สิงคโปร์เตรียมประเมินระบบการสอนและการสอบใหม่ เปิดทางเด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง
โดย : LOW YOUJIN
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สิงคโปร์เตรียมประเมินระบบการสอนและการสอบใหม่ เปิดทางเด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง

กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์พิจารณาเตรียมประเมินระบบการสอนและระบบการสอบภายในรั้วโรงเรียนใหม่ เพื่อหวังเปิดทางให้เด็กนักเรียนชาวสิงคโปร์สามารถเรียนรู้และค้นหาตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ภาครัฐต้องการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนค้นพบจุดแข็งที่นอกเหนือจากความรู้ที่เรียนไปเพื่อเข้าสอบในโรงเรียน พร้อมเชื่อมั่นว่า มุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายสามารถช่วยให้นักเรียน “เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและความเป็นจริงของโลก” มากขึ้น 

เพื่อให้นักเรียนชาวสิงคโปร์เกิดมุมมองใหม่ ๆ ต่อการศึกษาเรียนรู้และค้นพบศักยภาพความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ ชาน ชุน ซิง (Chan Chun Sing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์เปิดเผยว่า ทางกระทรวงจำเป็นจะต้องทบทวนวิธีการสอนและระบบการสอบของโรงเรียนใหม่ เพื่อให้ทั้งครูและนักเรียนได้มีพื้นที่เพียงพอที่จะสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ โดยชานกล่าวชัดเจนว่า การเรียนเพื่อสอบไม่จำเป็นต้องเท่ากับการเรียนรู้เพิ่มเติมแต่อย่างใด
“สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่านักเรียนของเราจะรู้มากแค่ไหน แต่พวกเขาเรียนรู้ได้เร็วแค่ไหน พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างไร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าว 

ความเห็นของชานครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีประชุมด้านเศรษฐกิจสังคม Social-Economic Nexus Speaking Engagement Forum ซึ่งจัดโดยฝ่ายบริการสาธารณะ (Public Service Division) ร่วมกับวิทยาลัยข้าราชการพลเรือนสิงคโปร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ข้าราชการเข้าร่วมรับฟังมากกว่า 1,500 คน เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้นักเรียนชาวสิงคโปร์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนค้นหาและพัฒนาจุดแข็งของตนเองนอกเหนือไปจากการสอบในโรงเรียน โดยนักเรียนต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่หลากหลายเพื่อให้มีวิสัยทัศน์และมุมมองต่อโลกอย่างเปิดกว้างขึ้น รวมถึงเพื่อให้มีความพร้อมที่จะเข้าใจความเป็นจริงบนโลกใบนี้ 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเปิดมุมมองนักเรียนให้กว้างไกลขึ้นก็คือบุคลากรครู ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์มองว่า ระบบการศึกษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันควรให้พื้นที่แก่ครูได้เข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุงพัฒนา เพื่อยกระดับทักษะการสอนของตนเอง ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดทางให้คุณครูใช้เวลาช่วงวันหยุดหรือปิดเทอมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อฟื้นฟูมุมมองและต่ออายุชุดทักษะของตน

“เมื่อครูของเรามีความรู้ที่อัดแน่นและสดใหม่ นักเรียนของเราจะได้รับประโยชน์ไปด้วย”

ในมุมมองของชาน ทักษะความรู้ใหม่ ๆ ที่ครูต้องรู้นี้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับวิชาที่ครูคนนั้นสอนเสมอไป แต่ยังรวมถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะจะทำให้ครูเหล่านี้มีมุมมองและประสบการณ์ต่อโลกความเป็นจริงได้อย่างถูกต้อง สามารถพูดคุยกับนักเรียนเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวได้อย่างดี

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ครูออกไปเรียนทักษะใหม่นอกตำราเรียน จะช่วยเปิดโอกาสให้ครูได้สร้างความสัมพันธ์กับคนในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งจะช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสมาสู่นักเรียน เชื่อมให้นักเรียนของตนค้นพบความสามารถ ความถนัดที่หลากหลาย เพื่อความสำเร็จในอนาคตที่มากขึ้นได้ 

