เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีติดตามผลประเมินภายในเพื่อเสริมศักยภาพภาคีเครือข่าย ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teachers and School Quality Program (TSQP) รุ่นที่ 2 ปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนผลลัพธ์การดำเนินงานตามเป้าหมายร่วมของโครงการฯ และร่วมกันสังเคราะห์เงื่อนไขปัจจัยที่นำไปสู่ผลลัพธ์และข้อท้าทายในการดำเนินงาน รวมถึงค้นหาแนวทางเพื่อยกระดับผลลัพธ์ในการดำเนินงานโครงการฯ มี 8 องค์กรภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และมูลนิธิสยามกัมมาจล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เป็นประธานกล่าวนำ เรื่อง ‘บนเส้นทาง TSQP กระบวนการ ผลลัพธ์ และเป้าหมาย เพื่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน’ ใจความสำคัญว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเครือข่าย (network) และเกิดความต่อเนื่อง รวมทั้งเกิด Growth Mindset ที่สำคัญต่อวงการศึกษา เพราะที่ผ่านมา Growth Mindset ของการศึกษาไทยไม่เติบโต แต่กลายเป็น Fixed Mindset เช่น การ Fixed อยู่กับคำสั่ง ทฤษฎี และวิธีการที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ดังนั้น หากไม่นำมาสู่การปฏิบัติให้งอกเงย Growth Mindset ก็ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง
ทั้งนี้ การยกระดับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและดูแลเด็กด้อยโอกาสเป็นส่วนใหญ่ จากโรงเรียนเป้าหมาย 800 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนขนาดกลาง 8,000 แห่ง ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะสามารถขยายผลไปสู่โรงเรียนขนาดกลางทั้งหมดทั่วประเทศได้ แต่คำถามที่ตามมาคือ เราจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้อย่างไร
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อว่า โครงการ TSQP เป็นโปรแกรมที่หนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพและผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนผ่านคุณภาพครูและโรงเรียน โดยเป็นการ Transform โรงเรียนจากการใช้ความรู้สำเร็จรูปที่มีผู้สั่งการลงมา หรือทำตามตำราเล่มใดเล่มหนึ่งกำหนด และปฏิบัติตามด้วยศรัทธาอันแรงกล้า แต่ TSQP ไม่ใช่เช่นนั้น TSQP จะนำแนวคิด (concept) มาใช้และพัฒนาให้เหมาะกับแต่ละบริบทของโรงเรียน และเหมาะกับบริบทของนักเรียนแต่ละคน จนเกิดการสร้างความรู้เพื่อการใช้งานจริงในโรงเรียนนั้นๆ
ที่ผ่านมาความรู้ที่ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนมักเป็นความรู้ที่มาจากภายนอก ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องนำมาพัฒนาหรือปรับตามบริบทของแต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกัน เช่น โรงเรียนบนพื้นที่สูงกับโรงเรียนในเมืองมีสารพัดปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ โรงเรียนที่จะพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องต้องมีทักษะและฉันทะในการสร้างความรู้จากการปฏิบัติ (experiential learning) รวมถึงการสร้างความรู้เพื่อใช้งาน โดยความรู้ที่สร้างขึ้นนั้นจะต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ พร้อมๆ กับมีเด็กรุ่นใหม่ ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดที่แตกต่างออกไป
“โรงเรียนที่จะพัฒนาตนเองไปสู่โรงเรียนคุณภาพสูง ต้องเป็นโรงเรียนที่สามารถใช้พลังของ Experiential Learning หรือสร้างความรู้จากการปฏิบัติได้ ผมมองว่าขณะนี้เวลาผ่านไป 4 ปี โครงการ TSQP มีส่วนในการเปลี่ยน Mindset ของวงการศึกษาไทย แม้จะยังไม่ได้เปลี่ยน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีการเปลี่ยนในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะสร้าง Momentum ได้ในบริบทที่หลากหลาย ซึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยน Mindset ที่สำคัญคือ บทบาทผู้อำนวยการ”
ศ.นพ.วิจารณ์ ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการมักทำหน้าที่บริหารธุรการ ไม่ใช่วิชาการ เพราะในด้านวิชาการเป็นเพียงการรับคำสั่งจากส่วนกลางมาส่งต่อให้ครู แล้วครูก็รวบรวมและรายงานกลับไปยังส่วนกลาง ซึ่งแนวทางเช่นนี้ไม่ใช่การทำหน้าที่ผู้บริหารโรงเรียนในระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรงเรียนในโครงการ TSQP รวมทั้งโรงเรียนอื่นที่เข้าร่วมเครือข่าย มีผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำทางวิชาการ
ในแง่ความหมายของผู้บริหาร ยังรวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ เขตพื้นที่การศึกษา และภาคีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ตลอดจนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน เหล่านี้คือผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้โรงเรียนไม่โดดเดี่ยว และมีส่วนช่วยพัฒนาเด็กให้ดีขึ้นได้
