5 กุญแจสำคัญ สำหรับการพาแรงงานไทยฝ่าฟัน Technology Disruption

5 กุญแจสำคัญ สำหรับการพาแรงงานไทยฝ่าฟัน Technology Disruption

“จากการอ่านข่าวบนหนังสือพิมพ์ มาเป็นการอ่านบนไอแพด จากการถ่ายกล้องฟิล์ม กลายเป็นกล้องดิจิทัล

“เราข้ามยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีโดยที่ใช้ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเอง”

คำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ในงานประชุมระดมความเห็นเรื่อง “Disruptive Technology กับการพัฒนาแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส” ฉายภาพพัฒนาการทางเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาว่าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมหลายมิติ

ทั้งมิติที่เล็กที่สุดอย่างการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ ไปจนถึงกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ กำลังจะเปลี่ยนไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) Auto Machine Learning และอีกสารพัดที่กำลังจะเกิดขึ้นภายภาคหน้า ถ้าเราต้องการอยู่รอดในตลาดแรงงานท่ามกลางความก้าวหน้าเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือ หาทักษะใหม่ให้แก่ตนเองและคนในประเทศ

แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยยังคงประสบกับปัญหาเรื้อรังเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทำให้กลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และกลุ่มคนชายขอบรับมือกับผลกระทบจากเทคโนโลยียากลำบากกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะความขัดสนทำให้มีโอกาสพัฒนาตนเองน้อยลง ทั้งยังได้สัมผัสนวัตกรรมใหม่เป็นลำดับท้ายๆ ของสังคม การทำให้คนเหล่านี้มีทักษะอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการเพื่อเพิ่มรายได้และหลุดพ้นจากความยากจน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กสศ. เล็งเห็นและวางแผนเข้าไปช่วยแก้ไข

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือ การระดมความคิดจากหลายภาคส่วนเพื่อค้นหาแนวทางอันเหมาะสม สาระจากการประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 จึงเป็นการทบทวน 5 เรื่องสำคัญ ก่อนมุ่งหน้าวางแผนขับเคลื่อน สร้างทักษะแก่เหล่าแรงงานผู้ด้อยโอกาสและช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

#1

มองภาพ Disruptive Technology

ให้ครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์

การศึกษา และหน้าที่ของรัฐ

Disruption หมายถึงการหยุดยั้ง ทำให้สิ่งที่เคยดำเนินมาเกิดความชะงักงัน”

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นถึงความหมายของศัพท์ที่อาจได้ยินจนคุ้นหู ก่อนขยายความ ‘สิ่งที่เคยดำเนินมา’ ว่าหมายถึงระบบอุตสาหกรรมและทักษะการทำงานของคนในสังคม

“เทคโนโลยีจะเข้าไปดัดแปลงคน ดัดแปลงกระบวนการการผลิต ทำให้ทักษะของคนซึ่งเคยใช้ทำงานแบบหนึ่งจะหมดประโยชน์ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อคือคนตกงานจำนวนมาก เพราะมีหุ่นยนต์เข้าไปทำแทน อย่างที่เราเห็นว่าตอนนี้ งานบางชนิด เช่น พ่นสีรถยนต์ คนก็ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และลักษณะงานก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ส่วนที่ได้รับผลกระทบจาก Disruptive Technology มาก น่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก และคนที่จะตกงานเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างชัดเจน คือกลุ่มแรงงานในระบบ

“ด้านแรงงานนอกระบบผมยังมองว่ามีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นและไม่มีรูปแบบการทำงานตายตัว อย่างที่เราเห็นว่าตอนนี้มีอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่งอาหาร หรือรับจ้างเข้าคิวเพื่อจองอสังหาฯ ดังนั้น เทียบกันแล้ว แรงงานนอกระบบอาจมีทางออกมากกว่าแรงงานในระบบ

“ถึงประเทศไทยจะถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ แต่ถ้าผมตกงาน ผมก็คงไม่มานั่งภูมิใจกับตัวเลขการว่างงานต่ำหรอกครับ” ศาสตราภิชาน แล แสดงความเห็น

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์

อันที่จริง ปรากฏการณ์ Technology Disruption นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากมีมาตลอดบนหน้าประวัติศาสตร์โลก และทุกๆ ครั้ง ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบทำนองเดียวกัน นั่นคือเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนคน ทำให้คนกลุ่มหนึ่งตกงาน จนต้องขวนขวายหาทักษะอาชีพแบบใหม่ๆ หรือไม่ ก็อาจจะสร้างความปั่นป่วนในสังคมระลอกถัดมา

“หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ดูจะพบว่า ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมปี 1770 เป็นต้นมา เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำได้เข้าไปแทนที่งานใช้แรงคน แรงสัตว์ และทำให้เกิดการผลิตสินค้าปริมาณมาก จนช่างฝีมือที่ดำรงชีพด้วยการทอผ้า การปั้นเครื่องปั้นดินเผา หรือหล่อโลหะตกงานกันบานตะเกียง กลายเป็นว่าเกิดขบวนการแอนตี้การใช้เครื่องจักร ที่เรียกว่าขบวนการ Luddite ก่อความวุ่นวายเผาโรงงานขึ้น” ศาสตราภิชาน แล ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

“หรือจากประสบการณ์ของผม สมัยหนึ่งตำแหน่งเลขานุการเป็นตำแหน่งที่ได้เงินเดือนดีมาก และคนที่จะเป็นเลขาได้ต้องเก่งวิชาชวเลข ใครสอบได้ที่หนึ่งวิชาชวเลขจะมีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทดังๆ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเทปอัดเสียงเกิดขึ้น ปรากฏว่าเลขาที่เคยจดชวเลขได้เร็วที่สุดกลับตกงาน มานั่งชงกาแฟให้นายอย่างเดียว เพราะความรู้ที่เคยถือว่าวิเศษสุดกลายเป็นศูนย์ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของ Disruption ที่เห็นชัด”

ศาสตราภิชาน แล ยังเสริมว่า การที่ทักษะแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไปอาจไม่ได้ส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานเพียงเรื่องเดียว แต่ส่งผลถึง ‘หน้าตา’ ในสังคมของบุคคลนั้นอีกด้วย

“มีหนังสือเก่าเรื่องหนึ่งเล่าตัวอย่างเรื่อง Disruption ไว้น่าสนใจมาก คือ “ไหมอีสาน” เป็นเรื่องราวของครูคนหนึ่งคอยสอนวิธีการทำไหม กรอไหม สาวไหมให้แก่คนในชุมชน การที่เขามีทักษะการผลิตเช่นนี้ ทำให้คนมาเรียนรู้งานจากเขา ยกย่องชื่นชมเขา ใครแต่งงานก็เชิญเขาไปเป็นประธาน ใครตายก็เชิญเขาไปร่วมงานศพ แต่แล้ววันหนึ่งกลับมีโรงงานผลิตผ้าไหมไปตั้ง ทำให้จากเดิมที่ครูคนนี้เป็นแกนนำการผลิต ก็กลายเป็นลูกจ้างทอไหม ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในชุมชนซึ่งมีความรู้ด้อยกว่า  สถานะทางสังคมของเขาถูกลดขั้นลงมาเพราะการ disruption ฉะนั้น Disruptive Technology อาจไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เรื่องการผลิต เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของสังคม เรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วย”

ดังนั้น การสร้างทักษะให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานยุคเทคโนโลยีกำลังเฟื่องฟูจึงเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งศาสตราภิชาน แล เห็นว่าควรเริ่มต้นจากระบบการศึกษา เพียงแต่ปัญหาหนึ่งซึ่งคาราคาซังจนถึงปัจจุบัน คือการเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่เคยช่วยสร้างทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดเลย

“ประเด็นหนึ่งที่พูดกันบ่อยคือการศึกษาของเราไม่เอื้อต่อการทำมาหากิน มีงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์หลายเรื่องที่สะท้อนว่าการศึกษาในปัจจุบันผลิตคนไม่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม เมื่อเรียนจบแล้ว กลับต้องไปเทรนกับนายจ้างเหมือนนับหนึ่งใหม่ ไม่ก็ฝึกกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ทำงานได้ คำถามคือแล้วเราเรียนอะไรกันมา ทำไมจบแล้วถึงทำงานไม่ได้ ทักษะที่ระบบการศึกษาผลิต กับทักษะที่ตลาดต้องการยังจูนได้ไม่ตรงกันใช่หรือไม่?”

