พิทักษ์ หังสาจะระ : ต้นกล้าจากอาชีวะ สู่นักจัดดอกไม้ระดับโลก
โดย : ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

พิทักษ์ หังสาจะระ : ต้นกล้าจากอาชีวะ สู่นักจัดดอกไม้ระดับโลก

จะปลูกดอกไม้ให้งาม ทั้งดินทั้งน้ำต้องอุดมสมบูรณ์ดี

เช่นเดียวกับการที่คนเราจะเติบโตเบ่งบาน ประสบความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพ ย่อมต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญอย่างการศึกษาที่มีคุณภาพและพื้นที่แสดงศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งในสายตาของ พิทักษ์ หังสาจะระ นักจัดดอกไม้ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย การเรียนอาชีวะมอบให้เขาทั้งสองอย่าง

แตกต่างไปจากการเรียนสายสามัญ — หลักสูตรสายอาชีพถูกออกแบบมาเพื่อสอนทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง เน้นการเรียนรู้ผ่านการรังสรรค์ชิ้นงาน และเติมเต็มประสบการณ์จริงในสถานประกอบการ แม้มองผ่านๆ เราอาจคุ้นเคยกับภาพช่างกล เครื่องยนต์ และช่างเทคนิคในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริง อาชีวะยังมีแง่มุมด้านสุนทรียศาสตร์ มีทางเลือกให้คนรักศิลปะได้ฝึกปรือฝีมือและความคิดสร้างสรรค์มากมายไม่แพ้กัน

ถึงกระนั้นเราต่างรู้ดีว่าการเป็น ‘เด็กศิลป์’ ในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นเด็กศิลป์สายอาชีวะยิ่งท้าทาย หลายคนต้องเผชิญกับคำถามและความกังขา ตั้งแต่เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร เรียนจบแล้วเป็นได้แค่ลูกจ้างหรือไม่ แล้วตัวตนในฐานะศิลปินล่ะ จะไปได้ไกลสักแค่ไหน ฯลฯ

ตัวตนของพิทักษ์ คือหนึ่งในเครื่องพิสูจน์ว่าเด็กศิลป์สายอาชีวะมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากเด็กเรียนสายอื่นๆ เขากลายเป็นนักจัดดอกไม้มีชื่อระดับโลก เจ้าของร้านและสตูดิโอสอนจัดดอกไม้ Flower Decor คร่ำหวอดในวงการมากว่า 30 ปี ปัจจุบันนี้ยังคงมีงานจ้างวานจัดดอกไม้แก่ห้างร้านและแบรนด์ดังอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ พิทักษ์บอกกับ 101 ว่าเขาเริ่มต้นเลือกเรียนอาชีวะด้วยเหตุผลเดียว

คือมันเป็นการเรียนที่ตอบโจทย์สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดในระบบการศึกษาไทย


คุณเริ่มต้นมาเรียนอาชีวะ เรียนการจัดดอกไม้ได้อย่างไร

หลังเรียน ม.ต้นสายสามัญจบ เรามาเรียนต่อ ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ซึ่งสมัยก่อน เด็กจบ ม.ต้นหลายคนยังไม่รู้ตัวเองหรอกว่าชอบอะไร หลายคนยังสนุกอยู่กับเพื่อนๆ ถ้าเพื่อนเลือกเรียนอะไรก็เฮกันไปทางนั้น แต่เรารู้ตัวเองมานานแล้วว่ามีความสุข สนุกเวลาเรียนวิชางานฝีมือ งานศิลปะ เวลาทำงานแล้วได้รับคำชื่นชมจากครูบาอาจารย์แล้วรู้สึกมีพลัง มีกำลังใจ เลยคิดว่าเราน่าจะลองเรียนสายอาชีวะ ก็ไปดูว่ามีแผนกไหนให้เลือกบ้าง เผอิญไปเจอแผนกคหกรรมศาสตร์ที่สอนทั้งงานดอกไม้ งานเย็บปักถักร้อย เสื้อผ้าและอาหาร จึงไปลองเรียนดู

ตอนเรียน ปวช. ครูบาอาจารย์ท่านชื่นชมเรามาก บอกว่าพิทักษ์ทำงานดอกไม้ได้ดี ทำได้สวย ได้คะแนนค่อนข้างโดดเด่น เราก็ยิ่งมีกำลังใจเรียนต่อระดับ ปวส. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ พอมาเรียนกรุงเทพฯ ได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น ได้ไปดูงานดอกไม้ตามที่ต่างๆ อย่างสมัยก่อนมีงานดอกไม้ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศทุกปี เราได้เห็นดาราเซเลป ดีไซน์เนอร์จัดดอกไม้โชว์กันแบบแปลกใหม่ เห็นงานพี่แพน เผ่าทอง ทองเจือ นำผ้าไทยมาจัดผสมกับดอกไม้ เรายิ่งรู้สึกว่างานดอกไม้ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มันไปได้ไกลกว่าที่เราคิดเยอะ ยิ่งเรียน ยิ่งเห็นก็ยิ่งเกิดความประทับใจ


