ทุกวันนี้ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาดูจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากที่สุด และหาทางออกได้ยากที่สุด เพราะขณะที่การศึกษาเป็นเหมือนประตูสู่โอกาสสำหรับเด็กหลายคน ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เนื่องด้วยฐานะที่ยากจนและต้นทุนชีวิตที่น้อยกว่าคนอื่น
จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน หรือไม่ถึง 36,000 บาทต่อปี ซึ่งครอบครัวเหล่านี้ต้องแบกรับรายจ่ายทางการศึกษาคิดเป็น 22% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยรับภาระทางการศึกษาคิดเป็นเพียง 6% ของรายได้ พูดให้ถึงที่สุดแล้ว ครัวเรือนยากจนต้องรับภาระทางการศึกษามากกว่าครัวเรือนที่ร่ำรวยถึง 4 เท่า
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ในแต่ละปีกลุ่มเด็กจากครัวเรือนที่ยากจน มีแนวโน้มต้องออกจากโรงเรียนกลางคันหรือหลุดจากระบบการศึกษาเฉลี่ยปีละกว่า 670,000 คน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีงบประมาณสำหรับช่วยเหลือนักเรียนยากจนที่เรียกว่า ‘เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน’ ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จัดสรรความช่วยเหลือแบบเท่ากันทุกคน
แต่คำว่า ‘เท่ากันทุกคน’ (Universal) อาจไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เท่าเทียมและแก้ปัญหาได้ตรงจุดเสมอไป ในระยะหลังนักวิชาการเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาแบบเฉพาะกลุ่ม (Targeting) มากขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักเรียนแต่ละคนมีปัญหาและมีความต้องการเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกัน อีกทั้งข้อจำกัดทางงบประมาณก็เป็นแรงกดดันที่สำคัญ
ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว กสศ. ร่วมกับ สพฐ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามอุปสงค์ (Demand-size financing) ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยเริ่มก้าวแรกที่โรงเรียนในสังกัดสพฐ. และกำลังขยายผลไปสู่สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ
ในงานสัมมนา ‘ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ’ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยได้นำเสนอองค์ความรู้เบื้องต้นว่าด้วยวิธีการคัดกรองนักเรียนยากจน และร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษต่อไป
กระบวนการคัดกรองเด็กยากจนพิเศษ ด้วยวิธีวัดรายได้โดยอ้อม (PMT) – ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเล่าว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เข้าไปมีบทบาทในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายที่โดดเด่น เช่น การมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งมอบให้เด็กนักเรียนโดยไม่จำกัดเพศและเชื้อชาติ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ก้าวหน้าพอสมควร
นอกจากนี้ สพฐ. ยังมองเห็นด้วยว่า แม้จะมีโครงการเรียนฟรี แต่ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งต้องตกอยู่หางแถว และหลุดออกไปจากระบบการศึกษา นั่นคือกลุ่ม ‘เด็กยากจน’ สพฐ. จึงมีความพยายามช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนยากจนขนาดใหญ่ โดยจัดสรรงบประมาณปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนที่นอกเหนือไปจากการเรียนฟรี เช่น สนับสนุนค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์ หรือการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ
“สพฐ. ถือเป็นหน่วยงานที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานมาได้ในระดับหนึ่ง เพราะมีระบบฐานข้อมูล (Database) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลนักเรียน และให้คุณครูแต่ละท่านสามารถแจ้งข้อมูลกลับเข้ามายังระบบได้ว่า ในระบบโรงเรียนที่คุณครูแต่ละท่านดูแลอยู่ มีนักเรียนกี่คนที่น่าจะเข้าข่ายความยากจนและควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ”
ชัยยุทธอธิบายต่อว่า เมื่อ สพฐ. ได้ข้อมูลของนักเรียนมาแล้ว ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจาเรื่องงบประมาณกับสำนักงบประมาณ อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ เช่น บางครั้งงบประมาณที่ได้มาก็ไม่เพียงพอ ส่วนตัวโรงเรียนเองก็ไม่มีกลไกที่จะแยกว่าเด็กนักเรียนคนไหนมีฐานะยากจนกว่ากัน ปัญหานี้กลายมาเป็นโจทย์วิจัยของโครงการ นั่นคือ เราจะหาวิธีคัดกรองเด็กที่มีความยากจนพิเศษออกมาได้อย่างไร ซึ่งโครงนี้เสนอให้นำการประเมินรายได้โดยอ้อม (Proxy Means Test: PMT) มาใช้
“แต่เดิมรายได้ที่ สพฐ. ใช้วัดความยากจนของเด็กคือรายได้ของผู้ปกครอง ซึ่งรวมกันแล้วจะไม่ต้องเกิน 40,000 บาทต่อปี แต่ปัญหาคือ เมื่อเราเริ่มสอบถามรายได้ของผู้ปกครอง เราพบว่าเด็กส่วนใหญ่ คือเกิน 20-30% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่มีทั้งที่อยู่กับตายาย อยู่ที่วัด หรืออยู่ที่มูลนิธิก็มี ทำให้การถามรายได้ของผู้ปกครองกลายเป็นปัญหาในตัวเอง”
อีกปัญหาหนึ่งที่คณะทำงานพบคือ คำถามเรื่องรายได้เป็นคำถามที่ค่อนข้างตอบยาก เพราะบางครัวเรือนทำงานเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือประกอบอาชีพรับจ้าง ดังนั้น ถ้าไม่ใช่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก็อาจจะต้องไปทำงานอย่างอื่นแทน หรืออาชีพบางอาชีพก็มีความไม่แน่นอน บางปีมีรายได้มาก บางปีก็มีรายได้ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความยากในการประเมินรายได้
เมื่อเจอปัญหาเช่นนี้ จึงมีความพยายามในการสร้างเครื่องมือขึ้นมาตัวหนึ่ง คือแทนที่จะใช้การถามรายได้ตรงๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการประเมินมิติที่หลากหลายของครัวเรือนแทน โดยชัยยุทธอธิบายว่า การประเมินจะเริ่มต้นจากงานของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) หรือโครงการเด็กแรกเกิดที่พัฒนาขึ้นมาให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือเริ่มจากการดูที่เส้นความยากจน (Poverty line)
“สมมติว่าเรากำหนดตัวเลขไว้ที่ 3,000 บาทต่อเดือน ต่อคน ต่อครอบครัว ในกรณีที่คุณมีรายได้ต่ำกว่านี้ และยังเข้าเงื่อนไขบางอย่าง เช่น มีคนว่างงาน มีผู้สูงอายุหรือผู้พิการในครอบครัว คุณก็อาจจัดอยู่ในข่ายที่เราคิดว่าต้องได้รับความช่วยเหลือ”
“อีกปัจจัยหนึ่งคือ การประเมินทรัพย์สิน ดูว่าคุณมีทรัพย์สินมากน้อยขนาดไหน ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร แต่มีที่ดินเพื่อการเกษตรน้อย ก็มีแนวโน้มว่าจะมีรายได้น้อย รวมถึงดูว่าคุณมีทรัพย์สินที่เป็นสินค้าคงทนหรือไม่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัยพอไหม ตรงนี้โกหกยากนะครับ ถ้าเราไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนก็จะเห็นสภาพความเป็นจริงเลย” ชัยยุทธอธิบาย พร้อมทั้งเสริมว่า ในอนาคต อาจจะเพิ่มปัจจัยเรื่องการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำดื่มสะอาดด้วย
เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำข้อมูลมาเข้าเครื่องมือทางสถิติ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าต่างๆ ที่จะโยงกับเรื่องรายได้ โดยตัวแปรแต่ละตัวจะสะท้อนว่า เจ้าของข้อมูลนั้นมีรายได้มากน้อยขนาดไหน
