใส่ใจเด็กกลุ่มเสี่ยง และพยายามช่วยเหลือไม่ให้เด็กๆ ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
แถลงการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการด้านการศึกษาที่ออกมาแสดงความเห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของครู ลำดับต่อไปคือ เมื่อครูมีความสำคัญมากขนาดนี้ เราจึงควรส่งเสริมศักยภาพครู ผ่านการอบรม ผ่านโครงการพัฒนาตนเอง ผ่านการสนับสนุนงบประมาณและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานของครูให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่ครูจะได้เปล่งแสงและสะท้อนศักยภาพออกมา
“การฟื้นฟูการศึกษาจะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเรารับฟังเสียงของครู และให้ครูมีอำนาจและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” บรรดานักวิชาการระบุ
ทั้งนี้ สถานการณ์การศึกษาทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงท้าทายอย่างยิ่ง โดยจากสถิติและข้อมูลที่ UN ได้รวบรวมจนถึงวันที่ 27 กันยายน 2021 พบว่า มี 124 ประเทศทั่วโลกที่สามารถเปิดโรงเรียนกลับมาสอนได้ตามปกติแล้ว อีก 44 ประเทศเปิดโรงเรียนแค่บางส่วน และ 16 ประเทศยังคงปิดทำการอยู่
รายงานระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า ต่อไปนี้โรงเรียนและสังคมควรใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของครู โดยเมื่อเปิดโรงเรียนแล้ว ก็ควรดูแลและให้ความสำคัญต่อความอยู่ดีมีสุขด้านสุขภาพของครู รวมถึงควรส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง ผ่านการอบรมและนำเทคโนโลยีการศึกษามาบูรณาการ
ขณะที่งานวิจัยของ UNESCO เผยว่า แม้จะมีประเทศกว่า 71% ที่ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนแก่ครู แต่มีเพียง 19 ประเทศเท่านั้นที่รวมครูไว้ในกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนรอบแรก ขณะที่อีก 59 ประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับครูในแผนการฉีดวัคซีนลำดับต้นๆ เลย
แถลงการณ์ระบุปิดท้ายว่า เราจำเป็นต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการสนับสนุนครูอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่การเรียนรู้ทั่วโลกยังต้องทำผ่านการสอนทางไกลและการสอนแบบบูรณาการผสมผสาน ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่า การที่ครูจะเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูการศึกษาได้ ต้องส่งเสริมและเพิ่มจำนวนครูทั่วโลกให้มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
หมายเหตุ : ผลการศึกษาสำรวจร่วมกันของ UNESCO/UNICEF/World Bank และ OECD* ในเดือนกรกฎาคม เปิดเผยว่า
· ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ มีประเทศเพียง 40% เท่านั้น ที่ทำการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและฝึกการสอนทางไกลให้แก่ครู
· ช่วงโควิด-19 ระบาด มีเพียง 6 ใน 10 ประเทศเท่านั้นที่ให้การสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์แก่ครู และส่งเสริมครูด้านพัฒนาการอาชีพ
· 58% ของประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจมีการจัดหาเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้ทางไกลให้กับครู ในขณะที่ 42% มีการจัดหาเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ให้กับครู พร้อมรับประกันการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
· ไม่ถึง 1 ใน 3 จาก 103 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ ได้ดำเนินการคัดเลือกครูเพิ่มเติมสำหรับการเปิดโรงเรียนอีกครั้ง และภาวะขาดแคลนครูในหลายประเทศทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง
· มีการประเมินว่า นานาประเทศทั่วโลกต้องการครูอีก 69 ล้านคนเพื่อให้การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีมาตรฐานเป็นสากลภายในปี 2030 (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) 4.1)
· คาดว่าภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) จำเป็นต้องมีครูในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพิ่มอีก 15 ล้านคนภายในปี 2030
*OECD คือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
ที่มา : Teachers are driving force behind ‘global education recovery’ from COVID-19