พอเล่าได้ไหมว่าการเรียนจัดดอกไม้ของอาชีวะ เรียนกันแบบไหน

แผนกที่เราเรียนคือคหกรรมศาสตร์ สมัยก่อนจะมีสามวิชาเอกให้เลือก คือ เอกทำอาหาร เอกเสื้อผ้า และเอกศิลปะทั่วไป เราเลือกเอกศิลปะทั่วไป เพราะจะได้เรียนทั้งการทำอาหาร เย็บปักถักร้อยเสื้อผ้า งานใบตอง งานดอกไม้สด ดอกไม้ประดิษฐ์ ค่อนข้างครบ งานดอกไม้ก็มีตั้งแต่ร้อยมาลัย เย็บแบบ ทำพานพุ่ม กระทง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับดอกไม้สด ส่วนดอกไม้ประดิษฐ์จะเป็นการนำดอกไม้สดมาแกะแบบ ประดิษฐ์ดอกไม้ด้วยผ้า แล้วรีด สมัยก่อนใช้เครื่องรีดมือ รีดแล้วมาเข้าช่อให้เหมือนจริงที่สุด จากนั้นค่อยนำมาจัด   

ในระดับ ปวส. ยังคงแบ่งเอกเหมือนเดิม เราเรียนศิลปะทั่วไปเหมือนเดิม เพียงแต่สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนดอกไม้เยอะหน่อย มีงานเสื้อผ้าน้อยหน่อย อาหารน้อยหน่อย  

สมัยก่อนเขาสอนงานดอกไม้แบบจัดทรงสามเหลี่ยม ทรงกลม ทรงพุ่ม ไม่ได้หลากหลายเท่าปัจจุบัน และไม่สะดวกเท่าตอนนี้ เพราะเมื่อหลายสิบปีที่แล้วไม่มีโอเอซิสหรือฟลอรัลโฟมไว้จัดดอกไม้อะไรเลย ต้องใช้ถุงน้ำ ประดิษฐ์จากไม้ลูกชิ้นต่อสำลี ใส่ถุงมัดหนังยางแล้วปักดอกไม้ หรือใช้ฟาง ใช้ผักตบชวา ลำบากลำบนพอสมควร แต่ด้านหนึ่งมันก็สนุกและท้าทายดี อย่างตอนเรียนเทคนิคสมุทรปราการ จะใช้ดอกไม้มาทำงานสักที นักเรียนต้องนั่งรถเมล์ไปซื้อดอกไม้ถึงปากคลองตลาดซึ่งมันก็ลำบาก เราเลยอาศัยตัดดอกไม้ เก็บกิ่งไม้แห้งตามแถววิทยาลัย แถวชายทะเลมาจัด ปรากฏว่าคนที่ใช้ดอกไม้นอกได้คะแนนน้อยกว่าเราที่ใช้ของท้องถิ่นเสียอีก


เคยมีตัวเลือกอื่นในใจไหมว่าถ้าไม่เรียนจัดดอกไม้ เป็นนักจัดดอกไม้ อยากเรียนหรืออยากเป็นอะไร

จริงๆ เราชอบเรียนทำผมมาก เท้าความสักหน่อยว่าครอบครัวมีคุณพ่อทำนา คุณแม่เป็นแม่บ้าน เวลาว่างๆ ท่านจะไปเรียนทำผมกับป้าเจ้าของร้านตัดผมข้างบ้าน ซึ่งตอนเด็กๆ ท่านไม่มีลูกมือ เลยเรียกให้เราไปเป็นลูกมือช่วยหิ้วตะกร้าไปทำผม ดัดผมตามบ้าน เราเห็นก็รู้สึกว่ามันน่าสนุกดีและสวย พอเรียน ปวช. เลยบอกแม่ว่าเราอยากเรียนทำผมช่วงว่างๆ หลังเลิกเรียนหรือเสาร์อาทิตย์ แม่ก็พาไปสมัครโรงเรียนสอนทำผม ทำให้เราได้เรียนหนังสือไปด้วย เรียนทำผมไปด้วย บางครั้งก็รับงานทำผมระหว่างเรียน

พอเรียนจบ ปวช. คุณแม่ก็เปิดร้านทำผมให้ เราเลยรับงานแต่งหน้าเพิ่มขึ้นมา เช่น แต่งหน้าเจ้าสาว แต่งหน้ารับปริญญา แต่งหน้านางแบบแฟชั่นไปถ่ายแมกกาซีน ช่วงชีวิตส่วนใหญ่จึงยุ่งกับการเรียนและการทำงาน ตอนเรียน ปวส. เรารับงานเยอะมาก มือหนึ่งต้องหิ้วกระเป๋าทำผม อีกมือถือกระเป๋าอุปกรณ์แต่งหน้า หนังสือเรียนใส่เป้สะพายหลัง แต่งหน้าเจ้าสาวตั้งแต่ตีสองยันตีห้า จากนั้นไปนั่งหลับที่วิทยาลัยเพื่อตื่นมาเรียนภาคบ่าย ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย รู้สึกสนุก มีความสุข เพราะเราชอบแฟชั่น ได้เจอคนใหม่ๆ งานใหม่ๆ ได้ทำอะไรที่ไม่เคย มันชวนให้ตื่นเต้นตลอดเวลา

อันที่จริงอาชีพทำผมได้เงินเยอะนะ ตอนนั้นยังไม่รู้เหมือนกันว่าสักวันตัวเองจะกลายมาเป็นนักจัดดอกไม้ บางทีก็เป็นเรื่องของพรหมลิขิตที่ทำให้เราเดินมาทางนี้ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ลืมวิชาทำผมนะ ที่ทำงานยังมีห้องทำผมอยู่เลย 


