องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศและพันธมิตรทั่วโลกสนับสนุนการดำเนินการที่จำเป็น รวมถึงแนวทาง R.A.P.I.D. เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางการศึกษาที่เกิดในเด็กรุ่นนี้และรุ่นต่อไป หลังผลการศึกษาพบว่า ประมาณ 70% ของเด็กในวัย 10 ขวบทั่วโลกขณะนี้ไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความง่าย ๆ ได้
แถลงการณ์ร่วมของ UNICEF และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในองค์การสหประชาติ (UN) รวมถึงพันธมิตรอื่นๆ ระบุว่า ผลการสำรวจพบผลลัพธ์ทางการศึกษาและการเรียนที่น่าหวาดหวั่นที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ เนื่องจากภาวะยากจนทางการเรียนรู้ หรือ Learning Povertyเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของเด็กอายุ 10 ปีในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางไม่สามารถเข้าใจข้อความที่เขียนง่ายๆ
ทั้งนี้ ในรายงาน The State of Global Learning Poverty: 2022 Update ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ร่วมกันของธนาคารโลก, ยูนิเซฟ, สำนักงานต่างประเทศ, เครือจักรภพและการพัฒนาของรัฐบาลสหราชอาณาจักร,หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) และมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ภายใต้การสนับสนุนของ UNESCO ระบุว่า ก่อนหน้าการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ก็มีวิกฤตด้านการเรียนรู้อยู่แล้ว และการหยุดชะงักของโรงเรียนเพราะโควิดได้ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม
เด็กจากครอบครัวยากจน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำมีโอกาสน้อยกว่าถึง 7 เท่า ที่จะมีทักษะการอ่านขั้นต่ำเมื่ออายุ 10 ปี เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกันในประเทศที่มีรายได้สูง
การขาดดุลการเรียนรู้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรุ่น
ในโอกาสที่บรรดาผู้นำทั่วโลกได้มารวมตัวกันที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เพื่อเตรียมการประชุมก่อนการประชุมเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ Transforming Education Pre-Summit ทาง UNICEF ได้เสนอขอต่ออายุการเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่เกิดในชั่วอายุคน
UNICEF ชี้ว่าจากการศึกษาพบว่า วิกฤตการเรียนรู้ถือเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตและสวัสดิภาพของเด็กทั้งรุ่น เช่นเดียวกับการพัฒนา การเติบโต และความเจริญรุ่งเรืองในระดับโลกและระดับประเทศ โดยภาวะยากจนทางการเรียนรู้ทำให้มีความเสี่ยงสูญเงินถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับรายได้ตลอดช่วงชีวิต
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวร้ายก็มีข่าวดีอยู่ เพราะมีหลักฐานยืนยืนว่า การแก้ปัญหาภาวะยากจนทางการเรียนรู้ใช้เงินเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 10-15 ดอลลาร์สหรัฐต่อเด็กหนึ่งคนในการจัดการส่งมอบการศึกษา ฟื้นฟูทักษะ และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการศีกษาที่มีอยู่เพื่อให้เด็กได้รับความรู้พื้นฐานได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัยขณะเดียวกัน ก็แนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกประยุกต์ใช้แนวทาง “R.A.P.I.D.” ของ UNICEF ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดในการจัดการกับวิกฤตการเรียนรู้ทั่วโลก ประกอบด้วย
- R – Reach and Retain every child in school (เข้าถึงและดูแลเด็กทุกคนในโรงเรียน)
- A – Assess learning levels (ประเมินระดับการเรียนรู้)
- P – Prioritize teaching the fundamentals (จัดลำดับความสำคัญการสอนพื้นฐาน)
- I – Increase catch-up learning and progress beyond what was lost (เพิ่มการเรียนรู้ให้ทันและก้าวหน้าเกินกว่าสิ่งที่สูญเสียไป)
- D – Develop psychosocial health and well-being so every child is ready to learn (มุ่งพัฒนาสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อให้เด็กทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้)
UNICEF กล่าวว่า การเปิดให้โรงเรียนกลับมาสอนตามปกติไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตการเรียนรู้ เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กยากจนและเด็กชายขอบจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้เรียนรู้ตามเพื่อนได้ทัน และให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความพยายามฟื้นฟูการศึกษาที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคม UNICEF รายงานว่าน้อยกว่าครึ่งของประเทศที่ทำการสำรวจกำลังใช้กลยุทธ์การฟื้นฟูการเรียนรู้ในระดับต่างๆ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ทันสิ่งที่พวกเขาพลาดไป มีเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีรายได้ต่ำเท่านั้นที่มีแผนการประเมินระดับการเรียนรู้ของนักเรียนที่กลับไปโรงเรียนแล้ว และประเทศยากจนส่วนใหญ่มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาลดลงในช่วงการระบาดใหญ่ทั้งในด้านความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
แถลงการณ์ของ UNICEF ได้เรียกร้องให้พันธมิตรและผู้กำหนดนโยบายปิดช่องว่างด้วยการลงทุนในการเรียนรู้พื้นฐาน โดยมุ่งเน้นที่เด็กและชุมชนที่อยู่ชายขอบให้มากที่สุด
UNICEF ระบุอีกว่าการดูแลให้นักเรียนทุกคนมีพื้นฐานที่มั่นคงในด้านการอ่านขั้นพื้นฐานและคณิตศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะสำคัญที่เด็กๆ จำเป็นต้องสร้างอนาคต รวมไปถึงครอบครัวและชุมชนของพวกเขา ซึ่งหากไม่มีทักษะพื้นฐานเหล่านี้ นักเรียนจะไม่สามารถกู้คืนการเรียนรู้ที่สูญเสียไป ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่การศึกษาระดับมัธยมศึกษา และท้ายที่สุด จะต้องดิ้นรนอย่างหนักหน่วงเพื่อพบกับความสำเร็จในที่ทำงาน
ทั้งนี้ UNICEF ระบุว่า ทางองค์กรสนับสนุนให้รัฐบาลทั่วโลกใช้แนวทาง back-to-the-basics ที่เน้นบ่มเพาะทักษะพื้นฐานในวงกว้าง โดยเน้นที่การอ่านขั้นพื้นฐานและคิดคำนวน ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่ช่วยให้เด็กต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
ที่มา : UNICEF: Rise In Learning Poverty Prompts Renewed Call For R.A.P.I.D. Response