นอกจากประเด็นเรื่องเนื้อหาการเรียนการสอนใช้จริงไม่ได้ ศาสตราภิชาน แล ยังเพิ่มเติมว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญซึ่งไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

“ประเด็นเรื่องการพัฒนาทักษะกับคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่รากฐานของการศึกษาและความเสมอภาค”

“ถ้าเรามองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนสร้างทรัพย์สินในตัวบุคคล เราต้องพูดถึงปัญหาของระบบการศึกษากับโอกาสในการเข้าถึงความรู้ควบคู่ไปกับเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงานด้วย ยกตัวอย่างที่บอกกันว่าหากรู้ภาษาอังกฤษจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ๆ ใช้พัฒนาตัวเองได้ทั่วโลก แต่สำหรับกลุ่มคนขาดแคลนทุนทรัพย์นี้  การเรียนภาษาอังกฤษก็มีต้นทุน โรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษได้ดีก็มีค่าเทอมแพงกว่าโรงเรียนวัด เด็กที่จบโรงเรียนอินเตอร์มีโอกาสหางานทำที่ดีกว่า

“ต่อให้เราบอกว่าการลดความเหลื่อมล้ำของเราจะเป็นการผลักดันคนด้อยโอกาส คนข้างล่างขึ้นไปทัดเทียมกับคนข้างบน แต่ถ้าคนข้างบนยังไม่หันกลับมาช่วยเหลือกัน มัวแต่ตักตวงผลประโยชน์แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ประโยชน์ที่จะเหลือให้คนข้างล่างอย่างไรมันก็น้อย ช่องว่างก็จะยิ่งห่างออกไปขึ้นทุกที ดังนั้น เราควรดูเรื่องการกระจายรายได้และทรัพย์สินในสังคม ปรับโครงสร้างของการจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรที่จะเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย”

ขณะเดียวกัน ศาสตราภิชาน แล ยังแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า ปัจจัยด้านวัฒนธรรมในประเทศมีส่วนช่วยสร้างความก้าวหน้าด้านระบบการศึกษา โดยยกตัวอย่างประเทศเวียดนามว่า

“เวียดนามมีวัฒนธรรมคล้ายจีนและญี่ปุ่น คือสมาทานลัทธิขงจื๊อมาเป็นหลักดำเนินชีวิต ซึ่งลัทธินี้ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก คนเวียดนามเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามที่สอนเราครั้งเดียว คนคนนั้นจะเป็นครูของเราตลอดชีวิต ทำให้สังคมยกย่องอาชีพครูมาก แม้จะมีเงินเดือนไม่สูง แต่สถานะทางสังคมสูง ถ้าใครเรียนเก่ง เขาก็มักจะเรียนครูกัน นอกจากนี้เด็กเวียดนามยังขยันเรียนมาก เพราะส่วนใหญ่มีสภาพชีวิตลำบาก เขาจึงถือว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการยกระดับชีวิตตนเอง

“ดังนั้น ระบบศึกษาของเวียดนามพัฒนาได้เพราะมีจิตวิญญาณ ค่านิยมเรื่องนี้เป็นตัวผลักดันสำคัญ ไม่ใช่วิธีการวางแผนหรือใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง ถ้าเรามีฐานความเชื่อ ค่านิยมให้ยึดโยงเหมือนกันแบบเวียดนาม การพัฒนาอะไรสักอย่างก็จะง่าย”

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะศาสตราภิชาน แล มองว่าสุดท้ายแล้ว ผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดสำหรับการวางแผนรับมือผลกระทบจาก Technology Disruption คงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของรัฐบาล

“ถ้า Disruptive Technology เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศเร็วโดยที่รัฐไม่ทันเข้ามาดูแล ผลกระทบทางสังคม เรื่องคนตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ความวุ่นวายต่างๆ ต้องเกิดขึ้นแน่”

ศาสตราภิชาน แล ตั้งคำถามถึงการเตรียมพร้อมรับมือกระแสเทคโนโลยีที่นับวันจะคืบคลานเข้ามาใกล้ว่า “จากประวัติศาสตร์ความวุ่นวายในอังกฤษช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้คนตระหนักได้ว่าบางทีเทคโนโลยีอาจไม่ได้เป็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่แท้จริงคือความรับผิดชอบของนายทุนและรัฐบาลที่ควรจะเข้ามาช่วยเหลือ ถ้าวันนี้เกิดปรากฏการณ์ Technology Disruption จนทำให้คนตกงาน ความรับผิดชอบของนายจ้างที่ได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องการให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อยู่ไหน วันนี้เรายังมองไม่เห็นตรงนี้เลยนะครับ”

