ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ
โดย : กานต์ธีรา ภูริวิกรัย
ภาพ : กสศ.

ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ

“การศึกษาเป็นประตูไปสู่โอกาสที่ดีกว่า” ประโยคนี้เป็นความจริงที่ยากปฏิเสธ แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันที่เด็กอีกหลายคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้สัมผัสประตูบานนี้ เพราะฐานะที่ยากจนและต้นทุนชีวิตที่น้อยกว่าคนอื่น มีการประมาณว่า ในแต่ละปี มีนักเรียนเฉลี่ย 670,000 คนจากครัวเรือนที่ยากจน ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันหรือหลุดออกจากระบบการศึกษา

เมื่อเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ก็ย่อมส่งผลต่อการเข้าถึงโอกาสอื่นในชีวิต กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่นกัน

สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมทำการวิจัยจนได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามอุปสงค์ (Demand-size financing) ตรงตามความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล และยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการสถานศึกษา เข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้ด้วย

นี่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่มีหน่วยงานนำข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อปฏิรูปการจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนยากจน โดยระบบนี้จะช่วยสถานศึกษาและบุคลากรในการคัดกรองและสนับสนุนงบประมาณให้นักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นเหมือนการรับประกันว่า การจ่ายเงินอุดหนุนไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กสศ. ได้จัดงานสัมมนา ‘ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ’ ที่นอกจากจะพูดคุยถึงการใช้วิธีการวัดรายได้ทางอ้อมเพื่อคัดกรองเด็ก และผลการคัดกรองที่กสศ. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายแล้ว ยังเป็นการเสวนาเพื่อร่วมหาทางออกให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย โดยผู้เข้าร่วมการเสวนาประกอบด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกสศ. ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณขวัญพลอย ชีช้าง จากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย คุณพงศ์นคร โภชากรณ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.ธร ปีติดล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ต่อจากนี้คือการเก็บความจากงานเสวนาดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และความพยายามจากหลายภาคส่วนที่จะเข้ามาร่วมลดความเหลื่อมล้ำนี้ และยังเป็นเหมือนการทิ้งโจทย์สำคัญไว้ให้เราตอบว่า เราจะช่วยนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างไร

UNICEF กับโครงการเพื่อการเลี้ยงดูเด็กยากจน (Child Support Grant) – ขวัญพลอย ชีช้าง

คุณขวัญพลอย ชีช้าง จาก UNICEF ประเทศไทย

คุณขวัญพลอย ชีช้าง จาก UNICEF ประเทศไทย เริ่มต้นการเสวนาด้วยการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในโครงการเพื่อการเลี้ยงดูเด็กยากจน (Child Support Grant) ที่ทำร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยขวัญพลอยอธิบายว่า โครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบหนึ่งของโครงการจัดสรรเงินอุดหนุน (Cash Transfer) แบบให้เปล่า โดยมีจุดประสงค์จะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีบุตร

“โครงการปัจจุบันเป็นโครงการที่ให้ความคุ้มครองกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อคนต่อปี จะเห็นว่าโครงการนี้ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกับโครงการสวัสดิการรัฐเหมือนกัน”

สำหรับผู้ที่ลงพื้นที่เพื่อคัดเลือกครอบครัวที่จะได้รับเงินอุดหนุน จะเป็นกลุ่มคนในชุมชนที่รู้จักแต่ละครอบครัวดีอยู่แล้ว เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออาสาสมัครที่ปฏิบัติงานด้านต่างๆ ในชุมชน (อพม.) และมีเจ้าหน้าที่กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครอีกกลุ่มเป็นคนทำหน้าที่รับรองอีกทีหนึ่ง

ในตอนแรก โครงการนี้ใช้วิธีการคัดกรองด้วยวิธีวัดรายได้ทางอ้อม (PMT) เช่นกัน แต่เกิดปัญหาในช่วงสองสามปีแรกว่า กลุ่มคนที่ลงพื้นที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ และด้วยความที่โครงการเพื่อการเลี้ยงดูเด็กยากจน พิจารณาคัดเลือกครอบครัวจากทั่วประเทศ ทำให้การคัดเลือกครอบครัวที่จะเข้าเงื่อนไขได้รับเงินอุดหนุนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก โครงการจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยอาจจะไม่ได้ใช้วิธี PMT ทั้งหมด แต่เปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นแทน

“ขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ จะเริ่มจากการที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หรือว่ามีบุตร ต้องไปลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ ก็จะลงทะเบียนกับ กทม. โดยจะต้องกรอกข้อมูลและมีผู้รับรองอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่เขตหรืออาสาสมัคร และถ้าไม่มีใครคัดค้านอะไรภายใน 15 วัน ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์”

“จากนั้น ข้อมูลจะถูกส่งมาให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนประมวลผล และส่งเรื่องเบิกไปที่กรมบัญชีกลางต่อไป โดยจะมีการตรวจสอบข้อมูลกับทางกระทรวงมหาดไทยอีกรอบด้วย จะเห็นว่า นี่ไม่ใช่การทำงานของกระทรวงหรือหน่วยงานเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมของหลายหน่วยงาน”

ขวัญพลอยเล่าต่อว่า ในช่วงปี 2558 โครงการเริ่มพิจารณาให้เงินอุดหนุนกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีเป็นการนำร่อง และมีเกณฑ์รายได้คือ 36,000 บาทต่อคนต่อปี โดยโครงการให้เงิน 400 บาทต่อครอบครัว ซึ่งจากการประเมินออกมาได้ผลค่อนข้างดี จึงขยายโครงการเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการให้เงินอุดหนุนเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ในปี 2559 และในช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางโครงการได้ขยายความคุ้มครองไปถึงเด็กอายุ 6 ปี รวมถึงปรับเกณฑ์รายได้จาก 36,000 บาท เป็น 100,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ

ขวัญพลอยชี้ให้เห็นว่า โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่ดำเนินงานและขยายตัวออกไปได้อย่างรวดเร็ว คือช่วยเหลือเด็กได้เกือบล้านคนในระยะเวลา 3-4 ปี อีกทั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังมีหลายประเทศมาดูงาน เช่น ประเทศพม่า และถ้ามองในแง่ของครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนนั้น ขวัญพลอยเล่าว่า เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนจะมีภาวะทางโภชนาการที่ดีกว่า เข้าถึงบริการสาธารณสุขหรือบริการทางสังคมได้มากกว่า ขณะที่แม่ของเด็กที่ได้รับเงิน ก็จะมีอำนาจในการตัดสินใจที่มากกว่าด้วย

แม้จะเห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม แต่โครงการก็ยังต้องเจอกับความท้าทายอยู่หลายประการ ประการแรก การที่โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ทำให้อาจเกิดปัญหาขัดกันในแง่ของกฎระเบียบ หรือเงื่อนไขบางอย่างบ้าง ประการที่สอง ในช่วงดำเนินโครงการ ตัวโครงการมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนไปค่อนข้างเร็ว ทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งต้องรับผิดงานหลายส่วนอยู่แล้ว อาจเกิดความสับสนได้ ซึ่งทางกรมกิจการเด็กและเยาวชนก็พยายามหาทางจัดการกับความท้าทายดังกล่าวอยู่

“เรื่องการสื่อสารก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ คือเราจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงหรือรับรู้ข้อมูล ซึ่งตัวโครงการจะมีเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงด้วย” ขวัญพลอยกล่าว พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า กำลังมีการออกแบบระบบเพื่อให้สนับสนุนคนได้มากขึ้น และมีการติดตามตรวจสอบโครงการด้วย

นอกจากนี้ ทางคณะทำงานยังมีแผนที่จะขยับขยายโครงการออกไปให้เด็กในช่วงอายุอื่น และอาจจะพัฒนาไปเชื่อมกับบริการอื่นๆ เช่น กลุ่มคุณแม่วัยรุ่น ที่ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนเวลา และไม่มีองค์ความรู้เพียงพอในการเลี้ยงลูก ทางโครงการจึงอยากสนับสนุนให้กลุ่มนี้หาลู่ทางประกอบอาชีพ และมีองค์ความรู้พอที่จะเลี้ยงลูก ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของประชากรที่มีคุณภาพต่อไป

