กสศ.ร่วมส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วย ณ จุดตรวจฟรีสำหรับประชาชนในกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของ “ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต กสศ.”
อาสา กสศ.ลงพื้นที่ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ศูนย์ราชการ
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมส่งทีมงานอาสาสมัครลงพื้นที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วย ณ จุดตรวจฟรีสำหรับประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ลานจอดรถ ชั้น 1 อาคาร B ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมีผู้สนใจเข้ารับการตรวจวันละประมาณ 2,500 คน
คุณจอย ชนัญชิดา บุญจันทร์ หนึ่งในอาสาสมัคร กสศ.ที่ได้ร่วมลงพื้นที่ศูนย์ราชการกล่าวว่า การทำงานในพื้นที่จะแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ 1. ตรวจคัดกรองเบื้องต้น 2. ตรวจคัดกรองผู้มี่ความเสี่ยง 3. ทำ Swap 4. รอผลตรวจ และ 5. รับยา
หน้าที่หลักของกลุ่มอาสาสมัคร กสศ.คือประจำอยู่ในส่วนของการรับยา โดยช่วยดูแลความเรียบร้อย ตั้งแถว และจัดระบบสำหรับคนที่เข้ามารอรับยา เพื่อให้ทีมแพทย์และพยาบาลจ่ายยาได้สะดวกคล่องตัวขึ้น
การจัดระบบที่ดีจะทำให้เกิดการเว้นระยะห่างและจ่ายยาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงการลดช่วงเวลาและความเสี่ยงจากการรวมตัว
“เราแบ่งแถวคนที่มารอรับยาออกเป็นสองฝั่ง หนึ่ง คือคนที่คัดกรองแล้วพบว่าผลเป็นบวกต้องรอรับยากันวันนั้นเลย กับ สอง คือคนที่มารับยาเพื่อนำไปส่งให้ผู้ติดเชื้อที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือศูนย์พักคอยต่าง ๆ โดยเราจะแบ่งผู้รับยาในแต่ละช่วงออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละห้าคน ให้เข้าแถวเว้นระยะห่าง แยกหมวดหมู่ของผู้รับยาประเภทใกล้เคียงกันให้อยู่ด้วยกัน วิธีนี้นอกจากช่วยให้แพทย์พยาบาลจัดยาได้สะดวกแล้ว ยังทำให้เกิดความรวดเร็วในการให้บริการ และนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากคนมารวมกันก็ลดลงตามไปด้วย”
‘ขอแค่ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้’
อาสาสมัครจาก กสศ.กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง ตนคิดว่าสิ่งที่ทุกคนทำได้ดีที่สุดคือทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ต่อไป ตอนนี้การแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนมาก ดังนั้นการมีสติในทุกที่ทุกเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ
“ทุกคนสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ด้วยการระมัดระวังตนเองให้เต็มที่ที่สุด ส่วนเรื่องการเข้าไปช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ นั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมและกำลังของแต่ละคน อย่างเราเองปกติเป็นพนักงานบริษัท ช่วงหลังปรับการทำงานมาเป็นเวิร์คฟรอมโฮมแล้วพอมีเวลาว่าง เห็นว่ามีผู้คนที่เดือดร้อนมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งอาหารหรือผู้ติดเชื้อ จึงตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่อาสาสมัครกับ กสศ. เรามีรถส่วนตัวอยู่แล้ว ทำให้พร้อมที่จะนำมาช่วยในส่วนนี้
“ทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอย่างแรก มีการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานแยกกับพื้นที่ผู้ติดเชื้อชัดเจน รถที่ใช้ก็ทำความสะอาดเต็มรูปแบบทุกครั้งหลังรับส่ง เราเชื่อว่าถ้าจัดระบบให้ดี ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดก่อน แค่นี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้แล้ว”