หนึ่งในมาตรการรับมือ – หรืออย่างน้อยคุ้มครองลูกจ้างที่ดีที่สุดคือการใช้หลักนิติธรรม ทว่า จากที่ศาสตราภิชาน แล วิเคราะห์ตอนนี้ อาจจะเรียกได้ว่ากฎหมายในประเทศไทยยังเอื้อประโยชน์ให้นายจ้างมากกว่าลูกจ้าง

“ผมเห็นว่าหลายครั้ง พอธุรกิจมี Disruptive Technology เข้ามาแล้ว กฎหมายมีทางออกสำหรับนายจ้างเสมอ นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างได้ถ้าจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการกระทำที่เรียกได้ว่าถูกต้อง แต่อาจไม่ยุติธรรมต่อลูกจ้าง ตัวอย่างที่คล้ายกันเช่น เจ้าของห้างแห่งหนึ่งบอกลูกจ้างรายวันว่าให้ลางานได้เพราะกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ  เขาจะรักษาตำแหน่งไว้ให้ แต่จะไม่ให้ค่าจ้างเหมือนปกติที่ลูกจ้างรายวันไม่มาทำก็ไม่ได้เงิน สิ่งนี้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างที่ต้องเอาปากท้องเป็นเดิมพัน

“จากประเด็นนี้เราต้องคิดต่อเรื่องความรับผิดชอบของนายจ้างสู่สังคม และรัฐในฐานะผู้ดูแลความสงบสุขของสังคม ถ้ารัฐยังรับมือกับ Disruptive Technology ที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ด้วยมาตราการเท่าที่มีอยู่ ด้วยกฎหมายเงินชดเชย กฎหมายประกันการว่างงานที่ยังมีข้อจำกัด คงไม่ทันการณ์ การปรับตัวรับมือต้องเกิดขึ้นไวกว่านี้”

และสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ไวที่สุดในห้วงเวลานี้ คือการที่รัฐเข้ามาส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ทักษะใหม่ โดยเข้ามามีส่วนช่วยพยากรณ์และออกแบบทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงาน รวมถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว

“เราต้องพยากรณ์ความต้องการของตลาดแรงงาน อย่างน้อยในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ว่าประเทศต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะหรือคุณสมบัติแบบไหนที่จะเข้ากันได้กับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ และการที่เราจะสร้างคนขึ้นมารองรับกับความต้องการ ต้องนึกถึงโครงสร้างและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตอนนี้เศรษฐกิจของเราขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่มันเป็นเศรษฐกิจเปราะบาง ไม่แน่นอน ในวันนี้ที่เกิดโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวหายไป รายได้ประเทศก็หดหายตาม เราจึงต้องหันไปหาแกนกลางของเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอื่นที่มั่นคงกว่านี้”

สุดท้าย ศาสตราภิชาน แล เน้นย้ำกว่ารัฐและหน่วยงานต่างๆ ต้องอย่าลืมนิยามคำว่า ‘Disruptive Technology’ ‘อุตสาหกรรม 4.0’ และ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ให้ชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

“ตอนนี้เรายังพูดเรื่อง 2 อย่างซ้อนทับกัน คือ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ กับ ‘อุตสาหกรรม 4.0’ ซึ่ง ไทยแลนด์ 4.0 คือการพัฒนาประเทศเพื่อข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แต่อุตสาหกรรม 4.0 พูดถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็น Disruptive Technology เข้ามา จนอาจซ้ำเติมปัญหาการว่างงาน ทำให้รายได้โดยเฉลี่ยตกต่ำแทนที่จะขยับขึ้น ถ้าเราพูดกันไม่เคลียร์ สุดท้ายอาจจะเข้าใจผิด ออกนโยบายกันคนละทิศคนละทางก็ได้”

# 2

ทบทวนทักษะที่เคยมี มองหาทักษะใหม่

และต้นทุนแฝงของการฝึกแรงงานในระบบ

ในแง่บทบาทของรัฐด้านการช่วยเสริมทักษะให้แก่แรงงาน สง่า วงศ์ษาพาน ผู้แทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าที่ผ่านมา รัฐมอบอำนาจให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดูแล ซึ่งทางกรมมีการปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมกระบวนการฝึกฝีมือแรงงานมาตลอด

“นอกจากการฝึกเพื่อสร้างทักษะประกอบอาชีพ เรายังผลักดันให้เกิดมาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละสายอาชีพ โดยประกอบไปด้วยเกณฑ์วัด 5 ด้าน คือ ด้านทักษะ องค์ความรู้ ความปลอดภัยในการทำงาน ความประณีตและฝีมือในการทำงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพสูง”

