การผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับเครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือ “เด็กนอกระบบการศึกษา” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนับสนุนงานวิชาการ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำงานร่วมกัน จึงเป็นที่มาของ เวที “ปันกันเล่า ปันกันฟัง” ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมี “คลองเตยดีจัง” ชุมชนโรงหมูเป็นเจ้าภาพในครั้งแรก ก่อนจะเดินสายไปพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สภาพพื้นที่และรับฟังปัญหาจากปากเด็กและคนทำงาน เพื่อกระชับความร่วมมือสร้างนวัตกรรมการช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาในระดับเชิงพื้นที่
กระเทาะปัญหา-ทางออกช่วยเด็กคลองเตย
“ชุมชนโรงหมู” คือพื้นที่การศึกษาการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ดนตรีและศิลปะกลางชุมชนคลองเตย “ครูแอ๋ม” ศิริพร พรมวงศ์ ครูอาสา “คลองเตยดีจัง” ครูข้างถนนที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนมากกว่า 8 ปี เล่าที่มาของ “โรงเล่น” ของชุมชนโรงหมูให้เราฟังว่า เริ่มต้นจากการนำ “ศิลปะ” มาจูงใจเข้าหาเด็กๆ ที่มีปัญหายาเสพติด ชักชวนกันมาช่วยทำความสะอาด “โรงหมู” ที่เป็นโรงฆ่าสัตว์ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นและสกปรก ครูแอ๋มเล่าให้ฟังว่าการทำงานกับเด็กต้องอดทน ใจเย็น และขยันทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะการจะทำให้เด็กคนนึงเปิดใจ จนกระทั่งกลายเป็น “พี่เลี้ยง” ดูแลเด็กคนอื่นได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 –7 ปี เพื่อให้เด็กเข้าใจยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ครูแอ๋มใช้กิจกรรม “ดนตรี” และ “ศิลปะ” ทำให้เด็กๆ เข้ามาร่วมจนเกินความใกล้ชิดกับเด็กๆ มากขึ้น ครูแอ๋มพบว่าปัญหาของเด็กแต่ละคนล้วนมีความต้องการคล้ายๆ กัน นั่นคือ “ทุนการศึกษา” เด็กส่วนใหญ่มีปัญหาด้านรายได้ในครอบครัว น้อยคนนักที่จะได้เรียนจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ดีสุดในชุมชน คือการเรียนจบชั้นมัธยมปลาย ครูแอ๋มจึงพยายามออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการหาแหล่งทุนเพื่อมาช่วยเหลือเด็ก 4 กลุ่ม คือ 1.เด็กเล็ก 2.เด็กประถมต้น 3.เด็กมัธยมต้น และ 4.เด็กมัธยมปลาย
การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บนข้อจำกัดความแตกต่างของช่วงวัยครูแอ๋มเลยเลือกที่จะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็กๆ ด้วยการมอบ “ตำแหน่ง” และ “หน้าที่” เป็น “พี่เลี้ยง” ให้คอยดูแลน้องๆ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยม เพราะเด็กๆ ภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง แม้แต่เด็กที่เคยมีปัญหายังกลับใจมาร่วมตั้งวงดนตรีและร่วมสอนศิลปะให้น้องๆ ในชุมชนแห่งนี้
วิธีระดมทุนในการช่วยเหลือเด็กๆ ในชุมชนโรงหมูของ “คลองเตยดีจัง” ในช่วงแรกๆ คือการใช้วิธี Crowdfunding ผ่านทางโซเซียลมีเดียแบบรายกรณี โดยให้เด็กที่มีความตั้งใจดี มีความพยายามบอกเล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองและแรงบันดาลใจที่อยากได้ทุนการศึกษา โดยอัดเป็นคลิปวีดีโอเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมาก เด็กเหล่านี้ได้รับทุนการศึกษา เมื่อเรียนจบยังกลับมาเป็น ครูอาสาในชุมชนสลัมคลองเตย เพราะเขาอยากแบ่งปันช่วยเหลือน้องๆ ให้เข้าถึงทุนการศึกษาเหมือนพวกเขา
