เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ระหว่างครูผู้ดูแลนักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค ให้เกิดการเชื่อมร้อยเครือข่ายการทำงานระหว่างครูทุนเสมอภาคจากทุกหน่วยงานต้นสังกัดการศึกษาทั่วประเทศ เริ่มที่เวทีภาคเหนือ ณ โรงแรม เซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ กสศ. จะแสดงความขอบคุณไปยังคุณครูกว่า 400,000 คน ผู้เป็นกำลังหลักในการจัดทำข้อมูลนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าในการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยข้อมูลจากคุณครูนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ที่จะดูแลช่วยเหลือนักเรียนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ให้ได้รับการติดตาม ส่งต่อให้อยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ
สุชาดา จัตุรภุชพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กิจกรรม Thank You Teacher ถือเป็นครั้งแรกที่ครูผู้ทำงานกับน้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาคในแต่ละโรงเรียนจะได้มาพบปะกัน สำหรับ กสศ. ที่เป็นองค์กรขนาดเล็กและมีบุคลากรจำนวนไม่มาก ทราบดีว่าการจะขับเคลื่อนภารกิจให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคณะทำงานจากแนวหน้า ซึ่งก็คือคุณครูจากทุกโรงเรียนทั่วประเทศที่มุ่งมั่นพยายามลงพื้นที่สำรวจติดตาม บันทึกข้อมูลนักเรียนร่วมกับ กสศ. จนกลายเป็นเครื่องมือกำหนดแนวทางการช่วยเหลือดูแลน้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาคมากกว่า 1.3 ล้านคน ในช่วงเวลาเกือบ 5 ปี

นอกจากการดูแลนักเรียนทุนเสมอภาค ข้อมูลที่ชัดเจน แม่นยำและทันเหตุการณ์ ยังเป็นต้นทางของการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติอื่น ๆ เช่น วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากคุณครูทั่วประเทศได้กลายมาเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ กสศ. และหน่วยงานต่าง ๆ ค้นพบน้อง ๆ นักเรียนที่มีความเสี่ยงทั้งในมิติการศึกษา รวมถึงกรณีฉุกเฉินที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิต
“การทำงานของคุณครูทำให้เราพบนักเรียนจำนวนมาก ที่ถูกตัดขาดจากการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 เนื่องจากในที่อยู่อาศัยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงบางครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องปากท้อง และเข้าไม่ถึงการดูแลทางสาธารณสุข โดยข้อมูลได้ชี้เป้าให้เกิดการระดมทุนร่วมกับภาคเอกชน จนความช่วยเหลือกระจายลงไปถึงเด็กและครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ยังนำมาสู่ความร่วมมือในการวางระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ให้กับนักเรียนในกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ไม่ให้หลุดไปจากระบบการศึกษา และมีเส้นทางการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องจนสุดทางตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน”

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า วันนี้ความเชื่อมั่นในข้อมูลได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน และจะเป็นการต่อยอดไปถึงการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่ใช่เฉพาะกับนักเรียนทุนเสมอภาค เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมีมิติที่นอกเหนือไปจากความยากจนด้อยโอกาส ซึ่ง กสศ. และภาคีจะนำมาถอดบทเรียนวางแผนการทำงานต่อไป เพื่อให้เกิดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ครอบคลุมเด็กเยาวชนทุกคน ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย
“ไม่เพียงกิจกรรม Thank You Teacher จะเป็นการเปิดโอกาสให้ครูมาพบปะแลกเปลี่ยนสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ กสศ. ยังถือโอกาสนี้ในการรับฟังเรื่องราวที่น่าสนใจจากหน้างาน เพื่อนำกลับมาสรุป สังเคราะห์ และพัฒนากระบวนการทำงานให้ขยายผลไปถึงเด็กทุกคนทุกกลุ่ม รวมถึงส่งเสริมเหนี่ยวนำให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนมากขึ้น กสศ. ขอขอบคุณครูทุกท่านสำหรับการทำงานอย่างหนักตลอดเวลาที่ผ่านมา ขอบคุณในความทุ่มเทพยายามลงพื้นที่คัดกรอง กรอกข้อมูล ขอบคุณในการติดตามชีวิตของน้อง ๆ เพื่อให้โอกาสส่งไปถึงมือของเด็กและครอบครัวได้ถูกคน และสุดท้ายขอขอบคุณพลังใจของครูทุกท่านอีกครั้ง ที่พร้อมจะขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับ กสศ. ต่อไป”

