รุกหน้าสู่เป้าสูงสุด เด็ก จ.ราชบุรี หลุดนอกระบบต้องเป็น “ศูนย์” ใน 3 ปี ภายใต้โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’
- แสนสิริ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับจังหวัดราชบุรี รุกหน้าโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงศึกษาไทยให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ใน 3 ปี กับ ‘ราชบุรีโมเดล’ จังหวัดต้นแบบ
- เปิดตัว “3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี” นวัตกรรมกลไลอาสาสมัคร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แบบ 3 in 1 ครั้งแรกของประเทศไทยที่รวมพลัง อสม./ อพม. / อสศ. ฟื้นฟูเด็กๆ ครอบคลุมทุกมิติ ‘สุขภาพกาย-ใจ/ การคุ้มครองทางสังคม/ โอกาสทางการศึกษา’ ลดความความเสี่ยงของเด็กที่อยู่ในช่วงวิกฤติจะหลุดนอกระบบการศึกษาใกล้ชิด
- เดินหน้าผนึกกำลังร่วมกับกลไกจังหวัด โดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นประธาน จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดและคณะทำงานในพื้นที่ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ลงลึกถึงปัญหา สร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาใน จ.ราชบุรี อย่างยั่งยืน
- พร้อมมอบทุนการศึกษามูลค่ากว่า 1,100,000 บาท เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแก่นักเรียนกลุ่มชั้นรอยต่อที่มีความเสี่ยงจะหลุดนอกระบบจำนวนรวมมากกว่า 700 คน
นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางแสนสิริและกสศ. ได้พิจารณาและเห็นว่าพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีศักยภาพและเหมาะสมในการเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งนี้ จังหวัดราชบุรีมีกรอบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดราชบุรี พ.ศ. 2566-2570 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เมืองเกษตรสีเขียว เศรษฐกิจเข้มแข็ง สังคมคุณภาพ’ ซึ่งการทำงานร่วมกันภายใต้โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ผ่านการดำเนินงานของ กสศ. และแสนสิริ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะสอดคล้องกับพันธกิจและประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาจังหวัด ประกอบด้วย พันธกิจเสริมสร้างสังคมที่มีคุณภาพ ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง สู่การพัฒนาคนคุณภาพ เพื่อสร้างสังคมแห่งความสุข โดยจังหวัดราชบุรีทั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ตลอดจนภาคส่วนกลไกจังหวัดและกลไกส่วนท้องถิ่น พร้อมให้ความร่วมมือกับโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ในการพัฒนาออกแบบกลไกและนวัตกรรมการศึกษาในการช่วยเหลือดูแลเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงและเด็กที่หลุดนอกระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กในจังหวัดราชบุรี หลุดนอกระบบต้องเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปี และสามารถดูแลช่วยเหลือให้จำนวนเด็กนอกระบบเป็น “ศูนย์” ต่อไปได้ในระยะยาว
“ห้วงเวลานี้คือการเปลี่ยนผ่าน (Transform) และจังหวะของการลงมือทำเพื่อพาเด็กๆ กลับสู่การเรียนที่พัฒนาพวกเขาได้อย่างเต็มศักยภาพ เรียนได้ทันและเรียนรู้มากยิ่งกว่าที่พวกเขาเสียไป องค์การยูเนสโก ชี้ว่า เรื่องนี้ต้องรีบเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นแล้ว เด็กทั้งรุ่นอาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบที่แก้กลับคืนมาไม่ได้ สิ่งที่จะสูญเสียไปก็คือ ‘คนเจนเนอเรชั่นหนึ่งที่จะหายไปทั้งรุ่น’ ซึ่งกุญแจหลักของการแก้ปัญหาที่จังหวัดจะเดินหน้า คือ 1) Recovery การฟื้นฟูผลกระทบจากความเสียหายของไวรัสโควิด-19 2) Resilience การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3) Changes การปรับเปลี่ยนมุมมองแนวคิด และวิธีการในการแก้ไขปัญหา” รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าว
นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แสนสิริยึดมั่นและให้ความสำคัญกับความเสมอภาค, ความเท่าเทียมและการเข้าถึงได้ในทุกมิติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ที่เป็นประเด็นสำคัญทางสังคม และสามารถส่งผลกระทบต่อเยาวชนรวมถึงประเทศชาติในระยะยาว เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลงมือและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ระดมพลังคนไทยเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็น ”ศูนย์” ให้ได้ใน 3 ปี นำร่องผ่าน ‘ราชบุรีโมเดล’ จังหวัดต้นแบบ โดยเราตั้งเป้าที่จะลดจำนวนเด็กในช่วงวัยภาคบังคับ (ป.1-ม.3) ใน จ.ราชบุรี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือศูนย์ ด้วยการช่วยเหลือทั้งตัวเด็กเอง รวมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ จะสร้างแรงกระเพื่อมให้คนไทย ภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ลุกขึ้นมาช่วยเหลือเด็กทั้งประเทศไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมสร้างรากฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศ ให้การศึกษาและเด็กไทยอย่างยั่งยืน”