อย่างไรก็ตาม ชัยยุทธชี้ให้เห็นว่า การออกแบบทั้งกระบวนการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว กลุ่มคนยากจนหรือยากไร้จะมีต้นทุนสูงกว่ากลุ่มอื่นในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และอาจอยู่ในที่ๆ หาตัวได้ลำบาก คณะทำงานจึงต้องหาวิธีที่จะนำกลุ่มคนเหล่านี้มาเข้าสู่กระบวนการให้ได้ แต่ในกรณีของเด็กนักเรียน อาจโชคดีหน่อยตรงที่ข้อมูลและตัวเด็กอยู่ที่โรงเรียนอยู่แล้ว
“สพฐ. มีโครงการที่ให้คุณครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งจะทำให้คุณครูเห็นสภาพความเป็นจริงของเด็กเวลาอยู่ที่บ้าน สมมติเจอเด็กที่มาเรียนในสภาพไม่พร้อม ไม่ได้กินข้าวเช้า เวลาไปที่บ้านก็อาจจะเห็นว่า เด็กไม่ได้กินข้าวเช้า เพราะพ่อแม่ต้องรีบไปทำมาหากิน เลยจำเป็นต้องให้ลูกหาข้าวกินเอง แบบนี้ก็มีเยอะ ตรงนี้โรงเรียนอาจช่วยได้ เช่น อาจจัดให้มีการกินข้าวเที่ยงเร็วขึ้น”
“ทีนี้ เวลาคุณครูไปเยี่ยมบ้าน จะมีการทำแบบสอบถามเกี่ยวกับรายได้และตัวชี้วัดนิดหน่อย อีกเรื่องหนึ่งที่เราพบคือ เราพยายามบอกให้ครูถ่ายรูปบ้านทั้งด้านนอกและด้านในมาด้วย แต่เราก็กังวลอยู่เหมือนกันว่า ครูอาจจะไม่อยากถ่าย หรือผู้ปกครองอาจจะอาย บางทีครูก็จะต้องเป็นคนบันทึกเอง ซึ่งเราก็อยากลดภาระของครูตรงนี้ โดยให้มีกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนเข้ามาช่วยยืนยันว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลจริง”
ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ คณะทำงานอาจใช้วิธีอื่นควบคู่ไปกับเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วย เช่น ใช้การสอบถามรายได้ หรือใช้เครื่องมือของสพฐ. ที่ตีค่าออกมาเป็นคะแนน 100 (ยากจนมาก) – 0 (ยากจนน้อย) และนำมาระบุเป็นเกณฑ์ความยากจนพิเศษของกองทุนอีกทีหนึ่ง
สุดท้าย เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดออกมาแล้ว กสศ. จึงจะประเมินและประกาศรายชื่อที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรอง และทำการจัดสรรเงินต่อไป ทั้งนี้ ชัยยุทธเสริมว่า ชุมชนหรือคณะกรรมการสถานศึกษาควรจะเข้ามามีบทบาทในการดูแล และให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย เพื่อไม่ให้เด็กคนไหนถูกลืมไว้ข้างหลัง
การคัดกรองทำให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพที่สุด ภายใต้งบประมาณที่จำกัด – ชญานี ชวะโนทย์
ต่อจากกระบวนการในการคัดกรอง ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลการคัดกรองของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โดยชญานีเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า นอกจากการคัดกรองในกลุ่มโรงเรียนสังกัด สพฐ. แล้ว จะมีการรวมเด็กที่เข้ามาใหม่ คือระดับชั้นป.1 ป.4 และม.1 รวมถึงกลุ่มที่เป็นชั้นเคลื่อน (ป.2-3 และ ป.5-6) ที่อาจตกหล่นจากการคัดกรองในปีก่อนเข้ามาสู่ระบบการคัดกรองด้วย รวมถึงกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จาก 10 จังหวัดนำร่อง และกลุ่มโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่จะเข้ามาร่วมด้วย ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
สำหรับเกณฑ์การคัดกรอง จะประกอบด้วยเรื่องรายได้ คือถ้ารายได้เกิน 3,000 บาท จะถือว่าเป็นกลุ่มรายได้เกิน แต่ถ้ารายได้น้อยกว่า 3,000 บาท จะถูกจัดกลุ่มแยกย่อยออกเป็นกลุ่มยากจนน้อย ยากจน และยากจนพิเศษ ซึ่งกลุ่มหลังจะเป็นกลุ่มที่กองทุนได้เพิ่มตัวเงินช่วยเหลือให้ และโรงเรียนในแต่ละสังกัดก็จะเปรียบเทียบแยกกันด้วย