ประสบการณ์การที่ต้องเรียนและทำงานไปด้วย มอบอะไรให้แก่คุณบ้าง

เราชอบทั้งสองอย่าง ทั้งการจัดดอกไม้และทำผม และเราคิดว่ามันเป็นงานศิลปะสายเดียวกัน สามารถนำมาเชื่อมโยงเข้าหากันได้ด้วยซ้ำไป ตอนนี้นอกจากเราจะทำงานจัดดอกไม้ เปิดโรงเรียนสอนจัดดอกไม้ เรายังมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นโชว์บ่อยๆ ใช้ดอกไม้มาทำแฟชั่นโชว์ ทักษะแต่งหน้าทำผม เรื่องเสื้อผ้า อะไรต่างๆ ที่เรียนคหกรรมมาได้ใช้หมดเลยในธุรกิจของเรา และการประยุกต์ความรู้ต่างๆ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราโดดเด่นขึ้นมา ไม่เหมือนใคร


ตอนที่คุณเลือกเรียนต่อสายอาชีวะ ทางบ้านคิดเห็นอย่างไร สนับสนุนไหม

อันที่จริงทางบ้านไม่ได้เห็นด้วยที่เราจะเรียนอาชีวะ แม้เขาไม่ได้รู้สึกว่าอาชีวะกับสายสามัญแตกต่างกันมาก แต่เขาอยากให้ลูกเรียนแล้วมีงานที่มั่นคง เรียนอะไรก็ได้ที่มีงานทำ อยากให้เรารับราชการ เพราะคนสมัยก่อนมักคิดว่าทำงานราชการมีบำเหน็จบำนาญและอยู่สบาย ดังนั้นเลยไม่ได้สนับสนุนให้เราเรียนอาชีวะสายศิลปะเท่าไหร่ คุณแม่อาจจะแล้วแต่เรา เพราะท่านค่อนข้างตามใจ หัวสมัยใหม่หน่อยๆ ชอบงานศิลปะ แต่คุณพ่อไม่ค่อยสนับสนุน ซึ่งเราก็เข้าใจพ่อแม่นะ แต่เราก็บอกว่าขอลองเรียนดูก่อนว่าจะเป็นยังไง รับรองว่าจะตั้งใจเรียน เขาก็อนุญาต

สมัย ปวช. ยังเคยโกหกคุณพ่อด้วยซ้ำว่าไปเรียนคหกรรมศาสตร์ เรียนทำอาหารเพื่อเป็นกุ๊กโรงแรม ฟังดูหรูหราน่าเชื่อถือ ไม่บอกว่าไปเรียนเอกศิลปะเพราะพ่อไม่ชอบเด็กศิลป์ เมื่อก่อนเด็กศิลป์เขามักแต่งตัวเสื้อผ้ายับๆ คนหาว่าเหมือนกุ๊ยเพราะเสื้อผ้าดูไม่เรียบร้อย แต่จริงๆ เราชอบสไตล์แบบนั้นมากเลย มีเพื่อนหลายคนที่เป็นแบบนั้น

พอถึง ปวส. ก็ไปเรียนโดยที่คุณพ่อไม่รู้เหมือนกันว่าเรียนอะไรเพราะท่านทำงานหนัก และเราก็ไม่ใช่คนเกเร ทำงานและเรียนอย่างเดียว ชีวิตวนเวียนแค่เปิดร้านทำผมกับเรียนหนังสือ มีไปทำกิจกรรมประกวดบ้าง ทำกระทง จัดดอกไม้ วิทยาลัยส่งไปแข่งขันที่ไหนก็ไป ไม่เคยรู้จนเราเรียนจบมาบวช


พอได้มาเรียนอาชีวะสมความตั้งใจ อะไรคือสิ่งที่คุณชอบหรือมองว่าเป็นข้อดีของการเรียนสายอาชีพ

เราว่ามันให้อิสระด้านความคิด ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบมาก ตอนเราเรียน อาจารย์ให้อิสระในการออกแบบผลงาน ออกไอเดียว่าจะทำงานหนึ่งชิ้นให้สำเร็จได้ยังไง พิทักษ์ เธอลองออกแบบมาสิ ถ้าเธอจะทำกระกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดี เธอจะออกแบบเป็นทรงไหน ใช้ดอกอะไร สีอะไร แล้วเธอรู้สึกยังไงกับงาน การที่เราได้ทำงานที่แสดงออกถึงความคิดของเรา ได้ใช้มุมมอง ใส่ไอเดียลงไปอย่างเต็มที่ ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้ปล่อยเราอิสระไปทุกเรื่องนะ กฎระเบียบก็ยังมีอยู่ สมัยเรียน ปวส. เราโดนครูเรียกไปยืนหน้าห้องทุกอาทิตย์ เรื่องผมผิดระเบียบ หน้าผิดระเบียบ เล็บ เสื้อ กางเกง เข็มขัด รองเท้า ผิดระเบียบหมดเลย


เรียกได้ว่าการเรียนสายอาชีวะก็ยังเจอข้อจำกัดเรื่องการแต่งกายเหมือนสายสามัญ

เราเป็นช่างทำผมแต่งหน้า สมัย ปวส. ก็เริ่มแต่งให้ดารานางแบบลงแมกกาซีนแล้ว คิดดูสิว่าช่างควรจะแต่งตัวแบบไหนล่ะ เงินที่ได้จากการแต่งหน้าทำผมหน้าละ 1,500 บาท 30 ปีที่แล้วถือว่าไม่น้อย เดือนหนึ่งแต่งหลายหน้า เราก็มีเงินมากพอจะจ่ายค่าเทอม เลี้ยงข้าวเพื่อน เหลือมาจ่ายค่าแต่งตัวของตัวเองได้ไม่เดือดร้อนใคร เราก็ทำผมทรงสิเรียมดัดหยิกทั้งหัว เขียนคิ้วใหญ่ๆ แบบสินจัย หงษ์ไทย ในเรื่อง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ ปากสีส้ม ขนตาสีฟ้า สวมเสื้อลินินกับสร้อยข้อมือเงินแท้ข้างละหลายๆ เส้น แล้วก็ทาเล็บสีดำ แต่งไปโรงเรียนแบบนั้นคนเดียวเพราะเราอินแฟชั่นมาก ไม่รู้หรอกนะว่าตัวเองประหลาดหรือไม่ประหลาด รู้แต่ว่าเรามีความสุข แล้วครูก็จะเรียกไปด่า (หัวเราะ)

