รัฐบาลอังกฤษเปิดเผยโครงการความร่วมมือระดับทวิภาคีมูลค่าสูงถึง 130 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนการศึกษาของบรรดาเด็กผู้หญิงในปากีสถาน เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และพัฒนาทักษะคุณภาพชีวิตต่างๆ ตลอดจนหลีกเลี่ยงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ เบื้องต้นคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือเด็กหญิงในปากีสถานได้เกือบ 17 ล้านคน
เว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่า แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิง ( Girls’ Education Action Plan) ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในโครงการ Titled Girls and Out of School: Action for Learning หรือ GOAL ที่อังกฤษตั้งเป้าจะสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐปัญจาบ (Punjab) และ รัฐ Khyber Pakhtunkhwa (KPK) ของปากีสถาน ในการปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงและกลุ่มเด็กชายขอบของปากีสถาน
ทั้งนี้ เป้าหมายของโครงการ GOAL จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญใน 2 แนวทางหลักก็คือการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา และพัฒนาขีดความสามารถในการอ่านออกเขียนได้
โดยโครงการจะช่วยเหลือเด็กชายขอบราว 250,000 คนโดยตรงให้ลงทะเบียนและเรียนต่อในโรงเรียน อีกทั้งยังจะสนับสนุนเด็กผู้หญิงอีก 150,000 คนให้สามารถอ่านหนังสือได้ภายในอายุ 10 ปี ซึ่งเด็กทั้งหมดที่ว่านี้อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่พัฒนาน้อยที่สุดของปัญจาบและ KPK
ยิ่งไปกว่านั้น ทางโครงการ GOAL ยังให้คำมั่นที่จะะปรับปรุงผลการเรียนรู้สำหรับเด็กอย่างน้อย 16.9 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กหญิงราว 7.8 ล้านคน ด้วยการเสริมสร้างระบบการศึกษาระดับจังหวัดเพื่อปรับปรุงคุณภาพและความเท่าเทียมของการศึกษา โดยเฉพาะคุณภาพการสอน และให้การเรียนการสอนในยุคหลังโควิด-19 มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกเหนือจากปากีสถานแล้ว โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนโดยตรงให้เด็ก ๆ เข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ในหลายประเทศในเครือจักรภพ
ขณะเดียวกัน ทางโครงการ GOAL จะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้การศึกษามีความครอบคลุมมากขึ้น สร้างความมั่นใจว่าเด็กได้รับการสอนในระดับการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และโน้มน้าวผู้อื่นให้นำแนวทางการศึกษาที่ดีขึ้นมาใช้ร่วมกัน
ดร.คริสเตียน เทอร์เนอร์ (Dr Christian Turner) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำปากีสถาน กล่าวว่า ไม่มีประเทศใดสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดได้หากไม่มีประชากร 50% ที่มีการศึกษาอ่านออกเขียนได้ ดังนั้น การส่งเด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียนจึงเป็นเสมือนตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของประเทศ
“เราต้องการมอบโอกาสให้แก่สาว ๆ ในเมือง awaaz และ Marzi ให้พื้นที่พวกเธอได้ส่งเสียง และให้ทางเลือกที่จะได้ปลดปล่อยศักยภาพของคนรุ่นต่อไป” ดร.คริสเตียนกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลการศึกษาล่าสุดพบว่า ปัจจุบันมีเด็กหญิงทั่วโลกสูงถึง 132 ล้านคนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ในจำนวนนี้ ประมาณ 9.2% หรือราว 12.2 ล้านคนอยู่ในปากีสถาน
ประเด็นด้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากเด็กผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีอัตราการลงทะเบียนเรียนที่ต่ำกว่าและอัตราการออกกลางคันที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านเลื่อนระดับจากโรงเรียนประถมศึกษาเป็นมัธยมศึกษา
นอกจากนี้ การศึกษาพบว่า เด็กผู้หญิงในชนบทที่ยากจนที่สุดได้รับผลกระทบมากที่สุด โดย 54% ของเด็กผู้หญิงที่ยากจนที่สุด 25% ไม่ได้เรียนหนังสือ และเด็กผู้หญิงเหล่านี้ประสบความสำเร็จเพียงหนึ่งในสามของการเรียนรู้ของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุด 25%
ขณะที่ในรัฐปัญจาบ พบว่า อัตราการรู้หนังสือเฉลี่ยสำหรับผู้หญิงคือ 54% (44% ในพื้นที่ชนบท) เทียบกับ 72% สำหรับผู้ชาย อีกทั้งผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ยังแสดงให้เห็นว่าเด็กสาววัยรุ่นในปัญจาบ อายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 2.2 ล้านคน กลายเป็นประชากรที่ถูกทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ คือไม่ได้เรียนที่โรงเรียน ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้แต่งงาน
ส่วนในรัฐ Khyber Pakhtunkhwa (KPK) 66% ของเด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงที่่จะออกจากโรงเรียนมากกว่าเด็กผู้ชาย โดยความเสี่ยงของเด็กชายอยู่ที่ 34% และ มีเด็กผู้หญิงเพียง 40% เท่านั้นที่ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาในเขต Newly Merged Districts และจากจำนวนที่ลงทะเบียน มีเพียง 3% ที่สามารถเลื่อนระดับไปเรียนยังโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในพื้นที่ต่อไปได้ ขณะที่ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีเด็กผู้หญิงประมาณ 250 คนเท่านั้นที่ยังเรียนอยู่ทั่วทั้งจังหวัด
ทั้งนี้ การสนับสนุนการศึกษาของเด็กผู้หญิงถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของรัฐบาลอังกฤษ โดยที่ผ่านมาระหว่างปี 2015 – 2020 ทางรัฐบาลอังกฤษสามารถสนับสนุนเด็กผู้หญิงให้ได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว 8.1 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการสนับสนุนการศึกษาดังกล่าวกลับเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด -19 ทำให้โรงเรียนในหลายประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงัก และไม่สามารถดำเนินการเรียนการสอนได้ตามปกติเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน รายงานพบว่า ขณะนี้ยังมีเด็กถึง 616 ล้านคน ทีได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนบางส่วน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชี้ว่าภาวะยากจนในการเรียนรู้ทั่วโลก หรือ Learning Poverty กำลังอยู่ในระดับวิกฤตและยังคงเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตโควิด-19 นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งใหญ่ที่สุดต่อการศึกษาและการเรียนรู้ในรอบศตวรรษ
ยิ่งไปกว่านั้น หลายฝ่ายยังมองว่าวิกฤตครั้งนี้ยังมีแนวโน้มร้ายแรง เนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางบริบททางการศึกษาที่มีแต่ปัจจัยท้าทายมากขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้โลกร้อน ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤตการณ์สงครามที่ยืดเยื้อ ภาวะะเงินเฟ้อ การขาดแคลนอาหาร และภัยพิบัติอื่นๆ กำลังทวีความหนักหน่วงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อการหยุดชะงักทางการศึกษาและสวัสดิภาพเด็กอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ รัฐบาลอักฤษคาดหวังว่า โครงการสนับสนุนทางการศึกษาเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าเด็กหญิงและเด็กชายขอบส่วนใหญ่ที่ถูกละเลยจากสังคมจะสามารถกลับเข้าสู่การศึกษาและเรียนรู้ได้ รวมถือเป็นพลังขับเคลื่อนหลักตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลอังกฤษที่จะ “ยืนหยัดเพื่อสิทธิของเด็กผู้หญิงทุกคนในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 12 ปี”
ที่มา : UK pledges up to £130m for girls’ education in Pakistan