อังกฤษตั้งเป้าปรับเกณฑ์พิจารณาคุณภาพมหาวิทยาลัยใหม่
โดย : Hannah Richardson - BBC / Richard Adams - The Guardian
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

อังกฤษตั้งเป้าปรับเกณฑ์พิจารณาคุณภาพมหาวิทยาลัยใหม่

กระทรวงมหาวิทยาลัยแห่งอังกฤษประกาศผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในการปรับเกณฑ์พิจารณาคุณภาพมหาวิทยาลัยใหม่ โดยให้น้ำหนักกับผลงานของทางมหาวิทยาลัยในการจัดสรรมาตรการช่วยเหลือที่จะรับประกันได้ว่าเหล่านักศึกษายากจนของมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษาสามารถหางานทำที่เหมาะสมกับคุณวุฒิและทักษะความสามารถ ซึ่งรวมถึงเป็นงานที่ได้รับค่าจ้างผลตอบแทนที่ดี โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นไปภายใต้นโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ของอังกฤษ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของนักศึกษาจบใหม่ให้สามารถตั้งต้นชีวิตทำงานได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น

ไมเคิล โดนีแลน (Michelle Donelan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาวิทยาลัยอังกฤษ กล่าวว่า ในเบื้องต้นทางกระทรวงได้มีหนังสือคำสั่งส่งตรงถึงรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ชั้นนำของประเทศ ในการพิจารณาทบทวนแผนการช่วยเหลือและการมีส่วนร่วมของนักศึกษายากจน ที่ต้องจัดทำขึ้นทุกๆ 5 ปีขึ้นใหม่ หลังมีผลการศึกษาพบว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่ระดับท็อปของอังกฤษ หรือ Russell Group เหล่านี้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเด็กยากจนของรัฐ ทำผลงานในการช่วยให้นักเรียนยากจนมีรายได้มากขึ้นลดลง เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยหน้าใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งไม่นาน

ทั้งนี้ ตามมาตรการของอังกฤษ มหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการจะได้รับทุนสนับสนุนจากทางกระทรวง โดยโดนีแลนตั้งเป้าว่า มหาวิทยาลัยในสังกัดที่ไม่สามารถปรับปรุงแผนดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมจะถูกตัดเงินช่วยเหลือในส่วนนี้ และมีสิทธิ์ถูกแทรกแซงจากทางกระทรวงเพื่อกำหนดทิศทางการบริหารของมหาวิทยาลัย

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ทางสถาบันการคลังศึกษา (Institute of Fiscal Studies) และ Sutton Trust องค์กรการกุศลเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ เปรียบเทียบจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษ (ที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย และเด็กได้รับโควตาอาหารฟรีในช่วงวัยมัธยม) ซึ่งผ่านคัดเลือกเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย กับอัตราความสำเร็จของนักเรียนกลุ่มฐานะยากจนพิเศษนี้ ในการกลายเป็นกลุ่ม 20% แรกของผู้มีรายได้สูงสุดเมื่ออายุ 30 ปี

ผลการศึกษาพบว่า บรรดามหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ในการสมัครเข้าไม่เยอะ ช่วยเพิ่มอัตรานักเรียนที่ยากจนในการหางานทำในภายหลังมากถึงสองเท่า โดยมากกว่ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเก่าแก่และมีข้อกำหนดในการสมัครเข้ามากกว่า

รายงานระบุว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะมหาวิทยาลัยหน้าใหม่เหล่านั้นเปิดรับนักเรียนจากบ้านที่ยากจนพิเศษมากกว่ามหาวิทยาลัยที่มีข้อกำหนดในการเข้าสูงกว่า ดังนั้นจึงสามารถช่วยให้นักเรียนที่ด้อยโอกาสได้โยกย้ายไปทำงานในตำแหน่งที่ดีขึ้น และค่าตอบแทนที่มากขึ้น

ขณะเดียวกัน แม้จะมีชื่อเสียงน้อยกว่ามหาวิทยาลัย 24 แห่งในกลุ่ม Russell Group ที่คัดเลือกมาอย่างดี แต่มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นหลังปี 1992 เหล่านี้ยังคงสามารถช่วยนักศึกษายากจนจำนวนมากให้เป็นกลายเป็นกลุ่มแรงงานผู้มีรายได้สูงในสังคมได้

นอกจากนี้ แม้จะมีการเปิดเผยว่า นักเรียนจากครอบครัวรายได้น้อยที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่ม Russell Group เมื่อจบออกมาก็สามารถสร้างรายได้ที่ดีในตลาดแรงงาน แต่กระนั้น เมื่อดูสถิติรายบุคคลของนักศึกษากลุ่มยากจนที่จบไปแล้วได้งานการที่ดีทำ พบว่า นักศึกษากลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ยากจนพิเศษจนถึงขั้นได้รับโควตาอาหารฟรีในวัยมัธยมแต่อย่างใด อันหมายความว่า เด็กกลุ่มยากจนพิเศษที่ได้รับเลือกเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยกลุ่ม Russell Group นั้น อาจจะเรียนไม่จบ หรือเลิกเรียนกลางคันไปแล้ว สิ่งนี้ทำให้นักวิจัยเริ่มตระหนักว่า การมอบเพียงแค่ “โอกาส” ให้เด็กครอบครัวยากจนพิเศษได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะระหว่างทาง พวกเขาอาจจะเจอความท้าทายจนต้องดร็อปเรียนก็ได้ ดังนั้นอาจต้องมีแนวทางสนับสนุนอย่างอื่นออกมาด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาวิทยาลัยอังกฤษกล่าวว่า ทางกระทรวงจำเป็นต้องรื้อระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ โดยระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่กลายเป็นคนตกงาน ว่างงาน หรือตกอยู่ในภาวะไร้ทางเลือกในระดับสูง

“ผลงานของนักศึกษาหลังจบมหาวิทยาลัยต้องมีความสำคัญในการพิจารณาคุณภาพของทางมหาวิทยาลัยพอๆ กับเกรดของนักศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาวิทยาลัยอังกฤษ ระบุ

ทั้งนี้ ในปี 2017 ทางคณะกรรมการบัญชีสาธารณะแนะนำ ปัญหาการจบออกมาแล้วไม่มีงานทำ ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เริ่มสงสัยว่า ใบปริญญาของตน “คุ้มกับเงินที่จ่ายไป” หรือไม่ เพราะค่าธรรมเนียมที่ต้องไปกู้มาทำให้นักเรียนจำนวนมากมีหนี้สินผูกพันในระยะยาว

จอห์น เบลค (John Blake) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของเครือสถานศึกษา Ark ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของนักเรียนนักศึกษา (The Office For Students of fair access and participation) กล่าวสนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่า การดำเนินการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มมีผลดำเนินการในช่วงเดือนกันยายนปี 2023 เป็นต้นไป

ปัจจุบัน ภายใต้ข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศอังกฤษต้องกำหนดโควตาเป้าหมายสำหรับสัดส่วนของการรับสมัครนักศึกษายากจนหรือด้อยโอกาสเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย โดยเงื่อนไขดังกล่าวเชื่อมโยงกับแผนการเข้าถึงและการเข้าร่วมซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานสำหรับนักเรียน (Office for Students) ทุกๆ 4 ปีเพื่อแลกกับการเปิดทางให้ทางมหาวิทยาลัยสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงสุดที่ 9,250 ปอนด์ต่อปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาวิทยาลัย โดนีแลนกล่าวว่า เป้าหมายของทางกระทรวงในขณะนี้ก็คือการเรียกร้องให้บรรดามหาวิทยาลัยทำมากกว่าการเพิ่มจำนวนนักศึกษายากจนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ซึ่งหนึ่งในนั้นหมายรวมถึงการตรวจสอบให้แน่ใจว่านักเรียนเหล่านี้เรียนหลักสูตรที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทแวดล้อมของตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง เพราะการจัดการดังกล่าวจะหมายถึงการแก้ปัญหาอัตราการออกจากกลางคัน รวมถึงเปิดทางให้รัฐบาลสามารถให้การสนับสนุนนักเรียนที่ยากจนผ่านมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถสำเร็จการศึกษาและเข้าสู่ตลาดงานในฐานะแรงงานที่มีทักษะสูงและได้ค่าตอบแทนสูง

ทั้งนี้ ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ราว 1 ใน 10 ของนักเรียนที่มีพื้นเพที่ยากจนที่สุดประสบปัญหาในการเรียนในมหาวิทยาลัยจนต้องทำเรื่องดร็อปการเรียนตั้งแต่ปีแรกที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนและวิทยาลัย เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้รับคุณวุฒิที่ดีขึ้นและมีทางเลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดค่ายฤดูร้อน หรือการจัดสรรติวเตอร์ให้กับนักเรียนยากจน ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องเสนอหลักสูตรเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงกับทักษะและการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เช่น การฝึกงานระดับปริญญา การฝึกอบรมคุณสมบัติทางเทคนิคขั้นสูง และหลักสูตรนอกเวลา เป็นต้น

ด้านดอกเตอร์ทิม แบรดชอว์ (Dr. Tim Bradshaw) ผู้บริหารระดับสูงของ Russell Group ให้คำมั่นว่า ทางมหาวิทยาลัยจะร่วมมือทำงานกับโรงเรียนและวิทยาลัยด้วยการเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้กับคนหนุ่มสาว รวมถึงการฝึกงานระดับปริญญา และสนับสนุนนักศึกษาเหล่านี้ผ่านมหาวิทยาลัยจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับสัดส่วนของเด็กอายุ 18 ปีในอังกฤษที่เริ่มเห็นความสำคัญของการเรียนในระดับอุดมศึกษา และสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ที่มา :
Universities to get good job targets for poor students
UK universities told to show ambition in graduate job targets