แต่ทุกวันนี้เราซี้กับอาจารย์ท่านนั้นแล้วนะ เพราะเราไปเป็นวิทยากรให้กิจกรรมอบรมครูอาชีวะทั่วประเทศที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แทบทุกปี มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์ที่คอยดุเราสมัยเรียนมาอบรม กลายเป็นลูกศิษย์เราอีกที อาจารย์ท่านเดินมาถาม พิทักษ์ จำครูได้ไหม เราก็แบบ…แหม ทำไมจะจำไม่ได้ (หัวเราะ) เห็นอาจารย์มาอบรมเราก็ดีใจ เพราะเราตั้งใจอยากให้ครูอาชีวะได้พัฒนาฝีมือ ไม่อยู่กับที่ งานจัดดอกไม้เป็นงานศิลปะที่พัฒนาอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราไม่พัฒนาครูก่อน แล้วเด็กจะพัฒนาได้ยังไง เราดีใจที่ได้นำประสบการณ์ความรู้จากการทำงานมาสอนครูอาชีวะ


ทราบมาว่าหลักสูตรของอาชีวะมีการจัดให้นักเรียนได้ออกไปฝึกงานที่สถานประกอบการ สำหรับสายงานจัดดอกไม้ คุณได้ไปฝึกงานที่ไหน อย่างไรบ้าง

ตอนนั้นเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เลือกไปฝึกงานร้านอาหาร ร้านดอกไม้ ส่วนเราเลือกฝึกงานที่โรงแรมแมนดารินสามย่าน เพราะเดินทางจากบ้านได้สะดวก ตอนแรกกลัวมากเพราะคนขู่ไว้เยอะว่าเรียนคหกรรม ระวังนะเขาจะส่งไปขัดบันไดทองเหลืองทั้งวันจนมือดำเมี่ยม ปูเตียงโยนเหรียญบาทให้มันเด้ง เราก็ไม่อยากทำ อยากจัดดอกไม้ พอเอาเอกสารฝึกงานไปยื่นกับทางโรงแรมและสัมภาษณ์เลยบอกเขาว่าเราอยากทำงานห้องจัดดอกไม้ ไม่อยากปูเตียง ไม่อยากขัดบันได (หัวเราะ) บอกเขาตรงๆ แบบนี้เลย เขาถามกลับว่าทำไมเราถึงมั่นใจว่าจะจัดดอกไม้ได้ คิดเหรอว่าโรงแรมจะให้จัด เราก็บอกว่าผมไม่ได้มั่นใจ แต่ผมพร้อมจะเรียนรู้ เพราะผมชอบดอกไม้มาก พอมีประสบการณ์ระดับหนึ่งแต่อาจจะไม่ถูกใจพี่ๆ ดังนั้นให้ผมทำอะไรในห้องจัดดอกไม้ไปก่อนก็ได้ เก็บกวาดเช็ดถู ส่งของ ทำได้หมดเลย แล้วถ้าวันไหนพี่มองว่าผมพร้อมทำงานจัดดอกไม้แล้วผมก็จะทำให้เต็มที่

สุดท้าย ฝึกงานไปสักพักก็ได้จัดดอกไม้จริงๆ ตอนแรกได้จัดดอกไม้ให้ห้องพักแขก ห้องจัดเลี้ยง วันหนึ่งมีพี่บอกให้ไปจัดดอกไม้ห้องล็อบบี้ เราแทบไม่เชื่อหูตัวเอง แรกๆ จัดกับพี่ๆ หลังๆ เขาปล่อยให้เราจัดคนเดียว ถือเป็นความภาคภูมิใจของเราตอนนั้นที่ได้จัดดอกไม้กลางล็อบบี้โรงแรมใหญ่ๆ 


ฟังดูแล้ว อาชีพนักจัดดอกไม้เป็นอาชีพที่ทำงานได้หลายแห่งนอกเหนือไปจากในร้านดอกไม้อย่างที่เราเข้าใจ

ปัจจุบันอาชีพนักจัดดอกไม้สามารถทำได้ทั้งงานโรงแรม wedding organizer wedding planner เปิดร้านเป็นของตัวเอง หรือเป็นช่างฟรีแลนซ์ก็ยังได้ ฟรีแลนซ์นี่ค่าแรงกะละ 2,000-2,500 บาท เข้ากะครั้งละ 8 ชั่วโมง หลายร้านเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำให้เสร็จสรรพ ถ้าอยู่เลยกะก็บวกเงินขึ้นไปอีก บางคนมีงานติดกัน เดือนหนึ่ง 20-30 งาน คูณเงินเข้าไปก็ได้หลายหมื่นอยู่ ช่วงโควิด-19 อาจจะมีงานให้ช่างดอกไม้น้อยลงไปบ้าง แต่ในช่วงก่อนโควิด-19 เราเห็นเลยว่าตลาดแย่งตัวช่างดอกไม้กันมากพอสมควร


