ฟังเรื่องเล่าจากครูต้นเรื่องในโครงการ ‘ครูเพื่อศิษย์’ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community (PLC) ที่นำเอาประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ ‘วิทยาศาสตร์’ ในรูปแบบใหม่มาเล่าสู่กันฟัง
จากกรอบคิดเดิมๆ ที่วัดผลประเมินความรู้เด็กๆ ด้วยเกณฑ์ความถูกต้องตามตำรา แต่กระบวนการ PLC ทำให้ ‘ครูก้อย’ ได้ค้นพบวิธีการสอนแบบบูรณาการนอกห้องเรียน โดยมีทีมโค้ช (PLC Coaching ) จากโรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ในวันนี้วิชาวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นเสมือนยาขมสำหรับเด็กประถม จึงกลายเป็นเรื่องสนุกที่การมาเรียนก็เหมือนมาเล่นและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ
เพราะความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่ ‘โอกาส’ ในการได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘คุณภาพ’ การศึกษาที่ทัดเทียมกันด้วย การเติมทักษะ แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ระหว่างกันของครู ไม่ว่าในสาขาเดียวกันหรือหลากหลายสาขาจะยิ่งเป็นการเสริมสมรรถนะให้การเรียนการสอน เพราะเมื่อครูมีศักยภาพที่ทัดเทียมกัน ไม่ว่าด้านองค์ความรู้ หรือกระบวนความคิด ไม่ว่าจะอยู่ที่กรุงเทพ ต่างจังหวัด หรือโรงเรียนเล็กๆ ในหมู่บ้านห่างไกล การมีครูที่มีศักยภาพจะช่วยให้เด็กๆ ไดัรับการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ต่างกัน ถือเป็นความเสมอภาคด้านการศึกษาที่ควรทำให้เกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่
จากกระบวนทัศน์นี้ จึงนำไปสู่โครงการ ‘ครูเพื่อศิษย์’ และกระบวนการ PLC Coaching ที่คอยสนับสนุนให้ครูมีที่ปรึกษาทางความคิดและการออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดศักยภาพมากที่สุด โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่มูลนิธิสยามกัมมาจล และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้การสนับสนุน
จาก ‘ครูวิทย์’ สู่ ‘ครูนักออกแบบ’
2 ปีก่อน มยุรี ดวงจันทร์ หรือ ‘ครูก้อย’ ย้ายจากโรงเรียนเดิมเพื่อมาสอนวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา 1 – 6 ที่โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121 จังหวัดศรีสะเกษ แต่สิ่งที่แตกต่างไป คือโรงเรียนแห่งนี้นำกระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน นี่จึงเป็นเหมือนปฐมบทบนเส้นทางสายใหม่ในฐานะครูของครูก้อยเช่นกัน
“ก่อนย้ายมาที่นี่ เราเป็นครูวิทยาศาสตร์ก็จัดการเรียนการสอนเหมือนโรงเรียนทั่วไป เรียนในห้องเรียนเป็นหลัก มีสื่อแบบอื่นช่วยบ้างบางชั่วโมงเช่นให้ดูวิดีโอ การจัดทำแผนการสอนก็เอาตัวครูเป็นหลัก จนลืมนึกไปว่าบางครั้งอาจทำให้เด็กไม่ได้รู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ หรือไม่ได้กระตุ้นให้เขาอยากรู้ในสิ่งที่ควรรู้ นานๆ เข้าเด็กๆ ก็เบื่อไม่อยากเรียน นั่งคุยง่วงเหงาหาวนอนกันไป”
วิชาวิทยาศาสตร์บางทีก็เหมือนยาขมสำหรับเด็ก ครูก้อย ยอมรับว่า บางทีเนื้อหาในตำราที่ใช้วัดผลประเมินก็ยากและเยอะเกินไปจนทำให้เด็กไม่อยากเรียน ยิ่งต้องอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมทุกวิชายิ่งน่าเบื่อ หรืออย่างการเปิดวิดีโอให้ดูเขาก็แค่มอง แค่นั่งฟังจอ แต่เขาได้ความรู้จากตรงนั้นแค่ไหน ไม่สามารถทราบได้เลย