ชญานียอมรับว่า หากเป็นไปได้ ก็อยากจะให้ความช่วยเหลือกับทุกคนที่มีรายได้น้อยกว่า 3,000 บาท แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณทำให้ต้องมีการคัดกรองอีกทีหนึ่ง ซึ่งการคัดกรองจะใช้การวัดรายได้โดยอ้อม (PMT) ซึ่งดูจากเกณฑ์ต่างๆ ที่น่าจะมีผลในการประเมินตัวรายได้ แล้วคำนวณออกมาเป็นคะแนนความยากจน ซึ่งจะเชื่อมกับตัวรายได้อีกที
ในเบื้องต้น ทางคณะทำงานจะใช้รายได้ที่ได้มาจากการรายงานในครัวเรือนก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองหรือครูด้วยว่าจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงนำข้อมูลมาประมาณการ และแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งผลปรากฏว่ามีการประมาณการคลาดเคลื่อน 2 กลุ่ม คือกลุ่ม exclusion error (กลุ่มที่ PMT บอกว่าไม่จน แต่รายได้ครัวเรือนระบุว่าจน) คิดเป็นประมาณ 33% และ inclusion error (กลุ่มที่ PMT บอกว่าจน แต่รายได้ครัวเรือนระบุว่าไม่จน) ประมาณ 38%
ในตอนท้าย ชญานีสรุปสิ่งที่คณะทำงานค้นพบคือ คะแนนความยากจนที่คำนวณจากเกณฑ์หลายๆ เกณฑ์นั้น ไปในทิศทางเดียวกับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อหัว และกลุ่มที่ได้คะแนนความยากจนค่อนข้างมากที่สุดคือ กลุ่มนักเรียน ตชด. ขณะที่ในภาพรวม ถ้านับจำนวนตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้ ทางคณะทำงานคัดเด็กยากจนมาได้ทั้งหมดประมาณเกือบ 1,700,000 คน และเป็นเด็กยากจนพิเศษจำนวน 700,000 คน
การมีส่วนร่วมคือหนึ่งในหัวใจสำคัญในการคัดกรองเด็กยากจน – ธร ปีติดล
“กสศ. เป็นหน่วยงานที่อาจจะไม่ได้ลงทุนเยอะ เพราะมีพาร์ทเนอร์ที่สำคัญคือโรงเรียน กสศ. จึงมีหน้าที่นำสิ่งที่โรงเรียนทำอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกระบวนการคัดกรองของตน ส่วนครูก็มีหน้าที่นำโครงการของ กสศ. ไปปฏิบัติในพื้นที่ เช่น กระบวนการเยี่ยมบ้านนักเรียน ก็เป็นกระบวนการที่ถูกดึงมาเพื่อช่วยในส่วนของการเก็บข้อมูล”
ผศ.ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นอธิบายในมิติการดำเนินการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับรองผลการคัดกรอง โดยชี้ให้เห็นว่า แม้โรงเรียนจะมีส่วนช่วย กสศ. ได้มาก แต่ตัวโรงเรียนเองก็สร้างความท้าทายให้ กสศ. ได้เช่นกัน เพราะศักยภาพในการทำงานของ กสศ. โดยเฉพาะในเรื่องการคัดกรองนักเรียน อิงอยู่กับศักยภาพการทำงานของโรงเรียน จึงนำไปสู่คำถามสำคัญคือ ถ้าอยากให้โรงเรียนกับ กสศ. ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องทำอย่างไรบ้าง
“ต้องบอกก่อนว่า กสศ. สามารถเริ่มทำได้หลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะให้แรงจูงใจกับโรงเรียนหรือกับครู และหนึ่งอย่างที่ กสศ. สามารถทำได้คือ การนำกระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการทำงานของโรงเรียน ซึ่ง กสศ. ก็สามารถนำกระบวนการดังกล่าวมาช่วยพัฒนาการทำงานของตัวเองให้ดีขึ้นได้เช่นกัน”
ธรยกตัวอย่างโครงการในระดับสากลอย่างโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer) ที่เม็กซิโก หรือกระบวนการคัดกรองคนยากจนในอินโดนีเซีย ที่นำเอาการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาร่วมรับทราบและรับรองผล รวมถึงให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่อาจตกหล่นไปในการคัดกรองด้วย
ธรเห็นว่า โมเดลในการสร้างการมีส่วนร่วมของ กสศ. เป็นโมเดลที่น่าสนใจ โดย กสศ. ได้ดึงคณะกรรมการสถานศึกษาส่วนหนึ่งเข้ามา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับโรงเรียน โดยตัวแทนที่เข้าร่วมจะประกอบด้วยประธาน ผู้แทนชุมชน ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้อำนวยการ และตัวแทนครู ซึ่งทั้ง 5 คนนี้มีหน้าที่รับรองผลการคัดกรองที่ได้หลังกระบวนการเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบเสร็จสิ้น และยังมีหน้าที่รับรองรายชื่อนักเรียนที่จะได้รับทุนสนับสนุนอีกด้วย