สง่าอธิบายว่ามาตรฐานเหล่านี้ ไม่เพียงทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ยังทำให้คนที่ผ่านเกณฑ์สามารถขอขึ้นค่าแรงสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำลังขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมๆ กันนั้น ทางกรมยังคงตรวจสอบมาตรฐานทักษะอาชีพอันตรายบางประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น ช่างไฟฟ้า ตามคำประกาศกระทรวงแรงงาน ที่มีมาก่อนหน้านี้อย่างเข้มข้น

การช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอีกด้าน คือการตั้งเงินกองทุนตามพระราชบัญญัติพัฒนาส่งเสริมฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เป็นกองทุนที่สนับสนุนให้สถานประกอบการกู้ยืมเพื่อไปพัฒนาทักษะแรงงานของตน

“หลายท่านอาจสงสัยว่าสถานประกอบการอาจมีเงินอยู่แล้ว จำเป็นต้องกู้ด้วยหรือ? ผมเรียนว่าสำหรับสถานประกอบการขนาดใหญ่คงไม่น่าเป็นห่วง ฝ่ายที่น่าห่วงคือ SMEs ไทย เพราะกลุ่มนี้ยังมีปัญหาเรื่องทักษะกำลังแรงงาน และยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงมีเงินกองทุนนี้สำหรับสถานประกอบการขนาดเล็กถึงกลางได้มีโอกาสสร้างทักษะให้แก่คนในธุรกิจตนเอง”

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าไปมีส่วนช่วยดูแล คือกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่สามารถเรียนต่อ แต่ก็ไม่สามารถเข้าทำงานได้เพราะอายุต่ำกว่าเกณฑ์

“เด็กยากจนส่วนหนึ่ง กว่าจะเข้าทำงานได้ก็ต้องมีอายุ 18 ปีตามกฎหมาย ระหว่างนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้เข้าไปช่วยสอนทักษะอาชีพให้บางส่วน เพราะเราทิ้งคนเหล่านี้ไว้ข้างหลังไม่ได้ หลายคนผ่านการฝึกอาชีพจากกรมไป เช่น ทักษะการนวด การทำขนม เขาก็ได้เข้าทำงานเมื่ออายุถึงเกณฑ์” สง่าเล่า และเสริมว่าทักษะบางอย่าง เช่น ทอผ้า ทำอาหาร อาจจะฟังดูล้าสมัย แต่ในความเป็นจริง ทักษะเหล่านี้ยังคงสร้างรายได้ให้แก่บางชุมชนอยู่

“บางแห่งยังคงต้องการคนมีทักษะง่ายๆ อยู่ อย่างในชุมชนชาวม้ง เมื่อเราเข้าไปช่วยเหลือ สอนให้เขาตัดเย็บเสื้อผ้าเป็น เขาก็สามารถผลิตสินค้าเฉพาะตัวผสานกับภูมิปัญญาของเขา ส่งออกต่างประเทศมีรายได้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น สง่าเองก็ยอมรับว่า “กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็จำเป็นต้องหาทักษะใหม่ๆ ที่สอดรับกับโลกยุคใหม่ เช่น การเชื่อมเครื่องจักร ซ่อมแซมหุ่นยนต์ ดูแลเครื่องจักรใต้น้ำ เป็นต้น”

และอีกหนึ่งข้อเสนอจาก ภัทระ คำพิทักษ์ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เกี่ยวกับการฝึกทักษะแรงงานในอนาคตที่ควรคิดต่อคือ เรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในการฝึกของแรงงาน

“ผมคิดว่าในอนาคตจะต้องคิดต่อว่าใครจ่ายต้นทุนในการฝึกทักษะแรงงาน อย่างนายจ้าง เขาจะยอมให้ลูกจ้างไม่มาทำงาน แล้วไปฝึกสักหนึ่งอาทิตย์โดยที่เขายังจ่ายเงินให้อยู่ไหม หรือถ้านายจ้างไม่จ่าย แต่ให้แรงงานลาไปฝึกทักษะได้ ลูกจ้างจะไปจริงหรือไม่”