นโยบายแบบ tailor-made เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด – พงศ์นคร โภชากรณ์

ภาครัฐถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษและอยู่ในสนามมาอย่างยาวนาน ประสบการณ์ของหน่วยงานภาครัฐในการช่วยเหลือเด็กยากจน จึงมีคุณูปการสำคัญต่อการออกแบบนโยบายในอนาคต โดย พงศ์นคร โภชากรณ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตั้งประเด็นที่น่าสนใจว่า การที่เด็กยากจน หมายความว่าพ่อแม่ของพวกเขาจน ดังนั้น การจะช่วยเด็กที่ยากจน ต้องเริ่มจากการช่วยเหลือพ่อแม่ที่ยากจน แล้วจึงช่วยเด็กไปด้วยพร้อมๆ กัน

พงศ์นคร โภชากรณ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

พงศ์นครกล่าวว่า สาเหตุของความยากจนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การใช้นโยบายแบบเดียวกับคนทุกกลุ่มจึงอาจไม่ใช่ทางออก ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงมีความพยายามในการออกนโยบายแบบ tailor-made มากขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน พงศ์นครยกตัวอย่างว่า สมมติคนๆ หนึ่งอยู่กรุงเทพฯ มีรายได้ไม่พอใช้จ่าย เพราะค่าครองชีพที่กรุงเทพฯ สูง แต่พอย้ายไปอยู่ที่ต่างจังหวัด รายได้ยังเท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง เขาก็อาจจะไม่ใช่คนที่ถูกเรียกว่าเป็นคนจนอีกต่อไป ดังนั้น เวลาเราจะพิจารณาเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนยากจน จึงควรพิจารณาเป็นรายจังหวัด ไม่ใช่ทั้งประเทศ มิเช่นนั้นคนที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงจะเสียเปรียบมากกว่า

“ผมจึงมีไอเดียว่า เราอาจต้องมองเรื่องการนำ Big Data เข้ามาใช้ เพราะการทำข้อมูลโดยใช้ฐานข้อมูล (Database) ธรรมดา อาจไม่ได้ช่วยให้เราเห็นภาพทั้งหมดครบถ้วน”

“ข้อมูลบอกว่า คนรายได้น้อยทั้งหมดมีจำนวน 14.6 ล้านคน คัดกรองเฉพาะคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน (Poverty line) เหลือ 10.8 ล้านคน ในจำนวนสิบล้านกว่าคนนี้แจ้งกับเราว่า มี 1.2 ล้านคนที่มีลูก แล้วเราต้องมาแยกรายได้ของคน 1.2 ล้านคนนี้อีกทีหนึ่ง เพื่อจะหากลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด”

“เมื่อเราได้กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดแล้ว จึงจะมาจำแนกคนในกลุ่มนี้อีกที โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยว่าครอบครัวไหนมีลูกอายุต่ำกว่า 18 ปี และในบรรดาเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ต้องหาต่อว่า มีเด็กคนไหนที่ยังอยู่ในระบบโรงเรียน โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ออกมา 800,000 กว่าคน”

“เมื่อได้ตัวเลขดังกล่าวมาแล้ว เราอาจจะเอามาคัดกรองอีกทีว่า เด็กแปดแสนกว่าคนนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน อาจอยู่ในหมู่บ้านที่ยังไม่มีถนน หรือยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บ้านไม่ถูกสุขลักษณะ หรือกินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เราควรช่วยเหลือเป็นพิเศษก่อน”

นอกจากข้อมูลตัวเลขแล้ว ทางคณะทำงานยังมีชื่อ ที่อยู่ และเลขบัตรประชาชน ทำให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต และยังมีการแบ่งข้อมูลความยากจนเป็นรายจังหวัดอีกด้วย ทั้งนี้ พงศ์นครได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า การให้เงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขเรื่องความยากจนที่ตรงจุด เพราะบางครอบครัวอาจไม่ได้ลำบากเรื่องเงิน แต่ลำบากเรื่องอื่น เช่น หมู่บ้านยังไม่มีถนนตัดผ่าน ดังนั้นการช่วยเหลือคนที่มีฐานะยากจนจึงควรช่วยตามความเหมาะสมของกลุ่มคนและพื้นที่ ให้ในสิ่งที่เขาต้องการและมีความจำเป็นต่อชีวิตของเขา