หลังเรียนจบอาชีวะ เส้นทางชีวิตของคุณในฐานะนักจัดดอกไม้เป็นอย่างไร

หลังเรียน 2 ปีในระดับ ปวส. จบก็มาบวชให้คุณพ่อคุณแม่ก่อน ตอนใกล้สึกเราเห็นว่าบริษัทคลาสสิกฮาน่า ซึ่งเป็นบริษัททำงานจัดดอกไม้โดยตรงของญี่ปุ่นเปิดรับสมัครพนักงาน เราวางแผนจะสึกมาสมัครทำงาน แต่เจ้าอาวาสไม่ยอม เพราะตอนเราอยู่วัดช่วยงานจัดดอกไม้ให้วัดหลายงาน สุดท้ายพอไปคุยกับพระด้วยกัน พระรูปอื่นเลยรวมตัวกันไปคุยกับเจ้าอาวาสว่าถ้าไม่ยอมให้เราสึก จะสึกพร้อมกันทั้งหมด ท่านเลยต้องยอม

พอเราสึกออกมา ปรากฏว่าบริษัทกลับปิดรับสมัครไป เราไม่รู้จะทำยังไงเพราะผิดแผนไปหมด สุดท้ายไปบอกเขาว่าให้เราทำตำแหน่งอะไรก็ได้ เขาเลยรับเราเป็นพนักงานดูแลสต็อก คอยทำงานจิปาถะ แต่ถึงจะทำสากกะเบือยันเรือรบ เราก็ยังสนุกนะ (หัวเราะ) มีความสุขตลอดเวลาที่ได้อยู่ในห้องดอกไม้

เผอิญบริษัทนี้เปิดสาขาอยู่ตามห้าง วันหนึ่งพนักงานห้างขาด เราจึงได้ไปขายชั่วคราว เดือนแรกทำให้ยอดเขาเพิ่มขึ้น เดือนสอง เดือนสามยอดก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เราเลยได้เป็นช่างดอกไม้สมใจ ไม่ต้องอยู่ดูแลสต็อกแล้ว ทั้งหมดใช้เวลาครึ่งปีกว่า ถัดมาไม่ถึงปีเราได้ขึ้นเป็นหัวหน้าช่าง คอยตรวจร้านสาขาต่างๆ สอนจัดดอกไม้ แต่ทำได้ปีกว่าเราก็ออก เพราะต้องการมาสมัครเป็นครูในโรงเรียนสอนจัดดอกไม้แห่งแรกของประเทศไทยที่เพิ่งก่อตั้ง อีกอย่างคนที่อยู่ในบริษัทมาก่อนเรายังไม่ได้ตำแหน่งหัวหน้า เราอยู่ไปก็ลำบากใจ เลยเลือกออกไปหาประสบการณ์ใหม่ดีกว่า

พอมาเซ็นสัญญากับบริษัทแห่งใหม่ เขาก็ส่งให้เราไปเรียนที่สถาบันมานาโกะ ฟลาวเวอร์ อคาเดมี ไปเรียนจัดดอกไม้เป็นเรื่องเป็นราวก่อนจะมาเป็นครู เรียนจบเราก็สอนอยู่ที่นั่นราว 5 ปี ระหว่างนั้นได้ทำผลงานต่างๆ เช่น เป็นตัวแทนประเทศไทยไปโชว์จัดดอกไม้ในการประชุมสภาดอกไม้โลกที่ฮ่องกง ทำช่อดอกไม้ให้นางงามจักรวาลในการจัดงานประกวดครั้งแรกที่ประเทศไทย ประกวดดอกไม้ชิงถ้วยสมเด็จพระเทพฯ ทำแฟชั่นโชว์ที่ศูนย์สิริกิติ์ ควบคู่กันไปกับการทำงานสอน


แล้วอะไรทำให้คุณตัดสินใจออกมาตั้งสถาบัน Flower Decor ของตัวเอง

เราไม่เคยคิดจะออกเลย แต่ก็เหมือนบริษัทหลายแห่งที่มีปัญหาเรื่องบุคลากร สุดท้ายจึงเลือกมาเปิดร้านของตัวเอง หลังจากคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว ช่วงนั้นมีคนเตือนเยอะพอสมควรเรื่องทำธุรกิจ แต่เราก็สู้ คิดว่าอยากลองทำดู เราเริ่มเปิดร้านกับหุ้นส่วนก่อน ทำมาได้ปีกว่า ค่อยมีความคิดเปลี่ยนมาทำร้านเพียงคนเดียวแถวสุขุมวิท 53 ซึ่งเรายอมรับว่าสำหรับคนไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราเกือบฆ่าตัวตายสองรอบมาแล้ว เพราะเจอภาวะฟองสบู่แตก เศรษฐกิจไม่ดี และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในร้านเยอะมาก เสียค่าเช่าร้านเดือนละ 35,000 บาท ถือว่าแพงมากในสมัยก่อน มีช่วงหนึ่งเราต้องลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายด้วยการออกไปตระเวนหาของ ตัดดอกไม้ กิ่งไม้ด้วยตัวเองมาใช้จัดใช้สอนนักเรียน ซื้อน้อยหน่อย ขยันออกไปหาของเองมากหน่อย 