ขณะเดียวกัน อีกทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กนักเรียนสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นคือ การร่วมมือกับนักเรียนในวัยเดียวกันจากนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งแต่เดิมก็คือการส่งเสริมให้เด็กสิงคโปร์ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ แต่เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องพิจารณาแนวทางในการสำรวจโลกใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้เด็กเหล่านี้ต้องเสียโอกาสเพียงเพราะโควิด-19

นอกเหนือจากความจำเป็นในการสร้างประสบการณ์และมุมมองต่อชีวิตให้มีความหลากหลายมากขึ้นแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังกล่าวว่า สิงคโปร์ต้องส่งเสริมให้มีโรงเรียน เส้นทางการศึกษา และทักษะที่หลากหลายสำหรับนักเรียนต่อไป ซึ่งผลลัพธ์อย่างหนึ่งของการสร้างทางเลือกที่หลากหลายทำให้ขณะนี้มีนักเรียนชั้น ป.1 ประมาณ 70% ตั้งเป้าว่าเมื่อเติบโตขึ้นพวกเขาจะเรียนต่อยังวิทยาลัยสารพัดช่างหรือสถาบันการศึกษาด้านเทคนิคเป็นหลัก

“เราต้องดำเนินการให้มั่นใจว่าการศึกษาและการฝึกอบรมของพวกเขาจะเป็นรากฐานที่ดีสำหรับพวกเขา เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดงานได้” 

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีชานยังระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลสิงคโปร์กำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนวิธีที่จะช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาเหล่านี้ได้รับทักษะที่เกี่ยวข้องตามที่นายจ้างต้องการ โดยเฉพาะทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงจำเป็นต้องเสริมความแกร่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า STEM ให้แก่นักเรียนอย่างเต็มที่ 

ทั้งนี้ เป้าหมายของการสนับสนุนดังกล่าวคือ ส่งเสริมการใช้งานและหล่อเลี้ยงความสนใจตลอดชีวิตใน STEM เพื่อให้นักเรียนศึกษาสิงคโปร์สามารถเข้าร่วมภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากขึ้น และนอกเหนือจากความรู้แล้ว ยังจะต้อง “หล่อเลี้ยงทักษะซอฟต์สกิล” (soft skill) เช่น ความอยากรู้และความมั่นใจ เพราะทักษะด้านนี้จะช่วยให้นักเรียนชื่นชมความหลากหลาย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และไม่ย่อท้อจากสิ่งที่ไม่รู้ได้ 

“เหนือสิ่งอื่นใด นักเรียนของเราต้องมีความพร้อมสำหรับการเปิดรับต่อชุมชนในวงกว้างได้”

รัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า กลุ่มที่กระทรวง “ให้ความสำคัญสูงสุด” คือนักเรียนด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง โดยโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนี้อย่างมาก แถมวิกฤตการระบาดโควิด-19 ยังมาซ้ำเติมอีก 

“ในช่วงเวลาวิกฤตดังกล่าว การศึกษาต้องเป็นพลังที่ช่วยยกระดับชีวิตและเป็นสัญญาณแห่งความหวังสำหรับเด็กและเยาวชนชาวสิงคโปร์ต่อไป” ชานกล่าว

รายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์จะเปิดเผยรายละเอียดของระบบการสอนและการสอบแบบใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยระหว่างนี้รัฐบาลจะออกแผนการช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและครอบครัว รวมถึงแนวทางสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ในช่วงชีวิตต่าง ๆ นอกโรงเรียน ซึ่งครอบคลุมถึงก่อนที่เด็กคนนั้นจะถือกำเนิดขึ้นมา 

ในขณะเดียวกัน โครงการริเริ่มเพื่อเด็กด้อยโอกาสต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ เช่น โครงการนำร่องยกระดับชุมชน (Uplift Community Pilot) ซึ่งมุ่งช่วยเหลือนักเรียนที่มีรายได้น้อยให้เข้าเรียนในโรงเรียนได้สม่ำเสมอมากขึ้น ก็จะเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการเช่นกัน 

ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว รัฐบาลจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับสูงและชุมชนเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาสในด้านต่าง ๆ เช่น การแนะแนวอาชีพและการให้คำปรึกษาเพิ่มเติม 

ที่มา : Singapore needs to re-evaluate teaching, testing in schools to allow greater self-learning and discovery: Chan Chun Sing