ภัทระ คำพิทักษ์

“อันที่จริงการช่วยฝึกฝีมือให้แรงงานพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือ ในเมื่อการส่งคนเข้ามามีต้นทุน ทั้งค่าธรรมเนียมฝึก ค่าเดินทาง ค่าข้าว แล้วยังมีค่าเสียโอกาสที่จะมีรายได้ของลูกจ้าง หรือค่าเสียโอกาสที่นายจ้างจะใช้ลูกจ้างทำงานหลังจ่ายเงินไปแล้ว ถ้าแรงงานต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่าย ก็คงไม่มีใครอยากมา หรือถ้าจะมาก็คงเป็นตอนถูกเลิกจ้างแล้ว เพราะตอนนั้นคงว่าง ต้องมาสร้างทักษะใหม่ให้สอดรับกับตลาดแรงงาน เพื่อจะได้หางานใหม่

“แม้ว่าเราจะมีบริการฝึกให้พร้อม แต่บริการอย่างเดียวคงไม่พอ เราต้องแจงรายจ่ายในการฝึก ทั้งรายจ่ายจริงและรายจ่าย นี่เป็นเงื่อนไขแฝงที่เราต้องฝ่าไปให้ได้ มิฉะนั้นแผนที่วางไว้คงไม่ประสบความสำเร็จ” ภัทระทิ้งท้าย

# 3

วางแผนทักษะสำหรับแรงงานนอกระบบ

และแรงงานในอนาคต

การฝึกทักษะแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานนั้นเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมแรงงานในระบบ แต่สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในภายภาคหน้าอย่างนักเรียนยากจน ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือความปั่นป่วนที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีตั้งแต่วันนี้เช่นเดียวกัน

การสร้างทักษะใหม่เพื่อให้คนไม่ตกงาน เป็นความคิดที่มองแรงงานในระบบ แต่สำหรับกลุ่มคนนอกระบบ เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขายก๋วยเตี๋ยว เราต้องตั้งคำถามให้ถูกว่าคนเหล่านี้จะถูก disrupt จากอะไร” ดร.ธนานนท์ บัวทอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนคิด

“สิ่งที่ควรคุยกับแรงงานนอกระบบ คือรูปแบบการทำงานแบบ Gig Economy และเทรนด์ที่คนกำลังเข้าสู่ความเป็นแพลตฟอร์มมากขึ้น เขาต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีให้ทัน รวมถึงปรับ mindset ตัวเอง เปิดรับมุมมองอาชีพใหม่ๆ เพราะความรู้เดิมๆ วิถีชีวิตแบบเดิมๆ อาจใช้ได้ไม่ได้แล้ว ยกตัวอย่างปัจจุบัน เราจะเห็นคนคนหนึ่งมีได้หลายอาชีพ เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขับ grab ส่งเอกสารด้วย เราต้องให้เขาได้เห็นว่าโลกมันกว้างกว่าเดิม และมีโอกาสทางอาชีพที่หลากหลายจากเทคโนโลยีมากกว่าเดิม

“ด้านคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต อย่างเด็กยากจน นอกจากเราจะช่วยส่งเสริมเรื่องทุนทรัพย์ ก็ควรจะต้องไกด์เขาว่า งานแบบไหนที่คนกำลังขาดแคลน ควรจะมีทักษะแบบไหน แนะนำให้เด็กเหล่านี้เข้ารับการศึกษาที่ตรงสาย จบไปจะได้มีโอกาสประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้ครอบครัว” ดร.ธนานนท์กล่าว

ด้าน ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็เห็นด้วยในประเด็นเรื่องส่งเสริมการเลือกเรียนของเด็กยากจน

“เด็กยากจนอาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่กำลังจะพ้นจากประตูโรงเรียนและไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปทำอะไรต่อ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มรอเข้าประตูนิคมอุตสาหกรรม อาจเป็นได้ทั้งเด็กที่ไม่มีเงินเรียนต่อ กับเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษามาทำงาน บางคนพยายามโกงอายุเพื่อให้ได้ทำงานเสียด้วยซ้ำ เด็กเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่เราต้องใส่ใจ

“ปัญหาในขณะนี้คือ เราขาดการแนะนำอาชีพอย่างจริงจังในโรงเรียน มีเพียงครูแนะแนวเบื้องต้น ไม่ได้แนะนำเป็นรายบุคคลว่าเด็กคนนี้เหมาะกับอาชีพอะไร ฉะนั้นเด็กจะไม่รู้ทิศทางของตัวเอง ถ้าเราช่วยชี้ให้เขาเห็นว่าตนเหมาะกับอะไร สามารถเข้าไปอยู่ในภาคส่วนไหน หรืออย่างน้อยสามารถมีตำแหน่งอะไรในอุตสาหกรรม ก็จะทำให้มีเป้าหมายในการฝึกฝนทักษะอาชีพ เลือกเรียนได้ตรงสายชัดเจน พัฒนาศักยภาพตนเองได้ดีขึ้น” ดร.มนทกานต์เสนอ