พอเริ่มตั้งตัวได้ เราก็เกิดความคิดว่าถ้าต้องเช่าร้านต่อไปจะไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย เลยไปปรึกษาธนาคารเพื่อเริ่มหาซื้อตึก โดยตั้งใจว่าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับดอกไม้ ร้านต้องอยู่ในพื้นที่ที่คนมีกำลังทรัพย์มากพอจะใช้จ่าย ซื้อดอกไม้ของเรา จนมาเจอตึกที่สุขุมวิท 39 ชอบมาก อยากได้ จึงตัดสินใจขอกู้แบงก์มาซื้อตึก บังเอิญตอนนั้นเรารับงานตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทบางกอกกรีนซึ่งขายดอกกล้วยไม้ใส่กล่องที่สนามบิน มีเงินเดือนประจำ กับเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ส่งออกต่างประเทศ ช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ ก็ใช้ตำแหน่งเหล่านี้กับผลงานที่เคยทำมาไปขอกู้ ตอนแรกทำใจว่าอาจไม่ได้ เพราะขั้นตอนกู้แบงก์สมัยนั้นยุ่งยากมาก แต่สุดท้ายก็ได้ ตอนที่รู้นี่ดีใจจนแทบจะเป็นลม

ประสบการณ์เหล่านี้สอนเราหลายอย่างมาก ทั้งความอดทน ทักษะบริหารจัดการ และโชคดีที่เราเคยทำงานบริษัทมาก่อน เคยเจอปัญหามาก่อน ถ้ามาทำธุรกิจโดยไม่ได้ผ่านประสบการณ์การทำงานจากที่อื่นๆ เลย เวลาล้ม เราอาจจะล้มแรงกว่านี้ ดังนั้นหลายคนที่เรียนจบแล้วอยากเปิดร้าน เพราะเชื่อว่าตัวเองเก่ง มีผลงานมามาก มันไม่ใช่แค่นั้น การทำธุรกิจต้องอาศัยประสบการณ์ อาศัยเวลา มันมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด


เมื่อย้อนมองเส้นทางอาชีพที่ผ่านมา คุณคิดว่าการเรียนอาชีวะมอบอะไรให้แก่คุณบ้าง

เราคิดว่าอาชีวะสอนเรื่องความรับผิดชอบ อันที่จริงทุกสถาบันก็คงสอนนักเรียนเรื่องความรับผิดชอบ แต่อาชีวะต่างออกไปที่เวลาสอน เขาให้ทำงานออกมาเป็นชิ้นงาน คุณต้องทำงานให้เสร็จลุล่วงด้วยดี ซึ่งงานแต่ละชิ้นก็ไม่ง่าย ดังนั้น มันจะสอนเรื่องความอดทนให้แก่เรา แทบทุกสาขา ทั้งการทำเสื้อผ้าสักชุด เครื่องยนต์สักเครื่อง ดอกไม้ อาหาร ทุกอย่างต้องใช้ความคิดในการรังสรรค์ หาวัตถุดิบมาทำให้สำเร็จ   

นอกจากนี้อาจารย์ในอาชีวะยังให้อิสระกับการแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการสอนทักษะ ทำให้เราได้ใช้ทักษะลงมือทำงานที่เราชอบได้เต็มที่ ในอาชีวะมีวิชาที่ต้องออกแบบ ใช้ความคิดเยอะ การที่เราได้คิด ได้สนุกกับงาน ทำให้ทุกวันนี้เรายังทำงานด้วยความสนุก รู้สึกเหมือนเรียนหนังสือตลอดเวลา

หลายคนอาจมองว่าอาชีวะเรียนเน้นสายอาชีพหนัก แต่จริงๆ เราก็ได้เรียนวิชาพื้นฐานที่ต้องใช้เหมือนกัน เช่น ภาษาอังกฤษ


คำกล่าวที่ว่าเมื่อเรียนอาชีวะจบออกมาแล้วจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว มีงานทำแน่นอน ประสบการณ์ที่ผ่านมาของคุณคิดว่าเป็นจริงไหม

น่าจะจริง ปัจจุบันคนเรียนจบอาชีวะมาน่าจะมีโอกาสสูง เนื่องจากอาชีวะสอนงานที่ต้องใช้ทักษะ ใช้ฝีมือ มีประสบการณ์ทำงาน ดังนั้นสถานประกอบการที่ต้องการคนมีฝีมือเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า โรงแรม ร้านดอกไม้ อาชีวะสามารถตอบโจทย์ได้เลย และถ้าบอกว่าสมัยนี้คนมีความรู้เรื่องเดียวจะทำงานลำบาก อาชีวะก็ถือว่าสอนให้นักเรียนทำอะไรได้หลายอย่าง


หลังจากเรียนจบออกมา คุณสังเกตเห็นหลักสูตร วิธีการเรียนการสอนอาชีวะว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร

นอกจากเราจะกลับไปเป็นวิทยากรให้การอบรมครูอาชีวะทั่วประเทศที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดทุกปี ภายหลังที่เปิดร้านของตัวเองก็ได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรให้สถาบันอาชีวะต่างๆ เพราะส่วนใหญ่เขาอยากเชิญเราไปบรรยายในฐานะรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ แต่เผอิญเราไม่ได้สอนประจำเลยอาจจะไม่เห็นภาพชัดนัก อาศัยว่าเราสนิทกับอาจารย์อาชีวะหลายๆ ที่ เนื่องจากเราเป็นประธานอนุกรรมการสาขาช่างจัดดอกไม้ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อคัดเลือกและฝึกเยาวชนไทยแข่งขันระดับโลก คณะอนุกรรมการเป็นคนจากสถาบันอาชีวะต่างๆ เราเลยได้คุยกับอาจารย์อาชีวะบ่อยๆ อาจารย์ก็เล่าเรื่องเด็ก เรื่องวิชาความรู้ปัจจุบันให้ฟังบ้าง  