ทางด้าน อรทัย อิสระภาพ ครูโรงเรียนเทศบาลสันป่ายางหน่อม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้กล่าวถึงความประทับใจในการทำงานกับนักเรียนทุนเสมอภาคว่า ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหาเด็กให้ได้รับทุนเสมอภาค เพราะเห็นว่าทุนการศึกษาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง เป็นทุนต่อเนื่องที่มอบให้จนนักเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ และยังมีการพัฒนาระบบส่งต่อที่จะเปิดโอกาสให้เรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งถือเป็นการให้ที่มากกว่าทุนที่เป็นตัวเงิน นั่นคือการมอบโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสอย่างแท้จริง

รัฐภรณ์ ภู่ฤทธิ์ ครูโรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงความสำคัญของการจัดทำข้อมูลเพื่อส่งเข้าระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า การเยี่ยมบ้านติดตามนักเรียน ทำให้เห็นรายละเอียดปัญหาของเด็กแต่ละคนในเชิงลึก โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ที่พูดได้ว่าในชั้นเรียนหนึ่งมีเด็กแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ครอบครัวมีความพร้อม ดังนั้นการนำข้อมูลมาแจกแจงรายละเอียด ทำให้สามารถระบุปัญหาเร่งด่วนและตรงกับบริบทของเด็กรายคนได้ ซึ่งจะทำให้เด็กที่เคยเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษามีทางไปต่อในชีวิตมากขึ้น แทนที่จะต้องหลุดไปจากระบบกลางทาง และถ่ายทอดความยากจนกันต่อไปในครอบครัวไม่สิ้นสุด

ปิยะสันต์ วรรณภพ ครูโรงเรียนบ้านผาเวียง อำเภอปัว จังหวัดน่าน กล่าวถึงประสบการณ์การเป็นครูทุนเสมอภาคว่า ตนทำงานเป็นครูบนพื้นที่สูงจึงได้เห็นความลำบากยากจนมาตลอด ยิ่งพอได้มาดูแลนักเรียนกลุ่มทุนเสมอภาค จึงยิ่งเข้าใจว่าความขาดแคลนทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และอุปสรรคการเดินทาง ทำให้หลายครอบครัวมีความคิดว่าเอาลูกหลานออกจากโรงเรียนไปทำงานเป็นเรื่องที่ดีกว่า แต่พอมีทุนเสมอภาคมาช่วยเติมเต็มค่าใช้จ่ายประจำวันและภาระด้านการศึกษา ก็ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มเปลี่ยนความคิด จึงมองว่าทุนเสมอภาคคือ ‘โอกาส’ ของเด็ก และตนก็พร้อมจะทำงานต่อไป เพื่อผลักดันให้ลูกศิษย์ได้เรียนต่อเนื่องในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

พิมพ์รดา ส่งชื่น ครูโรงเรียนวัดห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหลังการเกิดขึ้นของทุนเสมอภาคว่า การจัดทำข้อมูลนักเรียนรายคนของ กสศ. โดยใช้เกณฑ์คัดกรองความยากจนและยากจนพิเศษ ทำให้เกิดการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนไปถึงโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น จากที่เมื่อก่อนเงินอุดหนุนนักเรียนจะมอบให้ทุกโรงเรียนแบบนับรายหัวรูปแบบเดียวกัน ผลที่ตามมาคือเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่า ได้กลับมามีโอกาสมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตทางการศึกษาดีขึ้น
“การทำงานกับ กสศ. และการเชื่อมเครือข่ายครูในระดับภูมิภาคครั้งนี้ ทำให้เราอุ่นใจว่า ไม่ว่าเด็กต้องเจอปัญหาอะไร ถ้าครูรู้ เราจะพร้อมหาทางช่วยได้เต็มที่ อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำให้เราทราบว่ามีหลายครอบครัวที่อยู่ในภาวะวิกฤตจากปัญหาเศรษฐกิจ หรือกรณีที่มีเด็กหลุดไปบ้างเราก็ช่วยตามกลับมาได้ เราจึงเห็นประโยชน์ของการทำข้อมูลทุกปีหรือทุกเทอม เพราะสำหรับคนที่เป็นครูแล้ว การทำงานตรงนี้เรามองว่าเป็นความหวังของเด็กและครอบครัวของเขา เพื่อให้เขามีที่พึ่ง มีหลักประกันช่วยประคองให้เรียนต่อไปได้จนจบการศึกษา”

สำหรับกิจกรรม ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ จะจัดครั้งต่อไปที่ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ณ โรงแรมหรรษา เจ บี ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน ภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ณ โรงแรม le cassia ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2566