คุณครูทั่วเกาหลีใต้ออกโรงเตือนรัฐบาลเร่งจัดสรรมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กนักเรียนได้กลับมาเรียนหนังสือที่ห้องเรียนให้เร็วที่สุด หลังพบว่าการเรียนออนไลน์ หรือการเรียนทางไกล ทำให้เด็กส่วนใหญ่สูญเสียทักษะทางสังคม ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Soft Skill ที่จำเป็นต่อโลกในอนาคต ท่ามกลางความวิตกกังวลว่า การเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทำให้ผลการเรียนของเด็กห่างกันมากขึ้น
เนื่องในวันครูแห่งชาติของเกาหลีใต้ซึ่งจะตรงกับวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคมนี้ ทางเว็บไซต์ข่าว The Korea Herald ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของบรรดาครูเกาหลีใต้ทั่วประเทศที่มีต่อสถานการณ์การศึกษาซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ บรรดาครูส่วนใหญ่ต่างวิตกว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบในระยะยาวกับพัฒนาการเรียนรู้ของเหล่าลูกศิษย์ และยิ่งเด็กห่างจากห้องเรียนไปนานเท่าใด ก็ยิ่งทำให้สุขภาวะและคุณภาพทางการศึกษาของเด็กเลวร้ายมากขึ้นเท่านั้น
เนื่องในวันครบรอบ 40 ปีวันครูที่กำลังจะมาถึง สหพันธ์สมาคมครูแห่งเกาหลีใต้ (Korean Federation of Teachers’ Associations) ได้จัดทำการสำรวจความเห็นของครู 7,991 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 5 พฤษภาคม
โดยแบบสอบถามถามว่า อะไรคือปัญหาด้านการศึกษาที่เลวร้ายที่สุดที่ต้องเผชิญในยุคโควิด-19 ระบาด ครูผู้ตอบแบบสอบถาม 35.1 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ปัญหาที่แย่ที่สุดก็คือการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งบั่นทอนทักษะทางสังคม และลดทอนความตระหนักต่อความรับผิดชอบทางสังคม
ขณะที่อีก 27 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ปัญหาที่แย่ที่สุดทางการศึกษาก็คือการสูญเสียโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนของเด็กยากจนด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ 21.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ปัญหาหลักก็คือผลการเรียนที่ถดถอยและจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีมากขึ้น
เฮียว ยุน-เจ ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงโซล เกาหลีใต้ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่เหล่านักเรียนไม่สามารถมาเรียนหนังสือที่ห้องเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ คือสลับกันมาเรียน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเกิดความกระอักกระอ่วน
“โดยปกติเด็กนักเรียนจะทำความรู้จักและเป็นเพื่อนกันในช่วงเริ่มต้นภาคการศึกษาใหม่ ซึ่งช่วยให้บรรยากาศในห้องเรียนผ่อนคลาย ส่งผลให้การสอนและปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียนระหว่างครูกับนักเรียนราบรื่นมากขึ้น” เฮียว ยุน-เจ กล่าวก่อนอธิบายว่า แต่ตอนนี้นักเรียนหลายคนกลับเลือกที่จะถามคำถามกับครูเป็นการส่วนตัวนอกห้องเรียน เพราะส่วนใหญ่รู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องพูดต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น
รายงานระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงตัวครูด้วยเช่นกัน โดยผลการสำรวจพบว่า ครูผู้ตอบแบบสอบถามอย่างน้อย 85 เปอร์เซ็นต์ ต้องเผชิญกับสภาวะเครียด กดดัน และอุปสรรคในการสอนมากกว่าช่วงก่อนที่วิกฤตโควิด-19 ระบาดหนัก
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไขเพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเรียนต่อไปได้และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ครูส่วนใหญ่ต่างเลือกการเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกแรกสุด เพราะสร้างความสบายใจด้านความปลอดภัยต่อทั้งสองฝ่ายคือ ครูและนักเรียนกับครอบครัว และในกรณีที่สามารถกลับมาเรียนที่ห้องเรียนได้ คุณครูทั้งหมดต่างให้นักเรียนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงมาตรการปลีกย่อยอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส แม้จะทำให้ภาระงานของครูเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
ฮา ยูน-ซู ประธานสหพันธ์สมาคมครูแห่งเกาหลีใต้กล่าวว่า ครูครึ่งหนึ่งต่างกังวลเกี่ยวกับช่องว่างทางการศึกษาที่เกิดขึ้น รวมถึงขีดความสามารถในการเรียนที่ถดถอยลง หลังจากยุคโควิด-19 และเพื่อให้การศึกษาของเกาหลีใต้หลังจากนี้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ควบคู่ไปกับการปกป้องสุขภาพของนักเรียน และให้การศึกษาได้ตรงตามเงื่อนไขชีวิตของเด็ก ครูจึงไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวเพียงลำพังได้
“รัฐบาลควรเพิ่มจำนวนครูเต็มเวลา เพื่อให้สามารถลดจำนวนนักเรียนต่อห้องให้เหลือเป็นกลุ่มเล็กพอที่ครูจะสามารถเอาใจใส่ดูแลเด็กแต่ละคนได้อย่างเต็มที่” ฮา ยูน-ซูกล่าว
ขณะที่ในส่วนของการประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลเกาหลีใต้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่น การเปิดตัวชั้นเรียนทางไกล และการให้การสนับสนุนการกักตัว บรรดาครูผู้ตอบแบบสอบถาม 43.2 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า โครงการดังกล่าวขาดการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ และมีเพียง 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มองว่ารัฐบาลเกาหลีใต้รับมือกับโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี
ที่มา : Teachers worry about students losing social skills during pandemic: survey