การมองเห็น ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างเด็กแต่ละคน คือหัวใจของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนในอนาคต – ชญานี ชวะโนทย์

วงเสวนาขยับมาที่ ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เกริ่นนำว่า ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจน อาจเป็นการพิจารณาถึงเรื่องของการประเมินผล (Assessment) และเมื่อมีการประเมินผลแล้ว ก็น่าจะมี Feedback กลับมาว่า ตัวโครงการมีผลต่อพฤติกรรมหรือผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จต่อเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ อย่างไร

ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการประเมินผล อย่างเรื่องของการมาโรงเรียน กสศ. จะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมาเรียนไม่ต่ำกว่า 80% การให้ข้อมูลของทางฝั่งคุณครูจึงสำคัญมาก เพราะจะมีผลต่อการประเมินความสำเร็จของโครงการเราด้วย แต่มันจะมีบริบทที่มากกว่านั้น เช่น ความแตกต่างของนักเรียนชายกับนักเรียนหญิง หรือการมาโรงเรียนของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น”

“สมมติว่าเราให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขไปแล้ว เด็กชั้นประถมอาจจะมาเรียนมากขึ้น แต่อาจไม่ได้ผลกับกลุ่มเด็กมัธยมขนาดนั้น เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง คือเด็กมัธยมอาจจะเริ่มมีทางเลือกในการออกไปทำงานมากกว่า หรือบางครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม เวลาเขาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว ก็อาจเรียกลูกๆ ไปช่วยทำงาน ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องขาดเรียนเพื่อช่วยพ่อแม่”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชญานีจึงสรุปว่า การประเมินจะต้องพิจารณาเรื่องความแตกต่างในแต่ละกลุ่ม และอาจต้องมีการประเมินผลส่วนอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการมาเรียน เช่น ประสิทธิภาพในห้องเรียน หรือการศึกษาต่อ และถ้าในอนาคตมีงบประมาณเพียงพอ อาจสามารถตามเก็บข้อมูลเด็กได้จนถึงช่วงที่เด็กคนนั้นเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อดูว่านโยบายเช่นนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทุนมนุษย์ได้จริงหรือไม่

โจทย์ต่อไป: ทำอย่างไรให้คนเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น? – ธานี ชัยวัฒน์

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เวลาที่เราคิดถึงเรื่องพฤติกรรมและการทดลอง มักจะมีโจทย์ท้าทาย 2 ข้อ ข้อแรกคือ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราทำไปทำไม และข้อที่สองคือ เรามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไหม” ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยคำถามเชิงพฤติกรรมทั่วไปของทุกคน และโยงกลับมายังโจทย์ของ กสศ.ว่า เวลาครัวเรือนยากจนพิเศษส่งลูกเข้าโรงเรียน จะต้องถามตัวเองก่อนว่า ต้นทุนที่แท้จริงที่เขาต้องจ่ายเพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนคืออะไร คุ้มทุนกับเขาไหม และถ้าไม่เอาลูกเข้าโรงเรียน ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) คืออะไร

“ผมเคยทำโครงการเรื่อง Nutrition and Stress on Poverty กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า การได้รับสารอาหารในวัยเด็กจะส่งผลต่อการเติบโตทางสมอง ถือเป็นการลงทุนในระยะยาว และจะส่งผลต่อกระบวนการคิด ซึ่งการคิดจัดเป็นตรรกะ เติบโตขึ้นจากประสบการณ์ ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ”