# 4

Mindset คือพื้นฐานสำคัญที่สุด

ของการพัฒนาตนเองให้เท่าทันโลก

การมีทักษะวิชาชีพสอดคล้องกับยุคสมัยอาจทำให้คนรอดพ้นจากการตกงานชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อมองไปข้างหน้า การเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เคยหยุดนิ่ง ย่อมต้องมีวิธีคิด หรือ Mindset ที่พร้อมปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วย

ในฐานะที่ จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist และ VP of Data Innovation Lab   บริษัทเซอร์ทิส คลุกคลีอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีมานาน เขามองว่าทุกวันนี้นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และชาญฉลาดมากขึ้นทุกที

“เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราเริ่มต้นคุยกันเรื่อง Data Science หรือการนำข้อมูลมาทำให้เกิดประโยชน์ กลายเป็นการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ จากเครื่องมือด้านสถิติ เป็น AI เป็น Machine Learning ซึ่งมีอัลกอริทึมเรียนรู้จากชุดข้อมูลและสรุปหาอินไซด์บางอย่าง จนทุกวันนี้ อีกเทรนด์หนึ่งซึ่งกำลังมาแรง คือ Automatic Machine Learning (Auto ML) ที่สามารถใส่ข้อมูลลงไปให้โปรแกรม generate ออกมาเป็นโมเดล พร้อมเลือกชุดข้อมูลที่ดีที่สุดให้คุณใช้งาน

“ต้องบอกว่าพัฒนาการของนวัตกรรมเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก 4 ปีที่ผ่านมา ทักษะที่ผมเคยใช้ทำงานด้าน Data Science เองก็หมดอายุไปแล้ว กลายเป็นความรู้พื้นฐาน ก.ไก่ ข.ไข่ ของการทำงานสมัยนี้

ตอนนี้เราได้เห็น Auto ML ซึ่งเกือบจะมาแทนที่ Data Scientist แล้ว เพราะมันสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เริ่มเป็น Generative Technology ที่สามารถเขียนโค้ด สร้างภาพ สร้างสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่ Responsive Technology ที่เราต้องใส่ข้อมูลให้มันประมวลผล และในอนาคต มันคิดว่าความก้าวหน้าต่างๆ จะใช้เวลาสั้นลงกว่านี้”

จากความก้าวหน้าที่ผ่านมา ทำให้จรัลคิดว่าการถอดบทเรียนจากเทคโนโลยี และสอนทักษะใหม่แก่คนอาจไม่ทันการณ์ ในทางกลับกัน การสร้าง Mindset รักการเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และทักษะที่สำคัญแทบทุกยุคสมัยอย่าง Critical Thinking น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้แรงงานอยู่รอดได้อย่างมั่นคง

“จากประสบการณ์ที่ผมได้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ ผมมองว่าสิ่งที่เราควรจะทำคือ การสร้างทักษะ Critical Thinking ให้แก่เด็ก ฝึกเด็กตั้งคำถามให้เป็น เพราะถ้าตั้งคำถามไม่เป็นจะทำให้เขาขาดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เดี๋ยวนี้เรามีการสร้าง Open Innovation เป็นแหล่งความรู้ สร้าง Community of Learning หรือมี   Crowdsourcing ที่เปิดกว้างมากมาย ความรู้จึงไม่ได้จำกัดอยู่ในวงผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียว การฝึกให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงมีทักษะภาษาอังกฤษสำหรับเข้าถึงแหล่งข้อมูลใหม่ได้เองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“นอกจากนี้ เราควรต้องมี Mindset แบบ Growth mindset คือเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้และกล้าลงมือทำ หรือไม่ ก็ต้องมี Mindset เรื่องความถึก ความอดทน ต่อให้รู้น้อย แต่ขยัน คิดว่าเราทำได้จึงทำ ถ้าสร้าง Mindset เหล่านี้ได้ เดี๋ยวทักษะเฉพาะทาง (specific skill) จะตามมาเอง

