Phenomenon Based Learning: กินดีอยู่ดีและมีความสุข หลักสูตรการเรียนรู้ฉบับฟินแลนด์

Phenomenon Based Learning: กินดีอยู่ดีและมีความสุข หลักสูตรการเรียนรู้ฉบับฟินแลนด์

เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

 

สำหรับฟินแลนด์ การศึกษาคือกุญแจสำคัญสู่ความสุขและการกินดีอยู่ดีของประชากร ด้วยนโยบายนี้ทำให้ประเทศที่บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผงาดขึ้นมาเป็นแนวหน้าในด้านการศึกษา ภายใต้ 6 ปรัชญาสำคัญคือ 

  1. ไม่แข่งขัน ไม่เปรียบเทียบ
  2. ไม่ตัดสิน
  3. ไม่มีการทดสอบ/สอบ
  4. ทุกโรงเรียนดีที่สุด (โรงเรียนที่ดีที่สุด คือโรงเรียนใกล้บ้าน) 
  5. การเรียนรู้ผ่านการเล่น เน้นลงมือทำ
  6. ไม่มีการบ้าน 

“ด้วยความที่ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนรัฐบาล (public school) ถึงเราจะมีเงินแค่ไหนก็ส่งลูกเรียนไม่ได้ ถ้าไม่ได้จ่ายภาษีหรือไม่ได้เป็นคนฟินแลนด์” ด้วยเหตุผลนี้ ประกอบกับอยากให้ลูกตัวเองและลูกคนอื่นได้เรียนหลักสูตรแบบนี้บ้าง ‘อาจารย์เกด’ ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม จึงลงทุนไปเทรนครูกับ Arkki สถาบันการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟินแลนด์ 

“เพราะอยากรู้ว่ามันดียังไง ถ้าดีจริงก็อยากนำมาใช้ที่เมืองไทยบ้าง” อาจารย์เกดจึงกลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย มาจนถึงปัจจุบัน 

Arkki คืออะไร

arkki ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษ คือ architect แต่ฟินแลนด์ใช้เรียกแทนชื่อกลุ่มวิชาที่สอนให้เด็กรู้จักการ design 

“arkki คือ design school สำหรับเด็ก ไม่ได้สอนให้เด็กๆ design แต่สอนเพื่อให้เด็กมีทักษะศตวรรษที่ 21 ผ่านการ design” 

เพราะการดีไซน์เป็นการรวมทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน อาจารย์เกดจึงอธิบายต่อว่า จะเน้นย้ำเป็นพิเศษโดยเฉพาะ 5 ทักษะสำคัญ ได้แก่ creativity, collaboration, critical thinking, communication และ computational thinking 

“ทักษะเหล่านี้เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้สมองสองข้างพร้อมกัน แต่เวลาเราเรียนในโรงเรียน เราเรียนแยกวิชาตลอด จึงใช้สมองแค่ข้างเดียว ถึงแม้ว่าเราจะใช้การเรียนการสอนแบบ STEM คือ Science, Technology, Engineering และ Mathematics แต่ก็อยู่ในฝั่ง logic ไม่ได้ใช้สมองอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นฝั่งศิลปะ ฟินแลนด์บอกว่าต้องเปลี่ยนเป็น STEAM เพิ่ม A คือ Arts เข้าไป ทำให้ได้ใช้สมองทั้งสองข้าง”

ทั้งหมดนี้อยู่ใต้หลักสูตรร่มใหญ่ที่ชื่อ Phenomenon Based Learning (PhBL) หรือ การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของฟินแลนด์ใช้มา 25 ปีแล้ว แต่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2016 

“คือการเรียนรู้ที่เอาประสบการณ์มาเชื่อมโยงกับความจริงและวิชาต่างๆ” เป็นคำจำกัดความสั้นๆ ของ PhBL ที่เป็นการเรียนแบบเชิงรุก หรือ active learning โดยลักษณะเฉพาะตัวของ PhBL คือ

  • เพราะสถานการณ์จริง กระตุ้นการเรียนรู้ได้ดีกว่ารายวิชาดั้งเดิมในห้องเรียน
  • เปลี่ยนจากการเรียนรู้ด้วยการรับความรู้ มาเป็นการเรียนรู้ด้วยการสร้างความรู้ 
  • ในห้องเรียน ครูจะไม่ตอบคำถาม เพราะเด็กจะไม่คิด แต่จะหาคำตอบไปด้วยกัน แล้วเด็กจะสร้างความรู้เอง 

“ในฟินแลนด์รายวิชาเดิมยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนวิธีให้เด็กๆ เรียนรู้สถานการณ์จริงในมุมมองของตัวเอง เพื่อให้เด็กเห็นโลกจริงที่ซับซ้อน และหาทางแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง” 

ในหลักสูตร PhBL จะสอนเรื่องความสัมพันธ์ภายในของแต่ละสิ่ง ช่วยผู้เรียนให้เข้าใจในความเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อให้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมสิ่งนั้นและสิ่งนี้จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่นเดียวกับคำอธิบายว่าทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญ 

ทั้งนี้ PhBL มี 5 มิติด้วยกัน 

  1. Holisticity – มีความครอบคลุม
  2. Authenticity – ผ่านการคัดกรองและแยกแยะความจริง
  3. Contextuality – ความเข้าใจในบริบท 
  4. Problem-based Inquiry – ความสามารถในการถามคำถาม
  5. Open-ended Learning Process – เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ 