“เพราะฉะนั้น เมื่อย้อนกลับไปดูครัวเรือนที่ยากจน เราจะเห็นว่าเขาเสียเปรียบตั้งแต่เรื่องสภาพแวดล้อม ความเครียด และสารที่ส่งผลต่อสมองตั้งแต่ตอนยังเด็กแล้ว คำถามคือ เมื่อเขาเข้าสู่ระบบการศึกษา ปลายทางของเขาคือตรงไหน ถ้าเรียนแล้วไม่จบปริญญาตรี คนที่มีฐานะยากจนก็จะกลับมาคิดว่า แล้วเขาจะเรียนไปทำไม มันจำเป็นไหม ในเมื่อปู่ย่าตายายก็จบออกมาทำนา รับจ้างเหมือนเดิม ไม่เรียนก็หาเลี้ยงชีพเหมือนกัน”

ดังนั้น เพื่อจะจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบการศึกษา ธานีจึงเสนอว่า ต้องทำให้เขาเข้าใจผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในระยะยาว ซี่งมีอยู่หลักๆ 2 วิธี ได้แก่ ทำให้เขาคาดหวังถึงอนาคต และมีตัวอย่างคนในชุมชนรุ่นก่อนหน้าเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจให้

“มีหนึ่งคำถามสำคัญคือ ทำไมบางครอบครัวไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน คำตอบแรกคือ ในบางครัวเรือนไทย ลูกถือเป็นแรงงานระยะสั้นที่ช่วยเขาทำงาน หรือถ้าเขาจะมองลูกเป็นการลงทุน ก็มองด้วย sensing of retirement คือคาดหวังให้คอยมาดูแลเขาตอนเกษียณ ลูกเลยถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามาก ถ้าลูกเป็นอะไรไปหรือต้องเข้าโรงพยาบาล เขาจ่ายค่ารักษาหรือรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไม่ไหวแน่ๆ เขาเลยต้องเก็บลูกไว้กับตัว”

“เพราะฉะนั้น เวลาถามพ่อแม่ว่า ทำไมคุณไม่ให้ลูกไปโรงเรียน มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งตอบว่าอยากให้ลูกอยู่ด้วย เพราะลูกจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่รับประกันพวกเขาในอนาคต ดังนั้นเราอาจต้องมองถึงการมีโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน หรือมีการรับประกันความเสี่ยงของครัวเรือนด้วย”

“คำตอบข้อที่สอง รายจ่ายด้านการศึกษาจนลูกเรียนจบไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับระดับรายได้ แต่มีเรื่องเสถียรภาพของรายได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การรับประกันจึงต้องรับประกันทั้งเรื่องระดับรายได้และเสถียรภาพรายได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาคิดว่าส่งลูกเรียนได้แค่ชั่วคราว ก็ไม่อยากส่ง อีกอย่างคือบางครอบครัวถือว่าลูกเป็นความสุขของปู่ย่าตายาย มองว่าปู่ย่าตายายจะเลี้ยงหลานได้ดีกว่า เพราะพ่อแม่ก็ถูกกลุ่มนี้เลี้ยงมาเหมือนกัน ดังนั้น บางครอบครัวเลยให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงไปเรื่อยๆ หรือให้เข้าโรงเรียนให้น้อยที่สุด”

“สุดท้ายเป็นเรื่องของทัศนคติ หลายครัวเรือนมองว่า ไม่รู้จะเรียนไปทำไม ยกเว้นแต่จะมีเงินอุดหนุนให้เรียน แปลว่าเรื่องของทัศนคติ ค่านิยม และการมีโอกาสในชีวิตยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่”

ธานีปิดท้ายว่า โจทย์ต่อไปที่นอกเหนือจากเรื่องทำให้พ่อแม่ตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนแล้ว ยังต้องมองเรื่องการอุดหนุนหรือการที่มีคนในชุมชนเป็นคนช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้วย

ก้าวต่อไปของ กสศ. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา – ไกรยส ภัทราวาท

หลังจากที่รับฟังการอภิปรายและข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. ได้ปิดท้ายว่า ภารกิจของ กสศ. ถือ เป็นการป้องกันความไม่เสมอภาคที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กก่อนวัยเรียนจนไปถึงการศึกษาภาคบังคับ คือตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 คิดเป็นเวลาราว 12 ปี แต่ปัญหาสำคัญคือ งบประมาณที่มีจำกัด ทำให้ต้องมีการหาสมดุลทางการเงินการคลัง และผลกระทบในเรื่องสวัสดิการด้วย