ตอนนี้ตัวอาจารย์อาชีวะเองก็พัฒนาขึ้นจากเดิมมาก เปิดกว้างมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เปิดรับไอเดียใหม่ ทำให้เด็กมีโอกาสแสดงศักยภาพมากขึ้น มีเวทีเยอะขึ้น มหาวิทยาลัยก็พยายามส่งเสริมเด็กมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะเลย นี่เป็นหนึ่งในความฝันของเราเช่นกันว่าอยากให้อาชีวะหรือแผนกคหกรรมศาสตร์มีเวที มีผลงานปรากฏให้คนได้ชื่นชม ตอนนี้มีมากขึ้นแล้ว เราก็รู้สึกภูมิใจในฐานะรุ่นพี่

ประเด็นคือเท่าที่เรามอง อาชีวะบางสถาบันมักเน้นฝึกเด็กให้เก่งเพื่อไปแข่งขัน ต้องให้ได้ที่หนึ่ง ได้รางวัลเยอะที่สุด แต่นอกจากเก่งแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องมีทักษะทางสังคม นิสัยอื่นๆ ที่ดีด้วย เช่น ความรับผิดชอบ มารยาท จรรยาบรรณ ความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยปลูกฝังกันตั้งแต่สมัยเรียน มันอาจจะยากเพราะนักเรียนอาชีวะเป็นวัยที่เด็กๆ เริ่มโตกันแล้ว แต่ต่อให้เขาไม่ฟัง เราก็ไม่ควรทิ้งเรื่องเหล่านี้ ต้องคอยบอกคอยพูดเตือนกันว่าอย่าทะนงตัว อย่านึกว่าฉันเก่งที่สุด ทำผลงานได้ดีที่สุด แล้วไม่คิดเรียนรู้สิ่งใหม่

เราอยู่ในวงการอาชีพนี้มานาน เรียกว่าอยู่มานานเหมือนสี่แผ่นดิน (หัวเราะ) เห็นความเปลี่ยนแปลงมามาก เห็นคนเก่งมากมายหายไป ที่เรายังอยู่ได้เพราะเราศรัทธาในอาชีพนี้ มีความนอบน้อมถ่อมตัว ทำตัวเล็กจิ๋วอยากพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราหมั่นพัฒนาตัวเอง วางตัวดี มีความอ่อนน้อม ต่อให้เราอยู่มานานยังไงก็มีงานทำไม่ขาดสาย ลูกค้าเก่าแก่ก็อยากอยู่กับเรา และเป็นแนวทางให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้อยู่


มีอะไรที่คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีวะบ้าง

เยอะ โดยเฉพาะการเหยียด ถ้าเรียนสายสามัญ คนมักจะมองว่าเรียนจบมาเป็นหมอ เป็นวิศวกร ฟังแล้วดูดี แต่เรียนอาชีวะ คนไม่เข้าใจว่าทำอะไรได้บ้าง มองว่าเรียนจบมาก็เป็นคนใช้แรงงาน การบอกว่าเรียนจบอาชีวะเปรียบเทียบกับจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อหน่อยยังฟังดูมีดีกรีต่างกัน ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว คนที่เป็นผู้บริหารองค์กรจะรับคนเข้าทำงานควรวัดกันที่ความสามารถกับประสบการณ์  

มันไม่ผิดหรอกที่อยากส่งลูกเรียนหมอ มองว่าเป็นงานมั่นคง ได้เงินเยอะ แต่อาชีวะเองก็สามารถทำงานที่มั่นคงได้เหมือนกัน ทำงานราชการได้ เป็นครูได้ เป็นอะไรต่างๆ ได้มากมาย ท้ายที่สุดแล้วมันขึ้นกับตัวเราว่าตั้งใจแค่ไหน คุณจะเรียนอะไรก็ได้ จะจบสายสามัญหรือสายอาชีวะก็ได้ ขอให้ถามตัวเองว่าที่เรียนมามันใช่ตัวตนของเราจริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่เรียนเพราะพ่อแม่อยากให้เรียน แต่ไม่ใช่ตัวเองเลย เวลาเลือกเรียนเลือกสิ่งที่มีความสุขกับมัน สิ่งที่เราคิดว่าใช่ ต่อให้จบมาอาจไม่ได้ทำงานตรงสายเสียทีเดียว แต่ใครจะรู้ มันอาจจะมีประโยชน์ต่ออาชีพในอนาคตของเราทางอ้อมก็ได้   


คุณเคยเจอประสบการณ์การเหยียดที่ว่าด้วยตัวเองไหม

เขาดูถูกทั้งคณะเลยไม่ใช่แค่การจัดดอกไม้ บอกว่าเรียนคหกรรมอย่างมากก็ไปขัดบันไดทองเหลือง ไปเป็นแม่บ้าน อย่างมากก็เป็นแม่บ้านโรงแรม เรานึกภาพตามก็กลัวนะ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นแรงผลักดันให้เรา เรียนจบมาเรามีทางเลือกอาชีพอื่นๆ ตั้งเยอะ และคนที่ทำงานขัดบันได ทำงานปูเตียงในโรงแรมเขาอาจจะแฮปปี้มีความสุขกับงานที่ทำก็ได้ แค่คุณไม่เห็น

