กระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียประกาศเดินหน้าปฎิรูประบบการศึกษา โดยเตรียมยกเลิกระบบการสอบวัดคะแนนส่วนกลาง และหันไปใช้ระบบการประเมินผลขีดความสามารถและศักยภาพที่ทางแต่ละโรงเรียนเป็นผู้จัดทำขึ้น หวังช่วยบรรเทาความเครียดจาการสอบ และเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปวัฒนธรรมการศึกษาที่โรงเรียนมักจะเน้นการเรียนการสอนเพื่อเตรียมตัวสอบมากกว่าการเรียนการสอนเพื่อสร้างถ่ายทอดความรู้ที่จะพัฒนาขีดความสามารถของเด็กนักเรียนอย่างแท้จริง
ดอกเตอร์ รัดซี จิดีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียกล่าวว่า การประเมินตามโรงเรียน หรือ School-based assessments (PBS) จะเป็นวิธีการใหม่ในการประเมินผลการเรียนของนักเรียนในโรงเรียน เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการต้องการล้มล้างวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการเรียนเพื่อไปสอบ หวังแต่ตัวเลขคะแนน ที่ครอบงำระบบการศึกษามาเลเซียอยู่ในเวลานี้
ทั้งนี้ ดอกเตอร์รัดซีกล่าวว่า เหล่าเด็กนักเรียนมาเลเซียทั้งหลายจะไม่ต้องเข้าร่วมการประเมินส่วนกลางที่เรียกว่า Form Three Assessment (PT3) อีกต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2022 นี้ โดยผลการเรียนของนักเรียนจะถูกวัดจากการสอบที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นเพื่อสิ้นสุดภาคการศึกษาในทุกครั้งแทน ถือเป็นการกระจายอำนาจการส่วนกลางที่ต้องทำหน้าที่จัดสอบเพื่อวัดคะแนนเด็กทั้งประเทศ
ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว ทางกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียเพิ่งจะยกเลิกการสอบส่วนกลางของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อย่าง การสอบ Ujian Pencapaian Sekolah Rendah (UPSR)
“เราไม่ต้องการให้การสอบ (แบบกระจายอำนาจ) เป็นรูปแบบใหม่ของแรงกดดันต่อระบบการศึกษาของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครูและนักเรียน” รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย กล่าวในระหว่างการประกาศยกเลิก PT3 เมื่อชวงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดร.รัดซี กล่าวอีกว่า คำอธิบายที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของนักเรียนในรายงานจะมีความชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจระดับประสิทธิภาพของบุตรหลานได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รายงานผลการปฏิบัติงานจะรวมผลลัพธ์จากการประเมินทางกายภาพ การกีฬา หลักสูตรร่วม และการประเมินทางจิตวิทยา ร่วมกับการประเมินในห้องเรียน (PBD) ขณะที่ บรรดาคุณครูก็จะได้รับการฝึกอบรมให้สามารถดำเนินการ PBS ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความต้องการของโรงเรียนและนักเรียน
“เราหวังว่าหากดำเนินการ PBS ไปด้วยดี นักเรียนของเราจะบรรลุระดับความเชี่ยวชาญขั้นต่ำก่อนที่จะก้าวไปสู่ระดับต่อไป โดยครูมีหน้าที่เพียงแค่ป้อนข้อมูลและผลลัพธ์ของนักเรียนเพียงครั้งเดียวในระบบ ทำให้มีฐานข้อมูลแบบเดียวกันร่วมกัน ตัดปัญหาฐานข้อมูลที่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ช่วยลดภาระงานของครูลงไปอีกมาก
ดร.รัดซีอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า สำนักงานการศึกษาของรัฐและกรมการศึกษาเขตจะได้รับสิทธิ์เข้าถึงระบบนี้เพื่อดึงข้อมูลที่จำเป็น กระทรวงศึกษาธิการจะใช้ประสิทธิภาพของนักเรียนในวิชาเหล่านี้เพื่อวัดระดับการรู้หนังสือและการคิดเลข เพื่อให้สามารถวางแผนการแทรกแซงในระดับโรงเรียน รัฐ และระดับประเทศ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีศึกษาธิการมาเซีย ยังกล่าวอีกว่าจะไม่มีการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนเปรียบเทียบในแต่ละเขตและแต่ละรัฐอีกต่อไป พร้อมเสริมว่ารายงานเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในการเข้าสู่โรงเรียนเฉพาะทาง เนื่องจากจะมีการสอบเข้าพิเศษ (PKSK) แยกต่างหากสำหรับเรื่องนี้
สำหรับวิชาที่ทางโรงเรียนจะจัดทำการประเมินสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ประกอบด้วย 5 วิชา คือ ภาษาบาฮาซามลายู, อังกฤษ, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ส่วนคำถามสำหรับวิชาอื่น ๆ จะถูกสร้างขึ้นโดยครูในโรงเรียน
ทั้งนี้ คำถามทั้งหมดสำหรับวิชาในโรงเรียนมัธยมศึกษาจะอยู่ในคลังคำถาม และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียกล่าวอย่างมั่นใจว่าสิ่งนี้จะช่วยรับรองมาตรฐานในโรงเรียน 10,000 แห่งในทั่วประเทศ
สำหรับการประเมินสรุปจะดำเนินการทุกปีและจะเน้นเฉพาะหลักสูตรของปีนั้น ๆ เช่นเดียวกันกับ เวลาที่สามารถยืดหยุ่นได้เช่นกัน แต่กระทรวงฯ จะเป็นผู้กำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องทำข้อสอบเมื่อใด
“สิ่งที่สำคัญคือไม่มีการสอบแบบรวมศูนย์อีกต่อไป (สำหรับนักเรียนเหล่านี้) “มาร่วมกันสร้างลูกหลานของเราเพื่อสร้างคนรุ่นต่อไป” รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียกล่าว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียได้ยกเลิกการสอบ PT3 สำหรับนักเรียน อันเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลนำการทดสอบ PT3 มาใช้ครั้งแรกในปี 2014 เพื่อแทนที่การประเมิน PMR
ที่มา : Time to depart from exam culture, says Malaysia education minister