“ตอนนี้ กสศ. เหมือนกำลังวิ่งผลัดอยู่ เรารับไม้ต่อมาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ให้เงินสนับสนุนเด็กมา 3 ปี 6 ปีแล้ว เราก็ต้องพยุงเขาต่อไปจนจบการศึกษาภาคบังคับ แต่ประเด็นคือเรามีทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งเราก็พยายามจะทำให้ดีที่สุดอยู่ แต่เราเองไม่ได้อยากจะทำทั้งหมด แต่อยากสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อส่งไม้ต่อให้หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องได้เข้ามาทำงานร่วมกันด้วย”

ไกรยศยังได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า ในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย บราซิล หรือเม็กซิโก มีการรวบรวมฐานข้อมูลและนโยบายเข้าด้วยกัน จึงสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้เลย

จากข้อเสนอว่านโยบายช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษควรจะเป็นแบบ tailor-made ไกรยสพูดถึงเรื่องนี้ว่า นโยบายแบบนี้จะสามารถเชื่อมกับการตัดสินใจร่วมกันกับครอบครัวของเด็กได้ด้วย เพราะแต่ละครอบครัวมีโจทย์เส้นทางอาชีพและมุมมองต่อการส่งลูกเข้าระบบการศึกษาไม่เหมือนกัน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

“ผมเคยไปที่จังหวัดหนี่ง เจอครอบครัวที่เป็นพวกทำเครื่องเงินหรือแกะสลัก เขาก็บอกว่า พอเอาลูกเข้าโรงเรียนลูกก็แกะสลักไม่เป็นแล้ว อีกอย่างคืองานฝีมือที่เขาทำได้ มูลค่าสูงกว่าทำงานรับเงินเดือน 15,000 บาทอีก”

อย่างไรก็ตาม นโยบายแบบ tailor-made ยังต้องเจอกับความท้าทายอยู่ อย่างแรกคือต้องมีการทำวิจัยเยอะ และยังมีเรื่องการนำบุคลากรการศึกษาให้มาทำงานร่วมกัน คำถามจึงเป็นเรื่องที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนที่เกี่ยวข้องมาร่วมออกแบบการศึกษาของเด็กด้วยกัน

“ถ้าเด็กแต่ละคนมีแผนที่การศึกษาของตัวเอง คุณครูก็จะสามารถเชื่อมโยงแผนการเรียนตามหลักสูตรมาตรฐานของประเทศเข้ากับแต่ละครอบครัวได้ นี่จะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) และเป็นภาพอนาคตที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนด้วย”

ทั้งนี้ ไกรยสกล่าวว่า ตอนนี้ทาง กสศ. เริ่มจับประเด็นเรื่อง growth mindset ดูเรื่องความตั้งใจของเด็กว่า เมื่อเด็กได้ทุนเสมอภาคแล้วจะอยากศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไหม และถ้าเด็กปรับทัศนคติของตนเองแล้ว ครอบครัวจะเห็นด้วยหรือไม่

“เราจะทำยังไงให้ทั้งครอบครัวและเด็กยอมรับเรื่องนี้ด้วยกัน และถ้าเกิดรัฐรู้วิธีปรับเปลี่ยนกระบวนการ ก็อาจลงทุนน้อยลงอีกเยอะ เงินอุดหนุนอาจจะถูกนำไปจัดการกับกระบวนภายในมากกว่าภายนอก เช่น นำไปเพิ่มเป็นค่าเดินทางหรือค่าอาหาร”

“ถ้าอยากจะให้สิ่งเหล่านี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น เราต้องเข้าใจกระบวนการภายในของการคิดเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ทั้งกับเด็ก ครอบครัว และคุณครู ซึ่งเราต้องอาศัยงานวิจัยในการช่วยเรื่องพวกนี้ นี่จึงเป็นโจทย์ที่ กสศ. อยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกัน” ไกรยสปิดท้าย

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world