เราคิดว่าทางสถาบันอาชีวะควรร่วมมือกันผลักดันคนที่ประสบความสำเร็จออกมาให้สังคมชื่นชมเหมือนกับที่ชื่นชมหมอ ทำให้เกิดชื่อเสียง เกิดภาพลักษณ์ที่ดี กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังได้เห็นผลงานของอาชีวะ เพราะอาชีวะผลิตคนเก่งเยอะมากนะ เชฟดังๆ นักจัดสวนดังๆ ก็เรียนจบอาชีวะ หลายคนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ถูกโปรโมตขึ้นมา คนส่วนหนึ่งจึงยังมองว่าเรียนอาชีวะแล้วไม่ดีเท่าเรียนหมอหรือสายสามัญ


ประเด็นเรื่องเพศ เช่น มองว่างานช่างกล ช่างเครื่องเป็นอาชีพของผู้ชาย การจัดดอกไม้เป็นงานของผู้หญิง ยังเป็นประเด็นปัญหาในอาชีวะปัจจุบันอยู่ไหม

โลกมันเปลี่ยนไปมาก ยุคนี้ใครคิดแบบนั้นเชยมากเลยนะ ในงานระดับโลก WorldSkills Competition ที่เหมือนงานแข่งขันโอลิมปิกแรงงาน เราเคยไปเป็นกรรมการหลายครั้ง เห็นผู้หญิงอยู่แผนกช่างกลเยอะมากในต่างประเทศ ส่วนงานดอกไม้ สมมติมีคนเข้าร่วม 15 ประเทศ มีผู้หญิงเป็นตัวแทนแค่ 2 ประเทศ นอกนั้นเป็นผู้ชายหมดเลย เดี๋ยวนี้โลกเปิดกว้างมาก เราก็มองว่าใครจะเลือกทำงานสายไหนก็เลือกตามที่ชอบจริงๆ ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ หรืออายุ ความรวยความจน


คุณมีข้อเสนอแนะอะไรสำหรับการพัฒนาอาชีวะไทยในอนาคตบ้าง

เท่าที่เห็น ครูรุ่นใหม่ของอาชีวะตอนนี้เก่งขึ้น พยายามนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามานำเสนอนักเรียนนักศึกษา ให้เด็กรุ่นใหม่ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ขอชื่นชม ทั้งนี้ทั้งนั้น เรายังอยากแนะนำให้พัฒนาครูผู้สอนมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการไปดูงาน ศึกษางานในสถานประกอบการหรือจากคนที่ประกอบอาชีพเพื่อให้รู้จริง เหมือนเด็กไปฝึกงานเลย แต่ให้ครูไปแทน เราเข้าใจว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่ใช้หาความรู้ได้ แต่ความรู้บางอย่างเป็นความรู้ที่ได้จากการสัมผัสประสบการณ์หน้างาน จากคนทำงานจริง ทั้งเทคนิค วิชามาร เป็นสิ่งที่คุณอาจไม่ได้จากภาพในเน็ต อย่าคิดว่าเป็นครูแล้วหยุดแค่นั้น ครูต้องหมั่นอัปเดตความรู้ตัวเองตลอดเวลาไม่ให้ล้าสมัย  

นอกจากนี้ อยากให้ครูมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเด็กควบคู่ไปกับคุณธรรม ไม่ใช่ฝึกให้เด็กเก่ง เน้นให้แข่งชนะอย่างเดียว จะพัฒนาคนได้ดีต้องสอนให้มีคุณธรรมด้วย เราคิดว่าถ้าพัฒนาครูดี นักเรียนและการศึกษาก็จะดีตาม ด้านสถาบัน ผู้บริหารเองก็ควรสนับสนุนให้บุคลากรได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ สนับสนุนให้นักเรียนที่ประสบความสำเร็จถูกมองเห็นในสังคม ถ้าไม่สนับสนุน ช่วยโปรโมตกัน จะหวังให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียน หวังให้อาชีวะมีภาพพจน์ดีๆ ก็คงยาก นี่เป็นเรื่องที่เราอยากแนะนำจากสิ่งที่เคยสัมผัสมา

ส่วนน้องๆ นักเรียนอาชีวะก็อยากแนะนำคล้ายกับครู คืออยากสนับสนุนให้เรียนในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ชอบอย่างเต็มที่ เวลาเรียนเกรดจะดีหรือไม่ดีไม่ว่า แต่จบมาอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง หมั่นดูงานของคนอื่น ทั้งจากแหล่งข้อมูลในเน็ตและสถานประกอบการจริง มีคุณธรรม ความรับผิดชอบ 


สุดท้ายนี้ ถ้าคุณจะเลือกดอกไม้แทนชีวิตตัวเอง คุณจะเลือกดอกอะไร

คำถามนี้โดนถามมาหลายครั้ง และดอกไม้ของเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สำหรับตอนนี้เราชอบดอกแมกโนเลียที่สุด ไม่รู้ความหมายเป็นพิเศษหรอก แต่เวลาที่เห็นแล้วเรารู้สึกมีความสุขมาก เป็นดอกไม้สีขาวที่ไม่ขาวบริสุทธิ์ มีเสน่ห์ ดูเหมือนแข็งแกร่ง แต่จริงๆ มีความบอบบางแฝงอยู่ มีกลิ่นหอมอ่อน ขณะเดียวกัน ถึงจะไม่มีดอก กิ่งก้านและใบของเขาก็ยังงดงาม แค่นี้เองที่ชอบ

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world