“หากเราทำให้คนด้อยโอกาส ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือแรงงานที่ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ มีเครื่องมือที่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ มี Mindset ที่ดี แบบนี้ภาระจะไม่ตกอยู่ที่รัฐจนเกินไป ไม่ต้องคอยพึ่งพารัฐหรือใครในการช่วยสร้างอาชีพให้ตัวเอง” จรัลตบท้าย

# 5

เอกชนลงมือช่วยชุมชน

อีกหนึ่งทางรอดจากปรากฏการณ์

Technology Disruption

ไม่เพียงภาครัฐ หรือองค์กรอิสระเท่านั้นที่สามารถยื่นมือช่วยเหลือแรงงานให้รอดพ้นจากผลกระทบของ Technology Disruption ในฝั่งตัวแทนภาคเอกชน อย่าง พรเทพ เจริญผลจันทร์ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ก็แสดงให้เห็นว่า นายจ้างสามารถช่วยเหลือแรงงานและชุมชนได้เช่นกัน

“ในฐานะตัวแทนจากภาคเอกชน เรายอมรับว่าบริษัทและโรงงานก็จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยดำเนินการ” พรเทพกล่าว “แต่เราเองก็คิดด้วยเช่นกันว่า จะออกแบบทักษะใหม่ๆ อย่างไรให้กับแรงงานของเรา ในเมื่อเราสามารถพยากรณ์ได้ว่าต้องนำเครื่องจักรเข้ามาเท่าไร ต้องควบคุม และดูแลรักษาอย่างไรบ้าง ดังนั้น เราจะช่วยเพิ่มทักษะดังกล่าวให้กับแรงงาน เพื่อให้เขาได้ปรับตัว และทำงานต่อไปได้”

นอกจากแรงงานใต้สังกัดของตน พรเทพยังเพิ่มเติมว่า นายจ้างหรือนายทุนยังสามารถช่วยเหลือคนตกงานจากปรากฏการณ์ Technology Disruption ในชุมชนใกล้เคียงโรงงานได้เช่นกัน

“ ถ้าตกงานกลับมา เราอาจจะไม่มีตำแหน่งว่างในโรงงานให้ก็จริง แต่เราสามารถสนับสนุน รับซื้อสินค้า วัตถุดิบ งานฝีมือจากเขามาได้ ตัวอย่างเช่น มีบางคนตกงาน กลับมาปลูกข้าวโพดที่บ้าน เราก็รับซื้อข้าวโพดของเขามาเลี้ยงสัตว์ ใครปลูกพืชผัก ก็รับซื้อมาให้พนักงานของเรากิน บางที่เรายังให้ชุมชนช่วยจัดทำเครื่องอุปโภคบริโภคจากงานฝีมือของเขา เช่น ทำไม้กวาดแล้วมาส่งให้เราใช้ หรือไม่ ก็ช่วยหาลู่ทางให้สินค้าของชุมชนได้ส่งออกผ่านเครือข่ายของเรา และช่วยสอนเขาเรื่องการออม การขยายกิจการ ช่วยทำธนาคารพัฒนาชุมชน”

พรเทพชี้ให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่การเน้นเอาตัวรอดใต้บริบทความเปลี่ยนแปลง สอนทักษะแค่ให้คนในสังกัดไม่ตกงาน แต่เป็นการช่วยเหลือให้ทุกฝ่ายปรับตัวไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ลูกจ้างของตน ไปจนถึงชุมชนแวดล้อมโรงงาน

“ทุกวันนี้เมื่อเราต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะ เช่น ช่างดูแลแอร์ เครื่องยนต์ เราก็จะบอกให้คนชุมชนได้รู้ และถามว่าใครพอมีทักษะส่วนไหนหรือไม่ ขาดแคลนหรือสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง ทำแบบนี้ชุมชนก็จะได้รู้ความต้องการและปรับตัวตามทัน

“ถ้าเราทำให้คนในชุมชนมีทักษะที่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมในท้องถิ่นได้ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนขึ้น”

มองปัญหาในปรากฏการณ์ Technology Disruption ให้ครอบคลุมทุกด้าน – ทบทวนทักษะที่เคยมี และวางแผนทักษะแห่งอนาคต ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ – เติมด้วย Mindset แห่งการเรียนรู้ — พร้อมตระหนักเรื่องความยั่งยืนในระดับชุมชน

ทั้งหมดคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราพร้อมเดินหน้ารับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีต่อไป

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world