“ในส่วนของผู้เรียนไม่ได้หมายถึงเฉพาะนักเรียน แต่ครูก็เป็นผู้เรียนที่สำคัญมาก ถ้าโรงเรียนใดครูไม่ใช่ผู้เรียนรู้ โรงเรียนนั้นไม่ได้อยู่ในกระบวนการ TSQP”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า ครูต้องเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learner) การเรียนของครูหรือการเติบโตของครูต้องมาจากการปฏิบัติทางวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้หลักเกณฑ์ Performance Agreement (PA) ในการนำผลการทำงานมาใช้เลื่อนวิทยฐานะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงก็ใช้รูปแบบนี้
ส่วนผลลัพธ์ในการเรียนรู้ของผู้เรียน โรงเรียนที่ดำเนินการดี การเรียนรู้จะเคลื่อนจากตื้น (superficial learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อความจำได้และตอบข้อมูลได้ ไปสู่การเรียนรู้ในมิติที่ลึก (deep learning) นำไปใช้ประโยชน์ได้ และนำไปสู่การ Transfer Learning ในที่สุด
ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบายเพิ่มว่า การไปถึง Transfer Learning ให้ได้นั้นฟังดูเหมือนจะยาก แต่ที่จริงแล้วไม่ยาก เพราะผู้อำนวยการและครูทำกันอยู่แล้ว นั่นคือการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นการเรียนรู้เชิงรุก ให้เด็กได้เรียนจากสถานการณ์จริง เหมือนกับในชีวิตจริง หรือเรียกว่า Authentic Learning ดังนั้น ห้องเรียนต้องเป็นห้องเรียนสมรรถนะสูง (high-functioning classroom) เปลี่ยนห้องเรียนปกติให้เป็นเวิร์กช็อปที่นักเรียนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือหารือกันเพื่อที่จะลงมือปฏิบัติได้
“โครงการ TSQP ที่จะขับเคลื่อนไปสู่โรงเรียนคุณภาพสูงนั้น คือการเปลี่ยน Mindset วงการศึกษาไทย ทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การเรียนรู้ของเด็กไม่ได้เกิดขึ้นใน 6-7 ชั่วโมงที่โรงเรียนเท่านั้น เพราะการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้น สิ่งที่ทางโรงเรียนต้องทำความเข้าใจร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาคือ จะจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ของเด็กอย่างไรเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ และต้องไม่ลืมว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องครอบคลุม VASK (V – values ค่านิยม, A – attitude เจตคติ, S – skills ทักษะ, K – knowledge ความรู้) ดังนั้น สิ่งที่ทางโรงเรียนต้องเอาใจใส่ก็คือ ทำอย่างไรให้นักเรียนได้รับการดูแล กล่อมเกลา ให้เกิดการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ผมมีความเชื่อว่าโรงเรียนที่จะมีคุณภาพสูงได้นั้นต้องประเมินคุณภาพของตนเองเป็น ผมอยากขยายว่าไม่ใช่เฉพาะโรงเรียน แต่มนุษย์ทุกคนต้องประเมินผลงานตนเองเป็น ซึ่งผลงานในที่นี่มีทั้งที่เป็นงานจริงๆ และบางอย่างก็เป็นเรื่องของชีวิต โดยต้องประเมินและสะท้อนตนเองเพื่อนำไปปฏิบัติปรับตัวไปสู่อนาคต สู่เส้นทางแห่งความเจริญก้าวหน้า” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ต้องประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน และประเมินผลงานของตนเอง รวมทั้งต้องคำนวณ Effect Size (ขนาดของผล) เพราะ Effect Size ของเด็กที่เรียนอ่อนมีค่าน้อยกว่าเด็กที่เรียนเก่ง แสดงว่าโรงเรียนไม่ได้เอื้อต่อเด็กที่เรียนอ่อน หรือเป็นการวัดเฉพาะวิชาความรู้ ขณะที่เด็กบางคนเล่นดนตรีเก่ง หรือเล่นกีฬาเก่ง แต่เรียนหนังสือไม่เก่ง กลับถูกกำหนดว่าอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนอ่อน ซึ่งกรณีเช่นนี้ทางโรงเรียนจะต้องหาจัดการดูแลต่อไป เพื่อให้นักเรียนมีกำลังใจ เกิดความขวนขวายและมุมานะยิ่งขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้โรงเรียน ครู และผู้อำนวยการ เอาใจใส่และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
“สุดท้ายแม้ว่าโครงการ TSQP จะจบลง แต่ยังขับเคลื่อนต่อไปได้โดยการรวมตัวของเครือข่ายการทำงาน ประกอบไปด้วย โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ชุมชน ภาคีผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยเชื่อว่า TSQP จะเป็นเวทีของการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติเพื่อสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพดีได้ ส่วน กสศ. ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานเรื่องความเสมอภาคก็สามารถให้การสนับสนุนต่อไปได้ เป็นการเดินทางที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ และหวังว่าคนทั้งวงการศึกษาไทยจะได้รับความสุขนี้เช่นเดียวกัน” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้าย