พอมาที่นี่ โรงเรียนใช้กระบวนการ PLC อยู่แล้ว จึงให้ครูก้อยเริ่มจากสังเกตการณ์ ซึ่งโรงเรียนจะมีการ PLC เพื่อแลกเปลี่ยนออกแบบและวางแผนการสอนร่วมกันทุกวันศุกร์ในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นทางโรงเรียนก็ให้ไปอบรมกับสถาบันอาศรมศิลป์
สิ่งที่ได้กลับมาคือการที่การมององค์ความรู้และการถ่ายทอดในลักษณะที่เป็นธีมมากขึ้น และจะเป็นสิ่งที่ครูในโรงเรียนต้องมาค้นหาร่วมกัน จากนั้นจึงเป็นการเขียนแผนการสอน ระหว่างนั้นก็จะมีการปรึกษากับทางโค้ชจากสถาบันอาศรมศิลป์เป็นระยะ ทำให้ได้มุมมองคำแนะนำต่างๆ เพราะแผนบางอย่างอาจจะคิดจากมุมของตัวเองเป็นหลัก เมื่อมีที่ปรึกษาก็เหมือนมีคนช่วยชี้ให้เห็นมุมอื่นๆ มากขึ้น เช่น เรื่องนี้ตัวบ่งชี้ยังไม่ออก หรือบางอันก็เยอะเกินไป จะมีการปรับแผนและก็นำไปสู่กระบวนการสอน
“พอเข้าสู่การมองแบบนวัตกรรมองค์รวม ทำให้เราได้ปรับสู่วิถีการสอนใหม่ สิ่งที่ต้องทำคือการวิเคราะห์โรงเรียนของเราว่ามีอะไรที่เหมาะสำหรับเด็กๆ บ้าง จะมีการค้นหาธีม จัดทำแผนและออกแบบกิจกรรมไปตามธีมโดยเอาหลายวิชามาบูรณาการกัน วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเอง แต่สามารถเอาสังคม เอาภาษาไทยมาประยุกต์ได้โดยเป็นขาออกด้านการสื่อสาร เพื่อให้เด็กๆ ได้คิดจนครบกระบวนการ เมื่อเรียนรู้มา เขาก็ต้องถ่ายทอดได้ด้วย”
ด้วยกระบวนทัศน์นี้ จึงทำให้ครูวิทยาศาสตร์ในแบบที่คุ้นเคย เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น ‘ครูนักออกแบบความรู้’ วิชาวิทยาศาสตร์ที่ถูกออกแบบให้กลายเป็นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ทำให้เด็กประถมสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานเหมือนการเรียนเป็นการเล่นและทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ
ห้องเรียน ป.2 ‘วิทยาศาสตร์’ เรียนกันในแปลงผัก
ครูก้อย ได้เล่าถึงตัวอย่างล่าสุดสำหรับนักเรียนชั้น ป. 2 ที่เพิ่งนำมาใช้ในภาคเรียนนี้ โดยได้มีการกำหนดธีมเรื่อง ‘ผักสวนครัวรั้วเรา’ ขึ้น ซึ่งห้องเรียนแบบนี้ ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ความรู้ที่ถูกต้องตามตำรา อาจไม่ได้หมายความว่าเด็กๆมีความรู้ในเรื่องนั้นจริงก็เป็นได้
“ช่วงโควิดที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ มีการสอนเรื่องผักสวนครัว เวลาถามเรื่องผักสวนครัว เขาตอบได้หมด กระเพรา แตงกวา โหระพา พริก ถ้าประเมินตามนี้อิงกับเกณฑ์จากส่วนกลางตามรูปแบบการศึกษาทั่วไป หลายคนได้คะแนนเต็มด้วยซ้ำ แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาตอบมาจากความรู้ของเขาเองหรือเปล่า หรือผู้ปกครองบอก แต่พอเปิดเทอม เรานำธีมนี้มาทำแผนและ PLC กันใหม่ เพื่อใช้ในการเรียนแบบ Onsite เพราะโรงเรียนมีพื้นที่เหมาะสม มีแปลงผัก มีพืชพรรณอยู่ไม้น้อยที่สามารถให้เด็กๆ เรียนรู้จากของจริงได้”