จังหวัดราชบุรี กสศ. และ แสนสิริ ขยายการดำเนินงานของโครงการสู่กลไกระดับจังหวัดและท้องถิ่น เปิดตัว “3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี” จากการรวมพลัง 3 กลไกท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครการศึกษา (อสศ.) เพื่อฟื้นฟูเด็กๆ ทุกมิติ ครั้งแรกของไทย มุ่งดูแลและฟื้นฟูเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาและทำงานครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ ด้านสุขภาพกาย-ใจ, การคุ้มครองทางสังคมและโอกาสทางการศึกษา ซึ่งการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และกลไกท้องถิ่นครั้งนี้ นับเป็นนวัตกรรมกลไกอาสาสมัคร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แบบ 3 in 1 ที่ริเริ่มที่จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดแรกในเมืองไทย! โดยเชื่อว่านวัตกรรม “3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี” นี้ จะเป็นโมเดลต้นแบบที่จังหวัดอื่นๆ ในประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขยายผลการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
“ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย และเป็นสาเหตุของหลายปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ แสนสิริเชื่อว่า การแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะนำไปสู่การสร้างรากฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ กับ ‘ราชบุรีโมเดล’ จะเป็นโครงการนำร่องในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ และสามารถขยายผลต่อในจังหวัดอื่นๆ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าวสรุป
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หลังจากการทำงานเพื่อเรียนรู้บริบทและสถานการณ์ในพื้นที่จริง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายภาคีการทำงานระยะยาว ผ่านการออกแบบกลไกการจัดการเชิงพื้นที่ (Area-based) ในช่วงครึ่งปีแรกการประสานความร่วมมือ “3 อาสา จังหวัดราชบุรี” อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยครอบคลุม 10 อำเภอ ใน 975 หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี (อพม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครการศึกษา (อสศ.) ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือของระบบอาสาสมัครในพื้นที่ที่มีต้นทุนเดิมอยู่แล้วในการทำงานอย่างเข้มแข็งให้มีนวัตกรรมการช่วยเหลือและความยั่งยืนมากขึ้น ที่จะช่วยกันประสานความร่วมมือดูแลฟื้นฟูเด็กๆ ในด้านสุขภาพ สภาวะทางครอบครัวสังคม และด้านการศึกษา อย่างครบทุกมิติ ครั้งแรกของเมืองไทยแล้ว เรายังผนึกกำลังร่วมกับกลไกจังหวัด จัดตั้งคณะกรรมการจัดการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดราชบุรี และคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือเด็กวิกฤติและคณะทำงานในพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน, ศึกษาธิการจังหวัด, เขตพื้นที่, ทุกหน่วยงานการศึกษา, สถานศึกษา, ผู้อำนวยการและครู อาสาสมัครการศึกษา เพื่อประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ลงลึกถึงปัญหา สร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกัน เป็นการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาใน จ.ราชบุรี อย่างยั่งยืน เพื่อให้วาระความเสมอภาคทางการศึกษามีแนวทางและกลไกการพัฒนาในจังหวัดสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวอย่างยั่งยืน
“ในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 1/2565 ที่ผ่านมา เรายังได้เข้าช่วยเหลือเด็กนักเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใน จ.ราชบุรี ที่มีความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและจากสถานการณ์โควิด-19 รวมมากกว่า 700 คน ผ่านการมอบทุนการศึกษารวมมูลค่า 1,100,000 บาท ภายใต้โครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้กับเด็กและครอบครัวอีกด้วย และเป็นการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยมาตรการเชิงป้องกันที่ต้นทาง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการสู่เป้าหมาย Zero Dropout ที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืนที่ กสศ. เตรียมขยายผลสู่การดำเนินการระดับประเทศอย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต” ดร.ไกรยส กล่าวปิดท้าย