สิ่งสำคัญของการเป็นครูอาสาไม่ใช่เพียงหาทุนให้เด็กเท่านั้น ต้องช่วย “วางแผนชีวิต” ให้กับเขาด้วย เพราะเด็กแต่ละคนมีสภาพปัญหาครอบครัวแตกต่างกัน ต้นทุนความต้องการการศึกษาย่อมแตกต่างกันไป: ครูแอ๋มกล่าว
“ครูข้างถนน” กลไกเชิงพื้นที่ช่วย “กลุ่มเสี่ยง” หลุดนอกระบบ
“พี่ไพ” ประไพ สานุสันต์ ผู้จัดการฝ่ายบริการสังคม มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล หรือ HDF MERCY CENTRE ศูนย์ช่วยเหลือเด็กในชุมชนแออัด “พี่ไพ” ยังเป็นประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย เล่าถึงปัญหาใหญ่ของชุมชนคลองเตย 36 ที่ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา คือความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยจากปัญหาไล่รื้อและปัญหาปากท้อง แต่ละครอบครัวต้องปากกัดตีนถีบเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว จนพ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูกจนทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะ “กลุ่มเสี่ยง” เช่น 1.กลุ่มเด็กติดยาเสพติด 2.กลุ่มเด็กหนีออกจากบ้านไปอยู่ข้างถนนหรือใต้สะพาน 3.กลุ่มเด็กไม่ได้รับการศึกษา และ 4.กลุ่มเด็กที่ไม่มีครอบครัวญาติพี่น้องดูแล
นำมาสู่การสร้าง “ครูข้างถนน” เดินเท้าเข้าไปหาเด็กแบบประชิดตัว ตามข้างถนน หรือใต้สะพาน ช่วยพวกเขาให้มีที่พัก มีข้าวกิน และมีการศึกษา ขณะที่ “ครูข้างถนน” ล้วนเป็นคนในชุมชนที่ประสบปัญหากับตัวเอง ดังนั้นหากได้รับการสนับสนุนด้านเครือข่ายและทักษะวิชาการ ย่อมทำให้การทำงานช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาเข้มแข็งขึ้น
นอกจากนี้ในวงเสวนายังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถึงสภาพปัญหาเด็กนอกระบบ ตั้งแต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ปัญหาเด็กนอกระบบก็รุนแรงมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้ทุนสนับสนุนจากภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหดหาย อาสาสมัครและเครือข่ายคนทำงานเริ่มอ่อนแอ ดังนั้นทุนการศึกษาเด็กนอกระบบของ กสศ. จึงเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาเด็กหลุดนอกระบบ เพราะแม้ว่าเด็กจะสามารถเข้าถึงการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แต่ทุน กสศ. จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม “การพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต” เพราะเด็กหรือพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนต้องการให้ลูกฝึก “ทักษะอาชีพ” มากกว่าเรียน กศน. เด็กนอกระบบส่วนใหญ่อายุมาก ทำให้รู้สึกเขินอายหากกลับสู่การเรียนภาคบังคับ เด็กบางคนมีประวัติด่างพร้อย มีปัญหาครอบครัว การสมัครเข้าทำงานจึงยากลำบาก หรือบางคนมีปัญหาโรคประจำตัว (ด้านจิตเวช) จากปัญหาใช้สารเสพติดเกินขนาดทำให้ไม่สามารถเรียนตามระบบ กศน. ได้จบ
ตัวอย่างแนวทางการช่วยเหลือของเครือข่ายเด็กนอกระบบแห่งหนึ่งในพื้นที่ กทม. ได้เสนอการ “ฝึกทักษะอาชีพ” เป็นทางออกด้วยการ สอนชงกาแฟสด กาแฟโบราณ และ เบเกอรี่ ฯลฯ โดยเปิดเป็น “ร้านการแฟต้นแบบ” ที่บริหารจัดการทุกอย่างโดยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เปิดโอกาสได้เรียนรู้การเปิดร้านกาแฟเป็นอย่างไร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในร้านได้รับบริจาคจนสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาถูก ขณะที่ครูพี่เลี้ยงจะคอยดูแลและสอดแทรกทักษะชีวิตสอนให้เด็กรู้จักแบ่งปันในสิ่งที่ตัวเองได้รับและส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อนๆ น้องๆ ด้วย