ครูก้อย อธิบายว่า สำหรับเด็ก ป.2 จะมีวิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องเรียนอยู่ประมาณ 20 ชั่วโมง เฉพาะในธีม ‘ผักสวนครัวรั้วเรา’ ออกแบบให้เขาเรียนรู้ 5 ชั่วโมง โดยทยอยเรียนรู้ไปทีละประเด็นในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยผ่านไปเรียนรู้ในธีมอื่น
“แผนการสอนของผักสวนครัวรั้วเรา ตอนแรกจะให้เด็กๆ เข้าสู่การปลูกเลย แต่โค้ชมองว่าน่าจะเริ่มจากการสำรวจก่อนดีกว่า เพื่อประเมินพื้นฐานของเด็กๆ ด้วย พอลองให้สำรวจดู เราพบว่าสิ่งที่เขาเคยตอบได้ฉะฉานตามตำรา พอไปเจอผักจริงๆ เจอองค์ประกอบของพืชจริง หลายคนไม่รู้จัก บางคนรู้จักแต่พริกสีแดงเพราะเห็นบ่อยๆ ในภาพ แต่ไม่รู้ว่ามีพริกสีเขียวด้วยซ้ำ เราก็เริ่มต้นปูพื้นฐานความสำคัญของการเก็บข้อมูล เขาได้เห็น ใบ ดอกผล ลำต้นราก จากนั้นก็จะนำไปสู่คำถามเพื่อไปสู่ขั้นตอนลึกต่อไป เช่นว่า ทำไมผักถึงเจริญเติบโตได้แล้วก็ชวนกันหาคำตอบ”
หลังการสำรวจ ในสัปดาห์ถัดมาจึงเป็นเรื่องของการรู้จักสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้แต่ละชนิดเติบโต เช่น ต้องมีดิน มีน้ำ มีอากาศ และแต่ละชนิดก็ชอบต่างกันไป เมื่อเรียนรู้แล้วก็ให้เขาทดลองปลูก ตั้งแต่เตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและแปรรูปเป็นอาหารในสัปดาห์สุดท้าย
“เด็กๆ ก็ว้าวเลย บอกว่าเรียนแบบนี้สนุก ชอบกันมาก สิ่งที่เราเห็น เขามีความสนใจ มีความตั้งใจ มีความกล้ามากขึ้น กล้าคุย กล้าตอบ กล้าแลกเปลี่ยน เป็นผลที่เกิดเกินคาดเลย มีทักษะการสื่อสารไม่ว่ากับเพื่อนร่วมทีมหรือการนำเสนอในห้อง เราเองก็ประเมินเขาได้จริง เพราะคราวนี้เขารู้จักชื่อผักนั้นๆ จริง รู้ว่าส่วนประกอบของผักคืออะไร รู้ประโยชน์ หรือบางคำถามเราไม่คิดว่าจะถาม แต่ก็ทำให้เราไปต่อยอดได้ด้วย คือเป็นครูให้กับครูเองด้วย
“คำว่า อ๋อ ของเด็กๆ ที่แปลงผักไม่เหมือนในห้องเรียน ผักเดียวกันที่เขาตอบถูกในห้อง แต่พอมาอ๋อกับของจริงเป็นความรู้สึกคนละแบบ คำว่าวิทยาศาสตร์คือการสังเกต การทดลอง ทุกอย่างถ้าเราใช้หลักวิทยาศาสตร์มาสอนจริงๆ เด็กต้องได้ลงมือทำถึงจะเกิดเป็นทักษะที่ติดตัวเขา เมื่อมีแล้วก็จะเกิดเป็นองค์ความรู้ บางอย่างอาจเกิดจากตัวเขาเอง หรือบางอย่างเกิดจากการที่เขาได้สังเกต สำรวจ ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในหนังสือเรียนเท่านั้น”
ครูก้อย ยังย้ำว่า ความจริงวิทยาศาสตร์ก็คือสิ่งรอบตัว แต่บางทีพอไปยึดติดกับตำราก็ไม่สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ เรียนรู้กับธรรมชาติได้ เพราะตำราเขาเขียนมาตามบทว่าต้องสอนอะไรก็ทำไปแค่นั้น แต่ถ้าการสอนเกิดขึ้นโดยการเป็นครูนักออกแบบ ในเรื่องเดียวกันหนึ่งเรื่อง ก็จะสามารถวิเคราะห์เด็กได้หลายเรื่องมากกว่าในตำรา
“การที่เราจะพัฒนาอะไรสักอย่างต้องเริ่มจากครูเอง ถ้าครูไม่เปิดใจ หรือผู้บริหารไม่กล้าเปลี่ยนการศึกษาก็ไม่เปลี่ยน ดังนั้น จึงอยู่ที่ตัวเรากล้าที่จะเปลี่ยนหรือไม่ ตำราจะเป็นแค่เครื่องชี้แนะ แต่เราสามารถจัดการเรียนการสอน ทำเป็นแผนได้ด้วยตัวเอง เราสามารถนำความรู้ต่างๆ มาบูรณาการ มาตกแต่งได้ ครูอยากให้เด็กเป็นอย่างไรก็พาเขาไปสู่เป้าหมายตามที่หวังไว้ ไม่ใช่พาไปตามที่ตำราหวังไว้ ครูจึงมีความสำคัญที่สุดว่าจะกล้าเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองหรือไม่” ครูก้อย กล่าวทิ้งท้าย