นอกจากทำการรับรองผลและรายชื่อนักเรียนแล้ว ธรยังชี้ให้เห็นประโยชน์ของการที่กรรมการสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม กล่าวคือ กรรมการเหล่านี้เป็นคนในพื้นที่ จึงอาจมีข้อมูลอื่นที่นำมาเสริมกับการคัดกรองได้ และจะช่วยตรวจสอบผลว่า ข้อมูลที่ได้มาถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ครูหรือผู้ที่ทำงานเก็บข้อมูล มีแนวโน้มจะทำงานได้รัดกุมมากขึ้นเมื่อมีคนตรวจสอบ สุดท้ายคือการมีส่วนร่วมยังช่วยสร้างการยอมรับในพื้นที่ด้วย เพราะถ้าผู้ปกครองทราบว่ามีตัวแทนมาร่วมตรวจสอบผลลัพธ์ ก็จะมองว่าผลที่ออกมาเป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ธรชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญของโมเดลนี้เช่นกันว่า แม้การนำสิ่งที่มีอยู่แล้วในโรงเรียนมาใช้มีข้อดี แต่ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายอย่างมาก เพราะการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นผ่านกรรมการสถานศึกษา ย่อมถูกจำกัดด้วยศักยภาพของกรรมการสถานศึกษาเอง
“ปกติแล้ว โรงเรียนจะจำกัดหน้าที่ของกรรมการสถานศึกษาอยู่บางประการ คือในภาพใหญ่ โรงเรียนส่วนมากมักจะนำกรรมการเข้ามาใช้ในการระดมทุนทำกิจกรรมมากกว่า แต่ถ้าเป็นด้านการปฏิบัติงานของครู กรรมการสถานศึกษาก็ยังมีส่วนร่วมได้น้อยอยู่”
“ภาพใหญ่นี้จะส่งผลมาถึงการมีส่วนร่วมในขั้นตอนการรับรองเหมือนกัน คือพอกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว โรงเรียนก็จะมองเหมือนกับว่า นี่เป็นเรื่องการปฏิบัติงานของโรงเรียน จึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ขณะที่ตัวกรรมการเองก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้ช่วยทำกิจกรรมหรือระดมทุน กรรมการจึงมักเป็นกลุ่มคนที่มีเงิน หรือมีตำแหน่งใหญ่ ซึ่งก็มีเวลาน้อยอยู่แล้ว ทำให้เข้ามาช่วยในกระบวนการได้น้อยด้วย”
นอกจากนี้ โรงเรียนแต่ละโรงเรียนอาจเจอข้อจำกัดไม่เหมือนกัน กล่าวคือ คนทั่วไปมักคิดว่า กรรมการสถานศึกษาหรือคนในชุมชนที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาตัวคัดกรอง จะต้องเป็นคนที่รู้หรือมีข้อมูลในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงเรียนมีหลายรูปแบบ และประกอบไปด้วยเด็กที่มีภูมิหลังที่หลากหลาย ทำให้กรรมการอาจไม่ทราบข้อมูลทั้งหมดว่า นักเรียนคนใดบ้างที่มีฐานะยากจน และอีกข้อที่สำคัญคือ กรรมการสถานศึกษาอาจเน้นช่วยเหลือเครือข่ายของคนที่ตนเองรู้จักหรือใกล้ชิดก่อน
แต่ใช่ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคไปเสียหมด ธรเสนอว่า กสศ. สามารถนำความท้าทายเหล่านี้มาเป็นโจทย์ในอนาคตได้ หรือแม้แต่คิดไปถึงโจทย์ที่ใหญ่กว่า คือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในการช่วยออกแบบการทำงานของตนให้ดีขึ้น หรือจะออกแบบแรงจูงใจให้กับโรงเรียน ครู รวมไปถึงกรรมการสถานศึกษาเข้ามาช่วยทำงานได้อย่างไร
“สิ่งที่เราทำได้อย่างแน่นอนคือ การนำกรรมการสถานศึกษามาช่วยในการตรวจสอบกระบวนการ รวมถึงเข้ามาช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับครูที่กำลังทำโครงการนี้อยู่ ตรงนี้เป็นส่วนที่คณะกรรมการสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ตั้งแต่แรกเริ่ม และน่าจะช่วยให้โครงการนี้เกิดผลดีมากขึ้น”
“ระบบที่ออกแบบมาค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้คนที่นำไปปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้อย่างดีด้วย ซึ่งนี่จะเป็นอีกด้านที่มีความท้าทายมากทีเดียว” ธรปิดท้าย