กิจกรรมบำบัดใจคู่ขนานให้ทุน
นอกจากบนเวที “ปันกันเล่า ปันกันฟัง” นี้ยังมีการเสนอให้จัด “กิจกรรมบำบัดจิตใจ” ให้แก่ ผู้ดูแลเด็กและเด็กที่มีปัญหา โดยศูนย์ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแห่งหนึ่งสะท้อนปัญหาว่า จำนวนเยาวชนในการดูแลเพิ่มมากขึ้น จาก 100 เป็น 198 คน เกิดจากปัญหาตกงานและปัญหาครอบครัว ทำให้หันไปใช้ยาเสพติดเป็นทางออก จึงเข้ามาขอรับการช่วยเหลือ
สิ่งที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต้องการ คือการเยียวยาทางจิตใจ เพราะจิตใจบอบช้ำจากการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ จึงไม่เห็นคุณค่าในตัวเองชอบดูถูกตัวเอง ไม่สนใจการศึกษา หรือการพัฒนาทักษะอาชีพ เปรียบเสมือนกับการให้เงิน (ทุนการศึกษา) เด็ก 200 บาท แต่เด็กเป็นหนี้(ปัญหาทางใจ) 2 แสนบาท เด็กจึงไม่เห็นค่าของทุนการศึกษา ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังคนและเวลาที่มีอย่างจำกัด เพราะต้องดูแลเด็กเป็นจำนวนมาก จนบางครั้งเกิดปัญหาอย่างเด็กบางคนที่มีปัญหาทางจิตข่มขู่คุกคามเจ้าหน้าที่จากความไม่พอใจที่ตัวเองไม่ได้รับการดูแลเยียวยาทางจิตใจ
ในระยะ 10 เดือนของโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานคร บนฐานภาคประชาสังคม สิ่งที่ทาง “อนรรฆ พิทักษ์ธานิน” ตั้งเป้าหมายในฐานะหัวหน้าโครงการฯ คือสะท้อนปัญหาจากเครือข่ายเด็กนอกระบบในพื้นที่ กทม. เพื่อนำไปสู่การยกระดับเป็น “องค์ความรู้” และ “นวัตกรรมการให้บริการการศึกษา” ในเชิงนโยบายที่จะเข้ามาแก้ปัญหา “กลุ่มเปราะบาง” หรือ “กลุ่มเสี่ยง” ผ่านการทำงานกับภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่มีประสบการณ์และเผชิญปัญหาเชิงพื้นที่ สามารถส่งต่อความช่วยเหลือปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาจิตใจ ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกัน
“นิสา แก้วแกมทอง” รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. ยังระบุว่าไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ กทม. เท่านั้นที่ กสศ. ผนึกกำลังเข้าช่วยเหลือเด็กนอกระบบ ในปี 2563 กสศ. ได้ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันทำงานค้นหาและสำรวจเด็กนอกระบบ 65 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นการทำงานที่ต่อเนื่องจากปีก่อน 20 จังหวัด
ความพิเศษในปีนี้ คือเป็นการผนึกพลังร่วมกันระหว่าง กสศ. กับเครือข่ายเชิงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือ “กลุ่มเสี่ยง” และ “กลุ่มเปราะบาง” ตั้งแต่อายุ 0–25 ปี ให้เข้าถึงทุนการศึกษาที่ไม่เฉพาะการศึกษาภาคปกติ แต่สามารถฝึกทักษะอาชีพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ด้วยการ “Reskill” และ “Upskill” ถือเป็นสนับสนุนทุนการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ “ในห้องเรียน” และ “นอกห้องเรียน” เป็นไปตามความต้องการของเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา
เวที “ปันกันเล่า ปันกันฟัง” ที่จะจัดขึ้นครั้งต่อๆ ไป นับเป็นมิติใหม่ในการทำงานเชิงพื้นที่ระหว่าง กสศ. กับ เครือข่ายภาคประชาสังคม ที่จะเข้ามาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อมาช่วยกันจัดกระบวนการเรียนรู้และส่งต่อความช่วยเหลือแก่เด็กนอกระบบการศึกษานับหมื่นคนให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาจาก กสศ.
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค