กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) เปิดเผยผลการสำรวจสถานการณ์การศึกษาทั่วโลกล่าสุด พบยังมีเด็กวัยเรียนทั่วโลกมากกว่า 616 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการที่โรงเรียนต้องปิดโรงเรียนตามมาตรการป้องกันการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19
แถลงการณ์ของยูนิเซฟระบุว่า การปิดโรงเรียนเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่แทบจะไร้ทางสู้สำหรับวงการการศึกษาทั่วโลกอย่างแท้จริง
โดยยูนิเซฟยังเสริมอีกว่า การปิดโรงเรียนสำหรับในหลายๆ ประเทศ นอกจากจะเป็นการกีดกันเด็กหลายล้านคนให้พรากจากโอกาสในการได้รับความรู้ และการอบรมบ่มเพาะทักษะพื้นฐานแล้ว การหยุดชะงักที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของนักเรียน อีกทั้งยังมีแนวโน้มความเสี่ยงที่เด็กๆ จะถูกล่วงละเมิดมากขึ้น ตลอดจนเป็นการขัดขวางกีดกันไม่ให้เด็กอีกหลายคนเข้าถึง “แหล่งโภชนาการปกติ”
โรเบิร์ต เจนกินส์ (Robert Jenkins) ผู้อำนวยการด้านการศึกษาของยูนิเซฟกล่าวว่า สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้สามารถเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าเป็นการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยลำพังเพียงแค่การเปิดโรงเรียน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแรงร่วมใจให้การสนับสนุนเพื่อช่วยให้เด็กๆ สามารถฟื้นฟูภาวะสูญเสียการเรียนรู้ที่หายไปในครั้งนี้ได้
ทั้งนี้ ยูนิเซฟประเมินว่า ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย การสูญเสียการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียนทำให้เด็กวัย 10 ขวบถึง 70% ไม่สามารถอ่านหรือเข้าใจข้อความง่ายๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม 53% ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19
ยกตัวอย่าง ในประเทศเอธิโอเปีย องค์การในสังกัดสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์เพียงแค่ราว 30-40 % ของทั้งหมดในวิชาดังกล่าวที่เด็กๆ ต้องได้เรียนรู้หากเป็นปีการศึกษาปกติ” ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา
ขณะที่ประเทศร่ำรวยก็ประสบปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน โดยยูนิเซฟพบว่า ในสหรัฐอเมริกาพบการสูญเสียการเรียนรู้ในหลายรัฐ รวมทั้งเท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และแมริแลนด์
นอกจากสูญเสียการเรียนรู้แล้ว การออกจากโรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่น่าวิตกกังวลไม่น้อยเช่นกัน เช่น ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ พบมีนักเรียนระหว่าง 400,000 – 500,000 คน “ต้องออกจากโรงเรียนพร้อมกันระหว่างเดือนมีนาคม 2020 ถึงกรกฎาคม 2021”
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นในหมู่เด็กและคนหนุ่มสาวที่เชื่อมโยงกับการระบาดของโควิด-19 แล้ว การปิดโรงเรียนยังหมายถึงเด็กกว่า 370 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้รับอาหารจากโรงเรียน ซึ่ง“การสูญเสียมื้ออาหารนี้ สำหรับเด็กบางคนถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นแหล่งอาหารที่เชื่อถือได้เพียงแหล่งเดียว และโภชนาการประจำวันหนึ่งเดียวที่เจ้าตัวได้รับในแต่ละวัน
ยูนิเซฟเปิดเผยรายงานพร้อมแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การศึกษาทั่วโลกยังเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับที่ทางกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ศึกษาในอังกฤษ ที่แม้จะสามารถกลับมาเปิดโรงเรียนได้ตามปกติ แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบบังคับควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เรียนในโรงเรียน
การกำกับดูแลที่เข้มงวด บวกกับการระบาดที่ยังมีอยู่ ทำให้พ่อแม่ ตัวนักเรียน หรือแม้แต่ครูอาจารย์เองเลือกที่จะไม่ไปโรงเรียน โดยตัวเลขล่าสุดจนถึงวันที่ 20 มกราคม เฉพาะเด็กนักเรียนราว 1 ล้านคน หรือ 1 ใน 8 ของนักเรียนในอังกฤษทุกคน ต้องหลุดออกจากโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ตัวเลขอย่างเป็นทางการข้างต้นยังแสดงให้เห็นปัญหาด้านบุคลากรที่แย่ลง โดย 1 ใน 4 ของโรงเรียนเห็นอัตราการขาดสอนของครูสูงกว่า 15% ขณะที่ถ้าครอบคลุมทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งหมายรวมถึงสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ พบครูขาดสอนเพิ่มขึ้นประมาณ 9 %
แถลงการณ์ของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า จำนวนครูที่ไม่พอทำให้โรงเรียนไม่สามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง ทำให้เด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากกว่าเดิม
“เมื่อเรากำลังเข้าสู่ช่วงที่เปลี่ยนจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคเฉพาะถิ่น มันยิ่งทำให้ผมมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อให้เด็กๆ ของเราได้เข้าเรียนในโรงเรียนทุกวันที่พวกเขาสามารถทำได้” นาธิม ซาฮาวี (Nadhim Zahawi) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกล่าว ก่อนย้ำว่า ทางกระทรวง ขณะนี้กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากการสูญเสียการเรียนรู้อย่างเต็มที่ โดยหมายรวมถึงการคลายข้อจำกัดบางประการสำหรับมาตรการสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียน เช่น การอนุญาตให้นักเรียนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไป
ทั้งนี้ ในจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียน 1 ล้านคน หรือ 12.6% ราว 415,000 คนตัดสินใจออกจากโรงเรียนด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับโควิด ขณะที่ในส่วนของคุณครู พบว่า ครู 47,000 คน ไม่สามารถมาสอนได้ โดยจำนวนนี้ ประมาณ 3,000 คนไม่สามารถมาสอนเพราะสถานการณ์โควิด-19 ติดต่อกันนานมากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว
พอล ไวท์แมน (Paul Whiteman) เลขาธิการสมาคมครูใหญ่แห่งชาติ กล่าวว่า ตัวเลขการขาดเรียนของนักเรียนจากโควิด-19 ถือว่าเลวร้ายที่สุดในปีการศึกษานี้ ท่ามกลางความพยายามของโรงเรียนทั่วอังกฤษที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้โรงเรียนสามารถกลับมาสอนได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็ก การฟื้นฟูความรู้ที่หายไป การบริหารจัดการครูให้มีเพียงพอต่อจำนวนนักเรียน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ต้องเข้ารับการสอบเลื่อนชั้น หรือสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมหรืออุดมศึกษา ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง
ที่มา :