ผ่าน 5 ขั้นตอนของการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์

  1. ตั้งคำถาม (Questioning) จากมุมมองอันแตกต่างหลากหลาย
  2. สืบค้น (Research) ให้ได้ข้อมูลและความเชื่อมโยงในสิ่งที่ตนสงสัย ยุคนี้การสืบค้นจาก search engine หากคัดกรองดีๆ จะได้ข้อมูลใหม่ๆ มากมาย
  3. ศึกษา (Investigation) จากการทดลอง ประมวลผลจากคำตอบที่เป็นไปได้ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์นั้นๆ
  4. ทดสอบ (Testing) ครูแนะนำนักเรียนให้เรียนรู้แนวคิดและทักษะที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหา
  5. อธิบาย (Explanation) ผู้เรียนให้คำอธิบาย ทางออก หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์

ท้ายที่สุด 3 สิ่งนี้เด็กๆ จะได้จาก PhBL 

  • PhBL จะเกี่ยวข้องทั้ง Problem-based Learning และ Inquiry-based Learning ดังนั้นเด็กๆ จะสามารถค้นหาคำตอบเองได้อย่างสร้างสรรค์
  • ผู้เรียนจะสนใจในเรื่องนั้นๆ และเรียนรู้ได้เร็วมากขึ้น เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตจริง
  • PhBL เป็นความรู้ใหม่ตลอดเวลา เพราะการค้นหาของผู้เรียนคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ 

 

หลักสูตรที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำได้ไหม

คำถามสำคัญคือ การเรียนที่เน้นทักษะศตวรรษที่ 21 ตั้งต้นที่ประสบการณ์และเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ถ้านำมาใช้ในประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทย จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ 

“หัวใจสำคัญของการศึกษาที่เน้นให้คนมีความสุขและกินดีอยู่ดี ก็แสดงว่าความเหลื่อมล้ำมันน้อยระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันมีหลายบริบทที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น ฟินแลนด์มีการกำหนดฐานภาษี ถ้าจบปริญญาตรีฐานภาษี 30 เปอร์เซ็นต์เลย เยอะมาก คนก็จะไม่รวยเยอะเกินเหมือนประเทศไทย ถ้ารวยขนาดนี้คนฟินแลนด์เสียภาษีกันเกินครึ่ง 

“เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ถ้ารวยขนาดนี้ไม่ทำงานกันแล้ว บริษัทฟินแลนด์ก็ไม่มีทางรวยติดสปีดเหมือนเฟซบุ๊ค ทุกคนจะมีสุขทุกข์ใกล้เคียงกัน work life balance มาทันที ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่ไกลกัน”

อาจารย์เกดอธิบายต่อว่า ที่ฟินแลนด์ต่อให้การศึกษาดี ครูเก่งแค่ไหน ถ้าเด็กไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีข้าวกิน เด็กก็เรียนไม่รู้เรื่อง

“รัฐจึงเข้าไปแก้ปัญหาปัจจัยสี่ก่อน พร้อมกับทำหลักสูตรให้ดีด้วย แต่ประเทศไทยยังทำไม่ได้ ถ้าปากท้องไม่ตอบโจทย์ จะเรียนยังไง มันต้องไม่ขาดก่อน เด็กถึงจะพร้อมเรียน” 

Phenomenon Based Learning จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร

อาจารย์เกดตอบว่า มี 2 ส่วน

ส่วนแรก ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก Phenomenon Based Learning คือการที่ครูให้เด็กทำตามความสนใจภายใต้กรอบที่ยอมรับได้ 

“ในโรงเรียนไทย ถ้าครูเข้าใจ empathize เด็ก ครูจะได้รับการยอมรับจากเด็กมากขึ้น” 

สอง เมื่อเด็กยอมรับ ครูสามารถตีกรอบให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ควรเรียนรู้ แต่ตอนนี้อาจารย์เกดชี้ว่า ปัญหาเกิดจากครูไม่เข้าใจเด็ก เด็กต่อต้านครู ไม่ฟัง บางเรื่องเด็กอาจยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอจะกรองข่าวสาร แม้แต่ผู้ใหญ่เองยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ ยังแชร์ fake news กันบ่อยๆ

“กลับไปที่จุดเริ่มต้นก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงผลลัพธ์ แค่จุดเริ่มต้นก็ทำให้คนเข้าใจกันแล้ว อย่างน้อยถามเด็กหน่อยว่า เด็กอยากเรียนหรือเปล่า เพราะครูจะชินกับการตั้งต้นที่ตัวเองก่อน แล้วเด็กก็จะผิดถ้าไม่ยอมทำ”

ในความเห็นของอาจารย์เกด ปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือ ขาดความเข้าอกเข้าใจ และการรับฟังอย่างตั้งใจของผู้ใหญ่ ไม่ว่าคุณครูหรือพ่อแม่

“คนรุ่นก่อนไม่เคยฝึก ต้องยอมรับว่าเบบี้บูมเมอร์คุ้นเคยกับการสั่งแล้วมีคนทำ เพราะเขาประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้ และคิดว่าสูตรลับมันใช้ได้กับปัจจุบัน พอถึงรุ่นเรา (Gen X Gen Y ต้นๆ) ก็ฟังเขามาตลอด 

“แต่ถ้าเด็กโตมากับ Phenomenon Based Learning สิ่งที่เขาจะมีคือ critical thinking จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม เวลาเขาทำอะไร จะคิดวิเคราะห์แยกแยะได้ก่อน” อาจารย์เกดสรุป